วันที่ื 17 ต.ค. 2565 ที่ลานกิจกรรมใต้อาคารศิลาบาตร มหาวิทยาลัยรามคำแหง เครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย จัดงานเสวนา ภายใต้หัวขัอ “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ความฝันที่ไม่ไกลเกินเอื้อม”
โดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ iLaw เริ่มต้นกล่าวถึงความคืบหน้าความพยายามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ว่าหลังจากถูกเสนอในสภาฯให้มีการแก้ไขแล้วกว่า 25 ร่าง 4 ยก ตอนนี้สามารถแก้ไขได้แล้วใน 1 ประเด็น คือ เรื่องระบบเลือกตั้ง ซึ่งก็ยังลุ่มๆ ดอนๆ อย่างไรก็ดี การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาระยะสั้นเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงคือ การมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนในระยะยาว
ด้าน จตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำคณะหลอมรวมประชาชน กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นการส่งไม้ต่อให้กับการฉีกรัฐธรรมนูญ และไม่มีใครสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ตามระบบปกติ ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นฉบับประชาชนอย่างแท้จริงจึงสำคัญมาก
“ถามว่า 3 ป. ไม่รู้หรือว่าเลือกตั้งแล้วจะแพ้แบบถล่มทลาย เพราะนักการเมืองสีเทาๆ ในพรรคที่ตัวเองกวาดต้อนมา ทั้ง 3 ป.ยืนสู้บนกระดานแห่งอำนาจ ไม่มีทางยินยอมปล่อยให้มีการเลือกตั้งแน่นอน จึงเล่นของง่ายที่สุดคือยอมให้มีการแก้ไขเรื่องเดียว คือกฎหมายเลือกตั้ง แต่เป็นการแก้ไขแบบไม่ครบ” จตุพร กล่าว
ขณะเดียวกัน ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล และประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง ฯ สภาผู้แทนราษฏร กล่าวเสริมว่า ในช่วงเวลาใกล้เลือกตั้งเช่นนี้ อำนาจกำลังกลับคืนไปยังประชาชน ดังนั้น ในการที่จะเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ทั้งฉบับจะต้องได้รับฉันทามติจากประชาชน จึงจำเป็นจะต้องออกมารณรงค์เรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้มาก
ด้าน พริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบาย พรรคก้าวไกล กล่าวเพิ่มเติมถึง “#RESETประเทศไทย เลือกตั้งใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่” แคมเปญรณรงค์ที่ตนเป็นผู้ริเริ่ม โดยอาศัยช่องทางตาม พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ 2564 ที่ให้ประชาชนอย่างน้อย 50,000 คนร่วมกันเข้าชื่อเสนอให้มีการจัดทำประชามติเกี่ยวกับการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ยื่นตรงไปที่ ครม. ได้ พร้อมยก 5 เหตุผลเชิญชวนให้ร่วมลงชื่อ ว่า
1. เป็นหนทางที่จะนำพาประเทศออกจากวิกฤตทางการเมืองและไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้จริง โดยไม่ต้องง้อเสียงเห็นชอบจาก ส.ว.
2. เป็นแนวทางที่รัฐบาลไม่มีเหตุใดที่จะปฏิเสธ เพราะการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เป็นสิ่งที่ ส.ส.รัฐบาล และ ส.ว. เคยสนับสนุน จากการให้ความเห็นชอบหลักการให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผ่าน ส.ส.ร. เมื่อเดือน พ.ย. 2563 อีกทั้งการจัดประชามติตามที่เราเสนอ ก็เป็นไปตามความเห็นของ ส.ส.รัฐบาล และ ส.ว. เอง ที่เคยอ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อตีความว่าต้องมีการจัดทำประชามติก่อนเสนอเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เข้าสู่สภาในขั้นรับหลักการ
3. เป็นการทวงถามและเรียกความรับผิดชอบโดยตรงจาก นายกฯ และ ครม. ว่าจริงใจแค่ไหนกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จากที่เคยประกาศในปีแรกที่รับตำแหน่งนายกฯ ว่าเป็น 1 ใน 12 นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล
4. เป็นการเพิ่มอำนาจให้กับประชาชนโดยตรง เพราะหากมีการจัดทำประชามติในวันเดียวกับวันเลือกตั้ง และประชาชนเห็นชอบให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่ว่ารัฐบาลหลังจากการเลือกตั้งจะเป็นใคร ก็ต้องดำเนินการจัดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามคำสั่งของประชาชนที่แสดงออกโดยตรงผ่านการลงคะแนนเสียงในประชามติ
5. เป็นการช่วยประหยัดงบประมาณและทรัพยากรของประเทศ เพราะจะทำให้เราจัดการเลือกตั้งและจัดประชามติในวันเดียวกันได้เลย
ขณะที่ ผศ.ดร.มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง อาจารย์ประจำสาขาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เห็นด้วยว่าภารกิจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สำเร็จลุล่วงนั้น จำเป็นต้องได้รับฉันทานุมัติจากประชาชน ซึ่งพรรคการเมืองหลายพรรคไม่ค่อยพูดถึงเรื่องนี้สักเท่าไหร่ ดังนั้น หากจะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนไม่ไกลเกินเอื้อม พรรคการเมืองต้องกล้าที่จะประกาศชัดเจนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ด้าน มายด์ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล นักกิจกรรมทางการเมือง มองว่า การเข้าชื่อแก้ไขธรรมนูญจะได้รับประสิทธิผลต้องทำควบคู่ไปกับภาคประชาชน หมายถึงเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจถึงความสำคัญของรัฐธรรมนูญผ่านการพูดคุยกันในสังคมให้เกิดการตระหนักรู้ ไม่ใช่เพียงผ่านการจัดหรือเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองอย่างเดียว เมื่อภาคประชาชนเข้าใจถึงความสำคัญของรัฐธรรมนูญแล้ว ก็จะเป็นการหนุนเสริมให้โอกาสในการเข้าชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญมีแนวโน้มประสบความสำเร็จสูงขึ้น