ไม่พบผลการค้นหา
ภาษาเป็นเครื่องมือสื่อสารที่สำคัญมากสำหรับการประท้วง เมื่อป้ายประท้วงและเสียงตะโกนในขบวนประท้วงที่ฮ่องกงล้วนเป็นภาษาจีนกว้างตุ้ง นักข่าวต่างประเทศก็ต้องพยายามจับคำสำคัญๆ ออกมาส่งข่าวให้ได้

เมื่อปี 2014 ฉันได้รับมอบหมายให้ไปทำข่าวในต่างประเทศครั้งแรก คือการประท้วง Occupy Central ที่ฮ่องกง ซึ่งต่อมาได้เรียกกันว่า “การปฏิวัติร่ม” โดยพี่ในโต๊ะทุกคนให้กำลังใจว่า “โอ๊ย สบายอยู่แล้ว คนฮ่องกงพูดอังกฤษกันได้ทั้งนั้นแหละ” พอไปถึงจริงๆ โอ้โห ก็ไม่ใช่นะคะ กว่าจะหาคนที่พูดอังกฤษได้เป็นเรื่องเป็นราวแบบจะอธิบายว่าประท้วงอะไรกันนี่ก็นานนะ ไม่ว่าจะคนรุ่นเก่าหรือรุ่นใหม่ เดชะบุญยังพออ่านภาษาจีนออกบ้าง

ถึงแม้กลับไปฮ่องกงเพื่อทำข่าวประท้วงรอบนี้ ก็มีคนพูดอังกฤษได้เยอะขึ้นมาก แต่โดยทั่วไปแล้ว ภาษากวางตุ้งก็เป็นภาษาที่ผู้ชุมนุมใช้พูดใช้เขียนป้ายประท้วงกันอยู่ดี เลยก็อยากมาแชร์คำศัพท์น่ารู้แค่ไม่กี่คำที่จะทำให้การตามข่าวประท้วงฮ่องกงสนุกขึ้น


1) 反送中 (ฟานซงจง)

คำแรกที่ควรรู้ก็คือแคมเปญหลักในการประท้วงฮ่องกงรอบนี้ก็คือ 反 (ฟาน) แปลว่าต่อต้าน, 送 (ซง) แปลว่า ส่งกลับ, 中 (จง) แปลว่า จีนแผ่นดินใหญ่ รวมกันคือ ต่อต้านการส่งตัวไปจีนแผ่นดินใหญ่ เนื่องจากแคร์รี หล่ำ ผู้ว่าการเขตบริหารพิเศษฮ่องกงต้องการเร่งออกกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปใหญ่จีนแผ่นดินใหญ่

ชาวฮ่องกงจำนวนมากไม่พอใจอย่างมากที่รัฐบาลฮ่องกงพยายามผ่านกฎหมายนี้ เพราะกฎหมายนี้อาจกลายเป็นเครื่องมือในการปราบปรามคนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจีน ถือเป็นการแทรกแซงระบบยุติธรรมของฮ่องกงที่มีความเป็นอิสระ หากจะมีข้อตกลงส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับประเทศอะไรก็จะพิจารณาว่าประเทศนั้นๆ มีระบบยุติธรรมที่โปร่งใสดีและมีระดับสิทธิมนุษยชนมากแค่ไหน ซึ่งจีนแผ่นดินใหญ่สอบตกทั้ง 2 ด้าน

แอนโทนี ดาพิราน นักเขียนและทนายความในฮ่องกงบอกว่า 反送中 เป็นวลีที่มีความซับซ้อนหลายระดับ ทั้งบอกจุดประสงค์ในการประท้วงด้วย ทั้งตอกย้ำอัตลักษณ์ที่แตกต่างกันระหว่างฮ่องกงกับจีนแผ่นดินใหญ่ อีกทั้งยังมีการเล่นคำพ้องเสียง 送中 (ซงจง) กับคำว่า 送終 (ซงจง) ที่แปลว่า ร่ำลาญาติที่กำลังจะตาย (เป็นเหตุผลที่คนจีนไม่ซื้อนาฬิกาให้ใคร เพราะ 送鐘 ที่แปลว่า ส่งนาฬิกา ก็อ่านว่าซงจง) ฉะนั้น ทั้งหมดทั้งมวลของคำว่า ซงจง ก็เหมือนกับแฝงนัยว่า ฮ่องกงกำลังจะตาย



2) Add oil!

