ไม่พบผลการค้นหา
หลักสูตร กอส. คืออะไร ทำไมถึงมี ลูกหลานคนดัง-นามสกุลใหญ่-ไฮโซ เข้าอบรมเพียบ

หลักสูตร ‘กอส.’ ชื่อเต็มๆ คือ หลักสูตรการฝึกอบรมข้าราชการตำรวจและบุคคลที่บรรจุ หรือโอนมาเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร เริ่มต้นขึ้นในปี 2558 สมัยของ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ปัจจุบันเกษียณแล้ว) ได้อนุมัติให้มีการปรับปรุงประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 11 การศึกษา การฝึกและอบรม บทที่ 14 การฝึกอบรมพื้นฐานสำหรับ ‘ข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร’ เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

กอส. เป็นหนึ่งใน 4 หลักสูตรฝึกอบรมขั้นพื้นฐาน สำหรับข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร แบ่งออกเป็น 

ข้าราชการตำรวจ ‘ชั้นประทวน’ ผู้มีคุณวุฒิระดับปริญญา หรือประกาศนียบัตร และมีสิทธิ์ได้รับการแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร ซึ่งหมายถึงข้าราชการตำรวจผู้มีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

  • ได้รับอนุญาตให้ลาศึกษาตามระเบียบของทางราชการ
  • ได้รับอนุมัติจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ไปศึกษาตามระเบียบที่สำนักงานกำหนด
  • ได้รับทุนรัฐบาลไปศึกษาตามความต้องการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
  • ได้รับอนุมัติจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้เข้ารับการฝึกอบรม

ข้าราชการตำรวจชั้นประทวนซึ่ง ‘บรรจุจากบุคคลภายนอก’ บรรจุกลับ หรือโอนมา โดยการบรรจุหรือรับโอนในฐานะผู้มีคุณวุฒิการศึกษาระดับปริญญา หรือประกาศนียบัตร และมีสิทธิได้รับการแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร

 ข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร ซึ่งบรรจุจากบุคคลภายนอก หรือโอนข้าราชการซึ่งไม่ใช่ข้าราชการตำรวจ หรือพนักงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มาบรรจุเป็นข้าราชการตำรวจ หรือบรรจุข้าราชการ ซึ่ง ‘ไม่ใช่’ ข้าราชการตำรวจ หรือพนักงานของ อปท. กลับเข้ารับราชการเป็นข้าราชการตำรวจ

https://lh3.googleusercontent.com/Amr4NjlLOCuHEv_9lf3xirQNoVTbonVrsiwTNiNJ1N02ClKf17Ycua0Yk6_N9tW9aK1qUAnbdDmkCrklsRcR5M8XIinJzBaplOdKSrCw5Uu2ePndMGUfdQdu9tLDYUW-Hw1PQHDmYXnz7ZMweW0-DDA


จากข้อมูลผู้สมัครเข้าอบรมหลักสูตร กอส. รุ่น 45-48 ปีงบประมาณ 2563 - 2565 พบว่ามีทั้งหมด 1,240 คน ดังนี้ 

  • รุ่นที่ 45 มีผู้เข้าอบรมหลักสูตร  310 คน (ไม่มารายงานตัว 1 คน)
  • รุ่นที่ 46 มีผู้เข้าอบรมหลักสูตร 300 คน (ไม่มารายงานตัว 1 คน)
  • รุ่นที่ 47 มีผู้เข้าอบรมหลักสูตร 353 คน (ลาออก 3 ไม่มารายงานตัว 2)
  • รุ่นที่ 48 มีผู้เข้าอบรมหลักสูตร 277 คน (ไม่มารายงานตัว 11 คน)
กอส. ต้องเรียนอะไรบ้าง

