ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวถึงความคืบหน้าการเจรจาหาข้อยุติหลังศาลปกครองมีคำสั่งให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออกวิทยาเขตอุเทนถวาย ย้ายออกจากพื้นที่ภายใน 60 วัน ว่า วานนี้ (16 พ.ย.) มีการประชุมร่วมกับทุกฝ่ายในการหาข้อยุติ ซึ่งมีตัวแทนจากอุเทนถวาย และสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กรมธนารักษ์ สำนักงบประมาณ และส่วนทรัพย์สินจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่องนี้เป็นภารกิจของกระทรวง อว. ในการแก้ไข โดยที่ประชุมเป็นไปด้วยเหตุด้วยผล รับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะทุกฝ่าย ยืนยันว่าบรรยากาศการประชุมเป็นไปด้วยดี ไม่ได้เป็นการเพิ่มความขัดแย้ง
ศุภมาส กล่าวว่า มีการเสนอให้ไปศึกษาข้อเสนอในที่ประชุมว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแต่ไหน เพื่อให้การประชุมครั้งต่อไปมีข้อสรุป หลังจากนั้นจุฬาฯ ก็ไปศึกษาร่วมกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ยอมรับว่านักศึกษาอุเทนถวายต้องการความชัดเจนและมีข้อสงสัยว่าไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันก่อนหน้านี้ จึงทำให้ครั้งนี้หากมีการตกลงยุติไปแล้วอาจจะไม่เป็นไปตามที่ตกลงกัน ซึ่งหลายคนกังวลว่า ก่อนที่ตนเองจะเรียนจบจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง และต้องย้ายจะอยู่ที่ไหน และมีใครเข้ามาดูแล เนื่องจากหลายคนได้รับข้อมูลข่าวสารที่ไม่ตรงกัน จึงเกิดข้อกังวล
เมื่อถามว่า ได้วางกรอบไทม์ไลน์เจรราไว้หรือไม่ ศุภมาส กล่าวว่า การเจรจราหาข้อยุติไม่สามารถไปวางกรอบหรือไทม์ไลน์เพื่อหาข้อยุติได้ เพราะอาจจะไปเพิ่มอารมณ์ความรุนแรง เพียงแต่ทุกคนอยากได้ข้อยุติที่ดีเร็วที่สุด
เมื่อถามว่า ประเด็นที่ศิษย์เก่าที่จบไปแล้วแต่มาสนับสนุนให้ศิษย์ปัจจุบันออกมาเคลื่อนไหวนั้น ศุภมาส กล่าวว่า ในวงหารือวานนี้ก็มีศิษย์เก่ามาร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย ซึ่งได้มีข้อเสนอว่าเมื่อปัญหายังคาราคาซังแบบนี้ จึงอยากรับฟังจากอุเทนถวายว่าต้องการอะไรบ้าง และทางจุฬาฯ สามารถสนับสนุนข้อเสนอนี้อย่างไรได้บ้าง อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ว่าถ้าอุเทนถวายเห็นภาพชัดว่าทางจุฬาฯได้ที่คืนไปแล้วไม่ได้เอาไปใช้ในเชิงพาณิชย์ แต่เอาไปใช้เป็นสาธารณประโยชน์ อาจจะเป็นสวนสาธารณะหรือพิพิธภัณฑ์สำหรับเด็กเพื่อการศึกษาเหมือนกับหอศิลป์ในกทม. แบบนี้อาจจะเป็นข้อเสนอใหม่ที่ทางอุเทนถวายอาจจะพิจารณาได้ ซึ่งน่าจะเป็นแนวโน้มที่ดี
เมื่อถามว่า ปัญหานี้จะสามารถจบได้ในยุคนี้หรือไม่ ศุภมาส กล่าวว่า ปัญหานี้มีมานานแล้ว คงไม่ใช่ใช้คำว่าจบ แต่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงในยุคนี้ และบังเอิญว่าช่วง 20 ปีที่ผ่านไม่มีคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดมา ซึ่งมีการฟ้องร้องกันมาเรื่อยๆ ยุคนี้ทุกฝ่ายต้องถือเอากฎหมายสูงสุด เพียงแต่ไม่สามารถยึดหลักกฎหมายอย่างเดียวได้ แต่ต้องยึดหลักความสงบเรียบร้อยและต้องดูแลความรู้สึกของบุคลากรทุกคนในอุเทนถวายด้วย เพราะเราคงไม่อยากเห็นสถาบันที่ร่ำเรียนมาหายไปในช่วงข้ามคืน ดังนั้นเรื่องความรู้สึกของคนเป็นเรื่องใหญ่ไม่แพ้เรื่องของหลักกฎหมาย จึงต้องเป็นการบังคับใช้กฎหมายโดยสมัครใจ และทุกคนเห็นตรงกัน