เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่มี 'เพดานกระจก’ หรือ อุปสรรคที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แข็งแกร่งที่สุด ซึ่งในที่นี้หมายถึงความลำบากในการหางานทำของประชากรเพศหญิงในสังคม
ในปี 2561 ประเทศเกาหลีใต้อยู่ในอันดับที่ 30 รั้งท้ายจาก 36 ประเทศในกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ โออีซีดี สำหรับการจ้างงานเพศหญิง แม้ผู้หญิงเกาหลีใต้ในช่วงอายุ 25-34 ปี จะมีความสามารถด้านการศึกษาสูงเป็นอันดับที่ 3 ในรายงานชิ้นล่าสุดเรื่องช่องว่างทางเพศของเวิลด์อีโคโนมิกฟอรัม (WEF) ประเทศเกาหลีใต้อยู่ในลำดับที่ 115 จาก 149 ประเทศ โดยสำรวจจากประเด็นความไม่เท่าเทียมทางรายได้เป็นหลัก
ตัวอย่างสำคัญที่แสดงถึงความไม่เท่าเทียมทางเพศในเกาหลีใต้ สามารถเห็นได้ชัดเจนจากสถิติผู้หญิงที่มีบทบาทในแวดวงการเมืองเกาหลีใต้ มีเพียงร้อยละ 17 เท่านั้น
"แม้ผู้หญิงเกาหลีใต้มีการศึกษาสูง แต่ยังมีอัตราการจ้างงานต่ำ จึงเห็นได้ชัดเจนว่าปัญหาการเหยียดเพศในการจ้างงานยังมีอยู่” พักกวีชอน อาจารย์ด้านกฏหมายแรงงานจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอีฮวา กล่าว
เธอหยิบประเด็นกรณีฟ้องร้องถึงความไม่เป็นธรรมในการคัดเลือกพนักงานของธนาคาร 3 แห่งในเกาหลีใต้ขึ้นมา ประกอบไปด้วย ธนาคารกุกมิน (KB Kookmin) ธนาคารเคอีบี ฮานา (KEB Hana) และธนาคารชินฮาน (Shinhan) ที่มีการสอบสวนพบว่าผู้สมัครหญิงบางส่วนถูกคัดออกจากการคัดเลือกพนักงานอย่างไม่เป็นธรรม รวมไปถึงการโกงคะแนนสอบเพื่อไม่ให้ผู้สมัครหญิงผ่านการคัดเลือก อัตราส่วนของผู้สมัครธนาคารชินฮานที่ผ่านการคัดเลือกระหว่างชายหญิงอยู่ที่สัดส่วน 3:1
อีกกรณีฟ้องร้องที่เข้าไปอยู่ในการพิจารณาของศาลฎีกาของเกาหลีใต้ คือกรณีที่พบว่านายพักกิดง ซีอีโอบริษัทโคเรีย แก๊ซ เซฟตี้ คอร์ปอเรชัน หรือ เคจีเอส สั่งการให้เจ้าหน้าที่ระดับผู้จัดการหลายคนเปลี่ยนแปลงคะแนนสอบคัดเลือกข��งผู้เข้าสมัครทั้งหมด 31 คน โดยผู้เข้าสมัครเพศหญิง 8 ราย ที่มีคะแนนผ่านเกณฑ์กลับไม่ได้รับการคัดเลือกและถูกแทนที่ด้วยผู้สมัครเพศชายที่มีคะแนนต่ำกว่าในปี 2558 และ2559
ตัวแทนของบริษัทเคจีเอสกล่าวว่าทางบริษัทได้ติดต่อไปหาผู้สมัครทั้ง 8 คน และยื่นข้อเสนอตำแหน่งงานให้ หากยังสนใจที่จะร่วมงานกับบริษัท โดย 3 จาก 8 คน ตอบตกลงเข้ามาทำงาน ขณะที่บริษัทออกมายืนยันเรื่องการปลดเจ้าหน้าที่ระดับผู้จัดการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องอื้อฉาวออกทั้งหมด
ประธานาธิบดีมุนแจอิน ตระหนักถึง "ความจริงที่น่าละอาย” ตรงนี้และให้สัญญาว่าปัญหานี้จะต้องได้รับการแก้ไข
เกาหลีใต้ยังคงเป็นประเทศที่อยู่ภายใต้วัฒนธรรมที่ผู้ชายเป็นใหญ่อย่างเข้มข้น โดยยังมีการวางบทบาทและหน้าที่ขึ้นอยู่กับเพศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการเลี้ยงดูบุตร
ในกรณีนี้ศาลฎีกากล่าวว่ากรณีซีอีโอบริษัทเคจีเอสมองว่าการรับผู้หญิงเข้ามาทำงาน "อาจจะกระทบกับการดำเนินการธุรกิจที่ต่อเนื่องอันเนื่องมาจากการลาคลอดบุตร”
