ไม่พบผลการค้นหา
การดูความแอคทีฟทางการเมืองของภาคประชาชนนั้น อาจดูได้จากท่าทีของผู้มีอำนาจทางการเมืองว่ากำลังกด-ปราบหนักขนาดไหน โดยเฉพาะการคุมขังเยาวชนจำนวนมากในคดีทางการเมือง ยิ่งภาคประชาชนเรียกร้อง ความเงียบเฉยเมยก็ยิ่งสะท้อนชัด

แต่ที่สามจังหวัดภาคใต้นั้นเหมือนอำนาจกดปราบจะรุกนำมาก่อน ยิ่งเมื่อ พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (ผอ.รมน.ภาค 4) ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานติดตามตรวจสอบกิจกรรมที่มีการบิดเบือนประวัติศาสตร์ของภาคประชาสังคมและด้านการเมืองเมื่อวันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมา

สาระสำคัญของคำสั่งแม่ทัพภาคที่ 4 คือให้อำนาจหน้าที่คณะทำงานฯ ติดตามตรวจสอบหาข้อมูลเพื่อใช้ในการดำเนินคดีตามกฎหมายเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และสามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพสมความมุ่งหมายของทางราชการ 

คณะทำงานมีเจ้าหน้าที่รัฐทั้งหมด 22 นาย มี 19 นายเป็นทหาร และ 3 นายเป็นตำรวจ หัวหน้าคณะฯ คือ พล.ต.ไพศาล หนูสังข์ มีพล.ต.ต.ปิยวัฒน์ เฉลิมศรี รอง ผบช.ภ.9, พล.ต.วัชรวิชย์ ณรงค์พันธุ์ และ พ.อ.อัฑฒเศรษฐ์ เต็มมีศร เป็นรองหัวหน้าคณะฯ

คำสั่งของแม่ทัพภาคที่ 4 ยังกำหนดมาตรการควบคุมให้มีการประชุมเดือนละ 1 ครั้ง ทุกสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน โดยให้คณะทำงานต้องประชุมเตรียมข้อมูล 1 วันก่อนประชุม รายงานผลให้ ผอ.รมน.ภาค 4 ทราบทุกเดือน และสรุปผลการปฏิบัติตามวงรอบ 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี

อะไรคือสิ่งที่แม่ทัพภาคที่ 4 กังวล โดยเฉพาะท่อนที่ว่า “การจัดกิจกรรมที่มีการบิดเบือนประวัติศาสตร์ของภาคประชาสังคมและด้านการเมือง”

ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา รายงานคำชี้แจงจากแหล่งข่าวทหารในพื้นที่ว่า “คำสั่งนี้น่าจะเอาจริง หลังจากการเมืองก็แรง และตลอดช่วงที่ผ่านมามีการบิดเบือนประวัติศาสตร์อย่างเห็นชัด ทั้งการ์ดเกม เกมไพ่ การรวมตัวแต่งชุดมลายูที่มีการปราศรัยปลุกระดมในเรื่องประวัติศาสตร์ ก็คงจับตากันจริงจังแน่ เพราะยิ่งการเมืองแรง การทำลายภาพลักษณ์ของภาครัฐก็มีมากขึ้น คิดว่าแม่ทัพน่าตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพราะสิ่งเหล่านี้”

รายงานข่าวระบุอีกว่า เหตุการณ์ที่คาดว่าเป็นสาเหตุในการตั้งคณะทำงานมี 2 เหตุการณ์หลักๆ คือ

1. เหตุการณ์เยาวชนชายและหญิงมลายูมุสลิม รวมตัวกันแต่งกายด้วยชุดอัตลักษณ์มลายู จำนวนนับหมื่นคน เมื่อเดือน พ.ค.ปีที่แล้ว หลังเทศกาลรายอ โดยเยาวชนชายรวมตัวกันที่หาดวาสุกรี อ.สายบุรี จ.ปัตตานี มีการปราศรัย และโบกธง ซึ่งบางภาพที่บันทึกมาได้พบว่ามีการโบกธงของขบวนการแบ่งแยกดินแดน

2.“การ์ดเกม” หรือ “เกมไพ่” ที่ชื่อว่า “Patani Colonial Territory” มีการนำเนื้อหาเกี่ยวกับ “ประวัติศาสตร์บาดแผล” ของคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือที่เรียกว่า “คนปัตตานี” หรือ “คนปาตานี” มาใส่ในการ์ดเกม โดยเฉพาะเรื่องเชลยศึกปัตตานีที่ถูกทารุณด้วยการเจาะเอ็นร้อยหวาย ซึ่งในเวลาต่อมา ทาง กอ.รมน. และนักประวัติศาสตร์หลายรายออกมายืนยันว่า ประวัติศาสตร์เรื่องเจาะเอ็นร้อยหวาย ไม่เคยเกิดขึ้นจริง แต่กลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับ “การ์ดเกม” ก็ยังนัดเล่นและจัดแข่งขันในพื้นที่ต่อไป

เมื่อรัฐใช้อำนาจ นักสิทธิมนุษยชนอย่าง กัณวีร์ สืบแสง ประธานยุทธศาสตร์และรองหัวหน้าพรรคเป็นธรรม ก็ทักท้วงทันควัน เขาโพสต์เฟซฯ ระบุว่า “ใครสามารถบอกได้ว่าประวัติศาสตร์ไหนถูก 100% เอาอะไรมาเป็นมาตรวัด ??”