เมื่อความรู้ภาษากวางตุ้งเป็นศูนย์ สิ่งที่นักข่าวต่างประเทศทั้งหลายทำเป็นอย่างแรกๆ ก็คือ หาป้ายภาษาอังกฤษก่อนค่ะ (คราวก่อนไปเจอป้ายภาษาไทยด้วยนะ) เพื่อความอยู่รอดและเพื่อให้คนต่างชาติเห็นอะไรที่เข้าใจความหมายบ้าง แต่ภาษาอังกฤษ add oil นี่อ่านแล้วไม่เก็ทเลย แวบแรกก็นึกว่าประท้วงโหดจังแฮะ บอกให้เติมน้ำมัน นึกว่าจะเผากันซะแล้ว

Add oil มาจากคำว่า 加油 ภาษากวางตุ้งอ่านว่า กาเหย่า โดยคำว่า 加 (กา) แปลว่า เพิ่ม เติม ส่วน 油 (เหย่า) แปลว่า น้ำมัน เชื้อเพลิง เป็นสำนวนที่ชาวจีนทั้งหลายใช้กันทั้งแต่จีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง ไต้หวัน คือใครมีรากจีนก็จะรู้สำนวนนี้กัน หากจะแปลเป็นไทยก็คงจะแปลได้ประมาณว่า “สู้ๆ”

เขาว่ากันว่า มีการใช้คำนี้ครั้งแรกเพื่อเชียร์นักแข่งรถที่มาเก๊ากรังด์ปรีซ์ช่วงปี 1960s คือเป็นการเชียร์ให้เหยียบคันเร่ง ซึ่งก็คือการฉีดน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไป ทำให้รถวิ่งเร็วขึ้น หลังจากนั้นชาวจีนก็ใช้สำนวนนี้ในการเชียร์ทุกสิ่ง ทีนี้ชาวฮ่องกงส่วนใหญ่ก็พูดทั้งภาษาจีนกวางตุ้งและอังกฤษ ก็เลยแปลกันออกมาตรงๆ เลยว่า Add oil จ้า

พอปี 2014 ที่มีการปฏิวัติร่ม ชาวฮ่องกงก็เขียนคำว่า Add oil กันอย่างแพร่หลาย คำนี้ก็เลยเป็นที่รู้จักมากขึ้นในกลุ่มคนที่ไม่ได้พูดภาษาจีน จนปี 2018 พจนานุกรมภาษาอังกฤษของอ็อกซ์ฟอร์ดเพิ่มคำนี้เข้าไปอย่างเป็นทางการ


3) 暴徒 (โปวโถ่ว) 

คำนี้เป็นประเด็นในการชุมนุมครั้งนี้ เป็นคำที่ติดค้างในใจผู้ประท้วงอย่างจริงจัง เพราะหลังจากที่ตำรวจฮ่องกงเขียนในบันทึกการชุมนุมหน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ที่มีการใช้แก๊สน้ำตาปรามปรามเป็นครั้งแรก โดยเรียกผู้ชุมนุมว่าเป็น “โปวโถ่ว” ในข่าวภาษาอังกฤษจะแปลว่า thugs หรือ rioters ส่วนภาษาไทยก็คือ กุ๊ย หรือผู้ก่อจลาจล 

ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่ผู้ชุมนุมไปรวมตัวกันอย่างสงบหน้ารัฐสภา รัฐบาลก็เรียกพวกเขาว่า “โปวโถ่ว” แล้ว แล้วอย่าลืมว่าข้อหาก่อจลาจลนี่มันร้ายแรง มีโทษจำคุกหลายปีนะคะ ผู้ชุมนุมเรียกร้องให้ถอนคำพูดคำนี้มาตลอด แต่ตำรวจและรัฐบาลก็ยังไม่ยอมถอนสักที

ดังนั้น เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ที่ผู้ชุมนุมบุกเข้าไปในรัฐบาล เลยมีคนนำป้ายผ้าไปแขวน มีข้อความว่า “没有暴徒袛有暴君” อ่านว่า เมย์-เหยา-โปวโถ่ว-ไต-เหยา-โปวกวัน แปลว่า ไม่มีผู้ก่อจลาจลแต่มีทรราช เป็นการเล่นคำ 暴徒 (โปวโถ่ว) ที่แปลว่า อันธพาล กับ 暴君 (โปวกวัน) ที่แปลว่าทรราช