หลักสูตร กอส.  มีระยะเวลาฝึกอบรม 17 สัปดาห์ 4 วัน  รวมทั้งสิ้น 500 ชั่วโมง 400 คะแนน โดยต้องมีระยะเวลาการฝึกอบรมไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของเวลาการฝึกอบรมทั้งหมด ไม่ถูกตัดคะแนนความประพฤติเกิน 40 คะแนน และสอบได้คะแนนรวมไม่น้อยกว่าร้อยละ 60  หากปฏิบัติได้ตามนี้จะถือว่าเป็นผู้สำเร็จการฝึกอบรม 

โครงสร้างหลักสูตรประกอบด้วย ภาควิชาวิชาการและการฝึก 16 สัปดาห์ และภาคสนาม 1 สัปดาห์ 4 วัน รวมทั้งสิ้น 500 ชั่วโมง 

ภาควิชาวิชาการและการฝึก 16 สัปดาห์ ประกอบด้วย

  • วิชาพื้นฐาน 330 ชั่วโมง
  • วิชาเฉพาะ 170 ชั่วโม

สำหรับวิชาเฉพาะ จะประกอบไปด้วย 

  1. กฎหมายเบื้องต้นสำหรับตำรวจ  เรียน 20 ชั่วโมง 20 คะแนน
  2. กฎหมายอาญาสำหรับตำรวจ 30 ชั่วโมง 30 คะแนน 
  3. กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาสำหรับตำรวจ 30 ชั่วโมง 30 คะแนน 
  4. กฎหมายแพ่งและพาณิชย์สำหรับตำรวจ 15 ชั่วโมง 10 คะแนน 
  5. ระเบียบการตำรวจ ไม่เกี่ยวกับคดี 20 ชั่วโมง 20 คะแนน 
  6. งานสารบรรณตำรวจ 20 ชั่วโมง 20 คะแนน 
  7. ฝ่ายอำนวยการตำรวจ 15 ชั่วโมง 10 คะแนน
  8. ฝ่ายฝึกยุทธวิธีตำรวจ 20 ชั่วโมง 10 คะแนน 

ส่วนภาคสนาม มีระยะการฝึก 1 สัปดาห์ 4 วัน ประกอบด้วย 

  1. การฝึกอบรมหลักสูตรข้าราชการตำรวจ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ดูแลการชุมนุมสาธารณะ 28 ชั่วโมง 4 วัน 
  2. ศึกษาดูงานหน่วยงานตำรวจ ระยะเวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์

จากกรณีความเจริญก้าวหน้าทางอาชีพรับราชการของ  ผู้กองแคท - ร.ต.อ.หญิง อาทิติยา เบ็ญจะปัก ที่ดูจะรุ่งโรจน์และรวดเร็วเกินปกติ จนเกิดเป็นคำถามต่อสาธารณชน โดยมีไทม์ไลน์ดังต่อไปนี้ 

  • 2564 ย้ายมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ติดยศเป็น สิบตำรวจตรีหญิง
  • 2564 เรียนหลักสูตร กอส. รุ่นที่ 47 ติดยศ ร้อยตำรวจตรีหญิง
  • 2565 เลื่อนยศเป็น ร้อยตำตรวจโทหญิง
  • 2566 เลื่่อนยศอีกครั้ง เป็น ร้อยตำรวจเอกหญิง

ล่าสุด 9 มิ.ย.2566  พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ในรายการเจาะลึกทั่วไทยว่า ผู้กองแคทสามารถเลื่อนยศจากสิบตำรวจตรี เป็น ร้อยตำรวจตรีได้เร็ว เป็นเพราะการบรรจุตำรวจที่มาจากบุคคลภายนอกมีหลายวิธี ได้แก่ การสอบแข่งขันภายใน หรือการคัดเลือกจากวุฒิการศึกษาในด้านที่ขาดแคลน โอนกลับเข้ารับราชการ เป็นต้น เมื่อเข้าอบรมหลักสูตร กอส. ก็มีสิทธิ์ติดยศร้อยตำรวจตรีได้เลย

กรณีของผู้กองแคท เข้าสู่อาชีพตำรวจด้วยการยื่น ‘วุฒิปริญญาโท’ เมื่อบรรจุเป็นข้าราชการตำรวจ และเข้าอบรมหลักสูตร กอส. แล้ว จะได้ยศ ‘ร้อยตำรวจตรี’ เหมือนคนอื่นๆ 