“ปัญหามันไม่ได้อยู่กับการที่มีคนหลายหมื่นคนแต่งชุดมลายูแล้วออกมารวมตัวกันหรอกครับ และมันไม่ผิดอะไรหรอกครับกับการเล่นการ์ดเกมส์ด้วย ปัญหามันอยู่ตรงที่การปิดกั้นถึงการสะท้อนถึงตัวตนของคนในพื้นที่ไม่ให้มีพื้นที่ในการแสดงออก 

“ลองบังคับคนให้ใส่ชุดมลายูสี่วันต่ออาทิตย์สิ อะไรจะเกิดขึ้น ?? ไม่ใส่หรอก เพราะร้อน !! ลองเปิดการแข่งขันการเล่นการ์ดเกมส์กันแบบเป็นตัวแทนจังหวัดสิ อะไรจะเกิดขึ้น ?? อาจน่าเบื่อผมว่านะ คนหลายคน คงบอกว่าผมรู้เยอะกว่า ชุมชนผมมีข้อมูลเยอะกว่า” 

นักสิทธิมนุษยชน ย้ำหนักแน่นอีกว่า “อย่ากดครับ ยิ่งกด ยิ่งหาทางออก หาทางออกไม่ได้ มันจะระเบิดเสีย” 

ส่วนอาบูฮาฟิซ อัลฮากีม ตัวแทนกลุ่มมาราปาตานี ที่ติดตามกระบวนการพูดคุยสันติสุขอย่างใกล้ชิดบอกกับ ‘วอยซ์’ ประเด็นการกระทบกระบวนการสันติภาพในขณะนีว่า “คงไม่กระทบ หากแต่มันย้อนแย้งและสวนทางกัน” 

เขาไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องจัดตั้งคณะกรรมการพิเศษอะไรขึ้นมา เพราะ “อะไรที่เห็นว่าผิด ก็ว่าไปตามกฎหมายที่มีอยู่” ขณะที่ประเด็นภาษา วัฒนธรรม การแต่งกาย เป็นอัตลักษณ์ประจำท้องถิ่น เขามองว่ารัฐไม่ควรไปโยงกับเรื่องความมั่นคง เนื่องจากภาคอื่นๆ ในประเทศก็มีเช่นเดียวกัน เหตุใดจึงมาเจาะจงที่ภาคใต้

ขณะที่ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ฮึ่มๆ ในสามจังหวัดภาคใต้ ดูเหมือนผู้มีอำนาจจะไม่ได้คุยกันให้ชัดว่าจะกำกับประวัติศาสตร์ชาติไปทางไหน เพราะ กอ.รมน. อีกขาหนึ่งก็พยายามเตรียมเปิดพื้นที่ให้นักเรียนได้ถกเถียงประวัติศาสตร์ได้เต็มที่

ไอเดียนี้เป็นกับจับมือกันระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ กับ กอ.รมน. มีสาระสำคัญคือ การสอนหลักสูตรประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ในโลกทศวรรษที่ 21 มีการเตรียมขนทัพนักแสดงภาพยนตร์ ‘พระนเรศวร’ นำโดย พ.อ.วันชนะ สวัสดี หรือ ผู้พันเบิร์ด รองโฆษกกระทรวงกลาโหม และจิตอาสา 904 กระจายกำลังตามโรงเรียนในพื้นที่ 7 จังหวัด 

‘ผู้พันเบิร์ด’ เปิดเผยมาตั้งแต่ต้นปีใหม่ว่า โมเดลนี้คือการเสริมการสอนแบบบูรณาการใหม่ เพื่อให้เยาวชนไทยมีความคิดหลากหลายมิติ โดยไม่มีการยัดเยียดอุดมการณ์รักชาติ ให้รู้จักคิดเรียนรู้โดยไม่มีการครอบงำ และให้ถกเถียงกันเพื่อให้ได้คำตอบ เปิดกว้างให้รู้ข้อมูลเชิงลึก โดยไม่มีการห้ามถ่ายคลิปในชั่วโมงการเรียน 

ผู้พันเบิร์ดยังยืนยันว่า หากเกิดกรณีเด็กชู 3 นิ้ว หรือมีกลุ่มนักเรียนต้องการนั่งคุยกัน ก็ทำได้ โดยไม่มีการแบ่งแยกว่ามาจากอุดมการณ์แบบใด

เมื่อเป็นแบบนี้ คำถามก็ย้อนกลับไปว่า เมื่อแม่ทัพไปทาง ผู้พันไปอีกทาง ทั้งที่หน่วยงานความมั่นคงเดียวกัน ประชาชนตาดำๆ จะทำอย่างไร