คงเดาไม่ยากว่า ทรราชในที่นี้ก็หมายถึง แคร์รี หล่ำ ผู้ว่าการเขตบริหารพิเศษฮ่องกงนั่นเอง เพราะถือว่าเธอหักหลังชาวฮ่องกงด้วยกันเอง ไม่ฟังเสียงของประชาชน ทำร้าย (ปราบปราม) ชาวฮ่องกงด้วยกันเอง เพื่อเอาใจจีนแผ่นดินใหญ่


AFP-ผู้ประท้วงฮ่องกงต้านร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้จีนบุกเข้าไปในอาคารรัฐสภาในวันครบรอบ 22 ปีอังกฤษคืนฮ่องกงให้จีน-5.jpg


4) 老母 (โหลวโหมว)

老母 โหลวโหมว เป็นคำยอดฮิตในการประท้วงครั้งนี้ทั้งในโซเชียลมีเดียและตามพื้นที่ชุมนุม ก่อนหน้านี้ แคร์รี หล่ำเปรียบตัวเองว่าเป็นเหมือนแม่ ถ้าลูกๆ งอแงไร้เหตุผล แม่ก็จะไม่ยอมทำตามคำเรียกร้องของลูก เพราะฉะนั้น คำว่า “แม่” ก็เลยมีหลากหลายอารมณ์มากในการประท้วงครั้งนี้

ต้นเหตุที่คำว่า “แม่” ่ถูกใช้กันเยอะไม่ได้เป็นเพราะผู้ว่าฯ ฮ่องกงหรอก แต่มาจากวลีที่ตำรวจตะโกนใส่ผู้สื่อข่าวที่อยู่ด่านหน้าการปะทะคอยเก็บภาพเหตุการณ์ พอมีคนปล่อยคลิปนี้ลงโซเชียลมีเดียก็กลายเป็นไวรัล วลีเด็ดนั้นก็คือ 記你老母 อ่านว่า เกย์เหลย์โหลวโหมว โดยตัวที่ 2 อ่านว่า เหลย์ หรือ เหนย์ ก็ได้

記 (เกย์) แปลว่า ผู้สื่อข่าว/ นักข่าว ส่วน 你 (เหลย์/เหนย์) เป็นสรรพนามบุรุษที่ 2 เธอ มึง ฯลฯ และ 老母 (โหลวโหมว) คือ แม่ แปลรวมกันได้ว่า “นักข่าวแม่มึงสิ” พอคลิปนี้ไวรัล เดินไปไหนก็จะมีคำว่า แม่มึงๆ เต็มไปหมดเลย

มีนักข่าวฮ่องกงอธิบายไว้ว่า สำหรับคนที่ไม่ได้พูดกวางตุ้ง แปลว่า “นักข่าวแม่มึงสิ” ก็ดูไม่ได้แรงมากขนาดนั้น แต่จริงๆ แล้ว มันคือการบอกว่า “นักข่าว! เย*แม่มึงสิ!” เพราะมันมาจากวลีว่า 𨳒你老母 อ่านว่า ติ๋วเหลย์โหลวโหมว ติ๋วคือ เย* (fuck)

ฮ่องกงเป็นศูนย์ใหญ่ของสำนักข่าวต่างประเทศในเอเชีย เวลามีข่าวในฮ่องกง นักข่าวก็จะเยอะ ทั้งนักข่าวฮ่องกงเอง ทั้งนักข่าวต่างประเทศ สมาคมนักข่าวในฮ่องกงถึงเข้มแข็งมาก เมื่อมีการคุกคามสื่อไม่ว่าจะด้วยวาจาหรือใช้กำลัง ผู้สื่อข่าวในฮ่องกงก็ตอบโต้อย่างแสบๆ คันๆ กลับไป

เมื่อตำรวจตะคอกใส่ว่า “นักข่าวแม่มึงสิ” สมาคมผู้สื่อข่าวฮ่องกงตอบโต้ด้วยการทำโลโก้สมาคมใหม่ออกมาเขียนว่า “สมาคมผู้สื่อข่าวแม่มึงแห่งฮ่องกง” เมื่อผู้สื่อข่าวถูกตำรวจปฏิบัติด้วยความรุนแรง ผู้สื่อข่าวก็สวมหมวกนิรภัยไปฟังแถลงข่าวของสนง.ตำรวจฮ่องกง