 พล.ต.ท.อาชยน ระบุเงื่อนเวลาของการเลื่อนยศหลังจบหลักสูตร กอส. ดังนี้ 

ยศร้อยตำรวจตรี 

  • หากยื่นวุฒิปริญญาตรี ต้องรอ 4 ปีถึงจะได้เป็นร้อยตำรวจเอก
  • หากยื่นวุฒิปริญญาโทหรือปริญญาเอก  รอประมาณ 2 ปี จึงจะได้ยศร้อยตำรวจเอก

ยศร้อยตำรวจโท 

  • หากยื่นวุฒิปริญญาตรี ต้องรอ 3 ปีถึงจะได้เป็นร้อยตำรวจเอก
  • หากยื่นวุฒิปริญญาโทและปริญญาเอก  รอประมาณ 8 เดือน ถึง 1 ปี จึงจะได้ยศร้อยตำรวจเอก

ในส่วนของหลักสูตร กอส. นั้น  โดยปกติแต่ละรุ่นจะจัดอบรมอยู่ที่ 300-350 ที่นั่ง ถ้ารุ่นนั้นครบนั้น ส่วนที่เกินมาก็ต้องไปอบรมในรุ่นถัดไป โดย พล.ต.ท.อาชยน ย้ำว่า “ทุกคนที่มาจากบุคคลภายนอก มีสิทธิเข้าอบรมหลักสูตร กอส. ทุกคน”

หลักสูตร กอส. พบนามสกุลดัง - ไฮโซ เพียบ

พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย และอดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้กล่าวถึงหลักสูตร กอส. ว่า  การบรรจุตำรวจชั้นสัญญาบัตร ปกติแล้วจะรับคนที่จบโรงเรียนนายร้อยตำรวจมาดำรงตำแหน่งยศร้อยตำรวจตรี หรือไม่ก็รับผู้จบปริญญาตรีในสาขานิติศาสตร์บัณฑิต หรือรัฐศาสตร์บัณฑิต รวมถึงหากต้องการความรู้ความสามารถด้านอื่น ก็รับคนที่จบปริญญาตรีสาขาอื่น เช่น วิศวกรรมศาสตร์

โดยสมัยตนเป็น ผบ.ตร.นั้น ได้ยกระดับนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรขึ้น คนจบปริญญาตรี ตนให้เข้ารับตำแหน่งระดับนายสิบเท่านั้น ไม่ได้ให้ตำแหน่งร้อยตำรวจตรี เพื่อให้ตำรวจชั้นประทวนมีความรู้ความสามารถมากกว่าปัจจุบัน เมื่อเขามาเป็นตำรวจก็ให้เวลาในการสอบเลื่อนขั้นเป็นตำรวจสัญญาบัตร ซึ่งมีการแข่งขันกันภายใน

พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ ยังอธิบายเพิ่มว่า การรับบรรจุเข้าเป็นสิบตำรวจตรีก่อน เพื่อส่งไปฝึกอบรมหลักสูตร กอส. ในลักษณะนี้นั้น ตนไม่รับ เพราะถือเป็นการเอารัดเอาเปรียบพี่น้องประชาชนทั่วไป ไม่ก่อให้เกิดการแข่งขัน แต่ในยุคปัจจุบันกลับมีลักษณะนี้ ซึ่งการที่รับเข้าทำงานแบบนี้คล้ายกับกรณีของ ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ บัวแย้ม ที่มีข่าวกับ ส.ว. ก็เป็นการรับมาทำงานภายใน พอถึงเวลาก็บรรจุเป็นสัญญาบัตรกัน

"ยุคที่ผมเป็น ผบ.ตร. บุคลากรตำรวจ จะเป็นบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นชั้นประทวนและสัญญาบัตร" พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าว 

