ไม่พบผลการค้นหา
วันที่ 30 ส.ค.ของทุกปีเป็นวันผู้สูญหายสากล ในหนึ่งปีมีคนหายตัวไปจำนวนมาก แต่กฎหมายในหลายประเทศ รวมถึงไทย กลับไม่ได้ปกป้องคุ้มครองประชาชน แม้ไทยจะลงนามในอนุสัญญาของสหประชาชาติแล้วก็ตาม

วันที่ 30 ส.ค.ถูกสถาปนาให้เป็นวันผู้สูญหายสากล โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้คนหันมาสนใจชะตากรรมของคนหาย หลังจากที่มีกรณีการหายตัวไปของคนจำนวนมากในลาตินอเมริกา จนทำให้มีการตั้งสมาคมญาติผู้ถูกจับกุมและผู้สูญหายในลาตินอเมริกา เมื่อปี 2524

ไม่ใช่แค่ลาตินอเมริกาเท่านั้น แต่ทั่วโลกมีคนหายตัวไปหลายล้านคน ไม่รู้ชะตากรรมว่ายังมีชีวิตอยู่หรือเสียชีวิตไปแล้ว แต่ละปีทั่วโลกมีคนหายเยอะมากจนอาจเรียกได้ว่าเป็นวิกฤต

อย่างไรก็ตาม จนถึงวันนี้ คำว่า “ผู้สูญหาย” ก็ยังไม่มีนิยามที่ชัดเจนว่า หายแบบไหน หายเกินกี่ชั่วโมงหรือกี่วันจึงจะเรียกว่าสูญหาย มีแต่การนิยามไว้กว้างๆ ว่าคนที่หายไปโดยที่ไม่สามารถยืนยันสถานะว่าเป็นหรือตาย ไม่สามารถระบุที่อยู่ ไม่อาจรู้ชะตากรรม ซึ่งการหายตัวไปอาจเป็นได้ทั้งแบบที่เจ้าตัวสมัครใจ เช่น หนีออกจากบ้าน หรืออาจสูญหายโดยไม่สมัครใจ เช่น หายไประหว่างเกิดภัยธรรมชาติ อุบัติเหตุ อาจถูกลักพาตัวโดยอาชญากร หรืออาจถูกบังคับสูญหาย


การบังคับสูญหาย

ความเลวร้ายของการสูญหายไม่ได้เกิดกับผู้สูญหายโดยไม่สมัครใจเท่านั้น แต่ครอบครัว ญาติ เพื่อนฝูงมักได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย ครอบครัวและเพื่อนมักจะรู้สึกกังวล หงุดหงิดหรือโกรธแค้นมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อไม่รู้ว่าคนนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ จะกลับมาไหม และไม่รู้จะไปตามที่ไหน

ในหลายกรณี การสืบหาความจริงเกี่ยวกับการหายตัวไปของคนในครอบครัว อาจทำให้ทั้งครอบครัวตกอยู่ในอันตรายไปด้วย โดยเฉพาะการสูญหายแบบที่ถูกบังคับสูญหาย แอมเนสตี้ อินเทอร์เนชั่นแนล องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนสากลระบุว่า ผู้สูญหายมักเป็นผู้ชาย แล้วผู้หญิงมักเป็นผู้ออกตามหาและต่อสู้เพื่อความยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นภรรยาหรือแม่หรือลูกๆ และครอบครัวของผู้สูญหายก็จะถูกคุกคามต่ออีกทอดหนึ่ง

ในหลายประเทศ รัฐหรือองค์กรการเมืองใช้วิธีนี้ในการกำจัดและกดขี่ศัตรูทางการเมืองหรือผู้เห็นต่าง เพราะเมื่อหายไปก็ไม่มีหลักฐานใดๆ สำหรับเอาผิดผู้กระทำ เนื่องจากคนที่ถูกบังคับสูญหายส่วนใหญ่มักไม่ได้กลับมาอีกเลย หลายคนถูกซ้อมทรมาน หลายคนถูกสังหาร หรือมีชีวิตอยู่กับความหวาดกลัวว่าจะถูกฆ่า

รายงานของสหประชาชาติหลายปีพบว่า แต่ละปีมีกรณีผู้ถูกบังคับสูญหายหลายหมื่นคนทั่วโลก ในบางประเทศหายไปพร้อมกันเป็นกลุ่ม เช่น เมื่อปี 2557 นักศึกษา 43 คนจากวิทยาลัยครูแห่งหนึ่งในเม็กซิโกถูกลักพาตัวหายไปในเมืองอิกวาลา รัฐเกเรโร โดยมีการกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นสมคบคิดกับแก๊งอาชญากรลักพาตัวนักศึกษาเหล่านี้ไป


การบังคับสูญหายในไทย

รายงานของคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจขององค์การสหประชาชาติ ระหว่างปี 2523-2561 ยังระบุว่า ประเทศไทยมีบุคคลถูกบังคับให้สูญหายเท่าที่ได้รับรายงานจำนวน 86 คน ยังไม่รวมอีกหลายคนที่ถูกบังคับสูญหายหลังปี 2561

อนุสัญญาคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับนิยาม “การบังคับสูญหาย” ว่าจะต้องมีองค์ประกอบ 3 ข้อ ดังนี้ 1. กดขี่เสรีภาพโดยที่บุคคลนั้นไม่ยินยอม 2. เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐ 3. เจ้าหน้าที่ปฏิเสธว่ารู้เรื่องการจำกัดเสรีภาพ หรือปกปิดชะตากรรม หรือที่อยู่ของผู้สูญหาย หรือต่อให้ยอมรับว่าควบคุมตัวไว้ แต่ไม่บอกว่าคุมตัวไว้ที่ไหนก็เข้าข่ายบังคับสูญหายเช่นกัน


ปัญหาของการตามหาผู้สูญหาย

ปัญหาหลักของการบังคับสูญหายในหลายประเทศ รวมถึงไทย ก็คือ กฎหมาย เนื่องจากปัจจุบัน ไทยไม่มีกฎหมายในการจัดการคดีคนหาย หรือถูกบังคับสูญหาย แม้จะมีคนเห็นเหตุการณ์หรือมีเบาะแสว่าถูกบังคับสูญหายก็ตาม

จากกรณีทนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม และนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ที่หายไปปี 2547 ทำให้หลายคนมองเห็นปัญหาในเรื่องนี้อย่างชัดเจนขึ้น เพราะแม้จะมีคนเห็นเหตุการณ์ว่า ตำรวจ 5 คนบังคับให้ทนายสมชายขึ้นรถโดยที่เจ้าตัวไม่ยินยอม แต่ศาลกลับยกฟ้องคดีมาตรา 309 ฐานข่มขืนใจผู้อื่นโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สิน

เว็บไซต์ iLaw ได้อธิบายเรื่องการฟ้องคดีการหายไปของทนายสมชายว่า ศาลได้ให้เหตุผลที่ยกฟ้องว่า ไม่มีผู้มีอำนาจฟ้องคดีมาเป็นโจทก์ และครอบครัวก็เป็นโจทก์ในคดีนี้ไม่ได้ เนื่องจากกฎหมายระบุว่า ครอบครัวจะฟ้องคดีแทนผู้เสียหายได้ ก็ต่อเมื่อเป็นกรณีที่ผู้เสียหายตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถดำเนินการเองได้เท่านั้น และเมื่อไม่ทราบว่าทนายสมชายเสียชีวิตหรือยัง ครอบครัวจึงฟ้องคดีฆาตกรรมไม่ได้


กรณีการถูกบังคับสูญหายในต่างประเทศ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีนักเคลื่อนไหวทางการเมืองลี้ภัยออกนอกประเทศหลายคน แต่อยู่ๆ ก็หายตัวไป กรณีนี้ล่าสุดก็คือ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่หายตัวไปเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2563 ในกัมพูชา ซึ่งตำรวจของทั้งไทยและกัมพูชายังปฏิเสธว่าไม่รู้เรื่อง และไม่ได้ดำเนินการสอบสวนแต่อย่างใด

แม้คดีจะเกิดในต่างประเทศ แต่มาตรา 8 ของประมวลกฎหมายอาญาไทยมีข้อยกเว้นว่า ความผิดนอกราชอาณาจักรและสามารถนำคดีมาขึ้นศาลไทยได้ ในกรณีที่ 1. ผู้กระทำความผิดเป็นคนไทย 2. ผู้กระทำความผิดเป็นคนต่างชาติ แล้วผู้เสียหายเป็นคนไทย อย่างไรก็ตาม การจะเอาผู้กระทำผิดมาขึ้นศาลไทยได้ “ผู้เสียหาย” จะต้องร้องขอเท่านั้น

“ผู้เสียหาย” ในที่นี้ก็คือ “ผู้สูญหาย” ซึ่งก็กลับไปเหมือนกับคดีทนายสมชาย คือ “ผู้สูญหาย” จะต้องมาดำเนินการเอง ซึ่งในทางปฏิบัติคือเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น ทางแก้เรื่องนี้ก็คือ การแก้กฎหมาย

อนุสัญญาคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 23 ธ.ค. 2553 แต่ไทยเพิ่งร่วมลงนามในอนุสัญญาฯ เมื่อ 4 ต.ค. 2554 แต่ตามหลักแล้วการลงนามไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย จนกว่าประเทศที่ลงนามจะแก้กฎหมายภายในประเทศ แล้วค่อยไปให้สัตยาบันเพื่อเป็นภาคีของอนุสัญญาฯ

ผ่านไปเกือบ 10 ปี คณะรัฐมนตรีเพิ่งเห็นชอบในหลักการผ่าน ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันทรมาน บังคับสูญหาย คุ้มครองสิทธิคนที่ถูกกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ไปให้กฤษฎีกา เมื่อปลายเดือนมิ.ย. 2563 และกว่ากฤษฎีกาจะส่งร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ กลับไปให้ ครม. ผ่านร่างไปรัฐสภา กว่ารัฐสภาจะตั้งวาระ ลงมติ และผ่านออกมามีผลบังคับใช้ก็อาจต้องใช้เวลาอีกนาน ประชาชนจึงต้องสนใจความคืบหน้าของร่างกฎหมายนี้ และคอยตรวจสอบว่าร่างกฎหมายถึงระดับมาตรฐานสากลหรือไม่


ที่มา : Amnesty International, OHCHR, UN, The 101, iLaw, Law.CMU, HRW, ประชาไท, กรุงเทพธุรกิจ, BBC