ไม่พบผลการค้นหา
นายกฯ แต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา 'ปานปรีย์' นั่งประธาน

วันที่ 22 เม.ย. 2567 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ เซ็นคำสั่ง สภาความมั่นคงแห่งชาติที่ 1/2567 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา โดยที่ปัจจุบันสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมามีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อไทยในหลายมิติ ทั้งด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ การสู้รบตามแนวชายแดน และการค้าชายแดนหยุดชะงัก อันกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนและความมั่นคงแห่งชาติ

ทั้งนี้ เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลทั้งในส่วนที่ เกี่ยวกับการดำเนินการทางการทูต ความมั่นคง เศรษฐกิจ และการสื่อสารต่อสาธารณะ รวมถึงการบริหารสถานการณ์พื้นที่ชายแดนไทย - เมียนมา เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสามารถบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้อย่างเป็นรูปธรรม อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติสภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2559 นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ จึงมีคำสั่งแต่งตั้ง คณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา โดยมีองค์ประกอบ หน้าที่และอำนาจดังนี้

ให้ ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์

สีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงกลาโหม ,ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ,ปลัดกระทรวงมหาดไทย,ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ,ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก,ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ,อธิบดีกรมสารนิเทศ รองประธานกรรมการ,อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ,อธิบดีกรมเอเชียตะวันออก เป็นกรรมการ ส่วน เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็น กรรมการและเลขานุการ ข้าราชการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการตามที่ได้รับมอบหมาย

ข้อ 2 โดยมีหน้าที่และอำนาจ ติดตามตรวจสอบ ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์ในภาพรวมที่เกี่ยวข้องกับเมียนมาที่อาจ ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยทั้งในมิติการต่างประเทศ มิติการค้าและเศรษฐกิจชายแดน มิติความมั่นคง รวมทั้ง บทบาทและท่าทีของต่างประเทศ องค์การระหว่างประเทศ และองค์กรภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกลั่นกรอง ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกำหนดมาตรการ หรือแนวทางการบูรณาการ และประสานงานของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการดำเนินการเพื่อปกป้อง และรักษาผลประโยชน์แห่งชาติในการแก้ไขปัญหาและผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์ในเมียนมา โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดน ไทย - เมียนมา รวมถึงการดำเนินการทางการทูตเชิงรุกที่จำเป็นเพื่อสนับสนุนให้เกิดสันติภาพในเมียนมา ให้สอดคล้องกับนโยบายด้านการต่างประเทศ นโยบายด้านเศรษฐกิจ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ รวมทั้ง ยุทธศาสตร์หรือแผนที่เกี่ยวข้อง ต่อสภาความมั่นคงแห่งชาติ นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี แล้วแต่กรณี

นอกจากนี้มีหน้าที่และอำนาจ เร่งรัดและติดตามการขับเคลื่อนและการปฏิบัติงานของส่วนราชการ และ หน่วยงานของรัฐในการปฏิบัติตามนโยบาย แนวทาง หรือมาตรการที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีกำหนดรวมทั้งดำเนินการประชาสัมพันธ์ ชี้แจงหรือเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐบาลในมิติต่าง ๆ เกี่ยวกับสถานการณ์เมียนมาทั้งในส่วนการดำเนินการทางการทูต ความมั่นคง เศรษฐกิจ และการแก้ไขปัญหาพื้นที่ชายแดนไทย - เมียนมาให้ประชาชนรับทราบอย่างทันท่วงที รายงานผลการดำเนินงานต่อสภาความมั่นคงแห่งชาติ นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี ตามห้วงระยะเวลาที่เหมาะสม สามารถแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทำงาน หรือมอบหมายเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม และดำเนินการอื่นใดตามที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี มอบหมาย

ข้อ 3 ให้หน่วยงานของรัฐ ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ให้ความร่วมมือในการชี้แจงข้อมูล ส่งเอกสาร ตลอดจนดำเนินการอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมากำหนด

ข้อ 4 การเบิกจ่ายเบี้ยประชุมหรือค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหาสถานการณ์ เนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา คณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานที่แต่งตั้งตามคำสั่งนี้ ให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ พ.ศ. 2547 หรือตามระเบียบของทางราชการ แล้วแต่กรณี โดยให้เบิกจ่ายจากงบประมาณของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

สั่ง ณ วันที่ 11 เมษายน 2567