หลักสูตร กอส. ถูกสังคมวิจารณ์อย่างหนักว่า กลายเป็น ‘เส้นทางลัด’ ที่เหล่าลูกหลานคนรวย นามสกุลดัง สามารถติดยศตำรวจได้โดยไม่ต้องตรากตรำผ่านขั้นตอนตามกระบวนการปกติ อีกทั้งยังเลื่อนยศได้แบบติดจรวดจนผิดสังเกต 

วอยซ์ ยกตัวอย่างตำรวจนามสกุลดัง ผู้เคยเข้าเรียนหลักสูจน กอส. ดังนี้

  1. พ.ต.ต.สงกรานต์ เตชะณรงค์  เข้าอบรมหลักสูตร กอส. รุ่นที่ 45 เจ้าของกิจการอาณาโบนันซ่าเขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ทายาทคนโตของ ไพวงษ์ เตชะณรงค์
  2. เตชธร จามิกรณ์  เข้าอบรมหลักสูตร กอส. รุ่นที่ 45 น้องชายของ แพนเค้ก-เขมนิจ จามิกรณ์ และมีศักดิ์เป็นน้องเขยของ พ.ต.ท. ศักดิ์สุนทร เปรมานนท์ หรือสารวัตรหมี

นอกจากนี้ ยังมีกรณีเหล่าตำรวจนามสกุลดังและผู้ถูกขนานนามว่า ‘ไฮโซ’ เกี่ยวพันกับคดีอื้อฉาว เช่น

  1. ร.ต.อ.อัครวินทร์ เตชะอุบล หรือ ‘ไฮโซจิมมี่’ เข้าอบรมหลักสูตร กอส. รุ่นที่ 41 เจ้าของธุรกิจ เจซี เควินฟู้ด แอนด์ เบฟเวอเรจ จำกัด  ทำธุรกิจเกี่ยวกับร้านอาหารจีน และทำธุรกิจร้านอาหารสไตล์อิตาเลียนหลายแห่ง ทายาท อภิชัย เตชะอุบล  อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และเจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของประเทศ ผู้ต้องหาคดีชนแล้วหนี เหตุขับรถ BMW พุ่งชนรถของพ่อค้าขายลูกชิ้นจนเสียชีวิต
  2. ร.ต.อ.คุณากร ขจรบุญถาวร  หรือ ผู้กองไบร์ท อดีตรองสารวัตรฝ่ายตรวจคนเข้าเมืองขาออก  เข้าอบรมหลักสูตร กอส. รุ่นที่ 40 น้องชายของ ชัยวัฒน์ ขจรบุญถาวร  หรือ ‘เบนซ์ เดม่อน’ เจ้าของ เว็บพนัน มาเก๊า 888 
  3. พ.ต.ท.วสวัตติ์ มุครสกุล หรือ สารวัตรซัว อดีต สารวัตรฝ่ายโยธาธิการ 2 กองโยธาธิการ สังกัดกองโยธาธิการ สำนักงานส่งกำลังบำรุง รับเงินเดือน (ระดับ) ส.3 ขั้น 14 หนึ่งในผู้ผ่านหลักสูตร กอส. ผู้ถูกโยงว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีเว็บพนันออนไลน์ ‘มาเก๊า888’ เจ้าของบริษัท เป็นต่อ เอ็กซ์เช้นจ์ จำกัด ธุรกิจรับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ, บริษัท พีที ซอฟแวร์ บาย เป็นต่อ กรุ๊ป จำกัด ทำธุรกิจผลิตและพัฒนาซอฟแวร์คอมพิวเตอร์,บริษัท เป็นต่อ พร็อพเพอร์ตี้ บาย เป็นต่อ กรุ๊ป จำกัด ทำธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เชิงที่อยู่อาศัย และเชิงพาณิชย์ บริษัท เป็นต่อ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ บาย เป็นต่อ กรุ๊ป จำกัด ธุรกิจสถานบันเทิง เช่น Tomorrowland Exclusive lounge, Dubai Luxury Club ฯลฯ 

อ้างอิง