วันที่ 14 ก.ค.ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวจึงรวมตัวกันเดินขบวนประท้วงโดยไม่ใช้เสียง แล้วไปร่วมกันชูบัตรประจำตัวสื่อกันหน้าสนง.ตำรวจ เพื่อท้าให้ตำรวจที่ปราบปรามประชาชนติดป้ายชื่อและเปิดเผยตัวตน ประชาชนและผู้สื่อข่าวที่ถูกปฏิบัติรุนแรงจะได้สามารถแจ้งความได้ถูก หลังนักข่าวถูกตำรวจทำร้ายร่างกายระหว่างทำข่าวการประท้วง ทั้งที่มีปลอกแขนสื่อก็แล้ว ชูบัตรประจำตัวสื่อก็แล้ว

 

5) 自由閪 (จีเหย่าไฮ)

ตอนไปสัมภาษณ์สหภาพศิลปินฮ่องกงเกี่ยวกับการประท้วง เขาก็ให้เสื้อมา แต่ไม่กล้าใส่ไปทำข่าว กลัวไม่ได้กลับบ้าน เสื้อนี้เขียนว่า “Freedom-Hi” อ่านภาษากวางตุ้งได้ว่า “จีเหย่าไฮ”


เสื้อ Freedom Hi จีเหย่าไฮ ฮ่องกง Hong Kong


ตรงตัวภาษาจีนเก๋มากด้วยนะ แม้ว่าจะดูเหมือนมีตัวอักษรจีนตัวเดียว จริงๆ แล้วเป็นการเอาตัวจีน 3 ตัวมารวมกันคือ 自由 (จีเหย่า) ที่แปลว่า เสรีภาพ มาแปะไว้กับ 閪 (ไฮ) ที่แปลว่า จิ๋ม (แต่ใช้ระดับภาษาที่ตรงตัวจะต้องแปลให้แรงกว่านี้นิดนึง) แล้วคำว่า ไฮ นี่เปิดพจนานุกรมภาษาจีนกลางแล้วไม่เจอ มีคำอ่าน แต่ไม่มีคำแปล ต้องเปิดพจนานุกรมกวางตุ้งโดยเฉพาะถึงจะเจอ สรุปรวมกันคือ หมีเสรี

เรื่องมันมีอยู่ว่า ตำรวจฮ่องกงตะโกนแดกดันผู้ชุมนุมว่า “พวกมึงเป็นคนยังไงกัน เป็นหีของต่างชาติ หมีแห่งเสรีภาพรึไง?” ถ้าแปลเป็นเซนส์ไทยคงอารมณ์ว่า เรียกร้องเสรีภาพหมีแม่มึงสิ อะไรแบบนี้มั้ง ทีนี้ วิดีโอมันก็เป็นไวรัล ผู้หญิงฮ่องกงก็เลยบอกว่า เออ กูเป็นหมีเสรี หมีของกู ร่างกายของกู กูควบคุมเองได้ นั่นล่ะค่ะ ก็เลยสกรีนมาเป็นเสื้อเก๋ๆ

แม้ว่าภาษากวางตุ้งจะมีความหมายลึกซึ้งและแซ่บมาก (คนฮ่องกงบอกว่าภาษากวางตุ้งแซ่บกว่าภาษาจีนกลางเยอะ) แต่ช่วงหลังมานี้ ชาวฮ่องกงพยายามจะสื่อสารกับชาวจีนแผ่นดินใหญ่มากขึ้น มีการข้ามไปประท้วงฝั่งเกาลูนที่นักท่องเที่ยวจีนแผ่นดินใหญ่ไปช็อปปิ้งกัน หรือประท้วงใกล้กันชายแดนติดกับจีนแผ่นดินใหญ่ โดยใช้ภาษาจีนกลางในการสื่อสาร ใช้ตัวอักษรจีนตัวย่อแบบที่ชาวจีนแผ่นดินใหญ่ใช้กัน และหวังว่าพวกเขาจะได้แรงสนับสนุนจากชาวจีนแผ่นดินใหญ่มากขึ้น