ผลสำรวจจาก 'อินครูท' บริษัทด้านการรับสมัครงาน ในปี 2559 พบว่า 1 ใน 4 ของเพศหญิงถูกถามถึงแผนการแต่งงาน รวมไปถึงการมีลูกในการสัมภาษณ์เข้าทำงาน ภายใต้กฏหมายเกาหลีใต้นั้น หากผู้หญิงถูกไล่ออกเนื่องจากแต่งงาน ตั้งครรภ์ หรือมีบุตร บริษัทอาจต้องโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี หรือเสียค่าปรับถึง 26,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 831,000 บาท
“สังคมของเราถูกครอบงำด้วยคตินิยมในบทบาทของเพศ เพศชายมีหน้าที่หาเลี้ยงครอบครัว ขณะที่เพศหญิงอยู่บ้านเลี้ยงลูกและทำงานบ้าน นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม ยังมีการเหยียดเพศในการสมัครงานและจะยังมีต่อไป” ชเวมีจิน ประธานศูนย์กฏหมายสนับสนุนแรงงานสตรี กล่าว
ถึงแม้บริษัทที่กระทำการเช่นนี้จะถูกพบความผิดจริง โทษที่แท้จริงก็ไม่ได้ระคายเคืองบริษัทแต่อย่างใด กรณีธนาคารกุกมิน หลังศาลพบว่าบริษัทมีความผิดในการปฏิเสธผู้เข้าสมัครเพศหญิงจำนวน 112 คนโดยมิชอบ โทษที่ธนาคารได้รับคือการเสียค่าปรับเพียง 4,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 141,000 บาท
'พักกวีชอน' ศาสตราจารย์ด้านกฏหมายกล่าวว่า ด้วยเหตุนี้ บรรดาบริษัทจึงมีแนวคิดที่ว่า "ฉันยอมจ่ายค่าปรับ (ที่ไม่แพง) และทำสิ่งที่อยากทำดีกว่า"
สมัครงานว่ายากแล้ว การที่ผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งถูกเหยียดเพศจะฟ้องร้อง ดูจะยากกว่ากันหลายเท่า แม้ว่าหน่วยงานที่ตรวจสอบเรื่องการเหยียดเพศนั้นประกอบไปด้วย คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และกระทรวงแรงงานและการจ้างงาน อย่างไรก็ตาม มีเพียงกระทรวงแรงงานและการจ้างงานเท่านั้นที่มีอำนาจในการสั่งการลงโทษ
"เอกสารที่เกี่ยวกับทรัพยากรมนุษย์แทบทั้งหมดไม่มีการเปิดเผย จึงแทบไม่รู้เลยว่าประชาชนคนหนึ่งจะสามารถขอเอกสารอะไรได้บ้าง" พักกวีชอน กล่าว
พักกล่าวต่อไปว่า มีหลายกรณีที่เอกสารไม่เพียงพอทำให้บริษัทที่ถูกฟ้องร้องได้รับบทลงโทษเพียงเล็กน้อย ส่งผลให้ผู้หญิงจำนวนมาก ไม่กล้าแม้จะเปิดเผยเรื่องการเหยียดเพศ เนื่องจากกลัวผลที่จะตามมาหรือการหางานที่ยากขึ้นในอนาคตถ้าเกิดทำให้การเหยียดเพศเป็นเรื่องสาธารณะ
เหยื่อการเหยียดเพศวัย 23 ปีรายหนึ่ง ซึ่งขอไม่เปิดเผยนามกับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น กล่าวว่า เธอไม่กล้าที่จะเปิดเผยหรือฟ้องร้องการเหยียดเพศ เนื่องจากได้ยินมาว่าเคยมีผู้หญิงที่ทำแบบนั้นแล้ว "ถูกลดตำแหน่งหรือไม่ก็ถูกย้ายไปยังตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม"
"ถึงฉันจะเรียกร้องไปมันก็ไม่มีผลอยู่ดี ฉันจะกลายเป็นตัวประหลาดไปเสียเปล่าๆ" เหยื่อรายหนึ่ง กล่าว
แม้ว่าอุปสรรคที่เพศหญิงต้องเอาชนะมีมากมายเหลือเกิน แต่ผู้หญิงหลายคนเริ่มออกมามีปากเสียง กดดันให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังมากขึ้น มีทั้งในกรณีแฮชแท็ก #MeToo และการต่อสู้ของภาคสตรีต่อการแอบถ่ายอย่างผิดกฏหมายและการตีความมาตรฐานความสวยของเพศหญิง
ตั้งแต่ช่วงหน้าร้อนที่แล้ว บริษัทที่อยู่ภายใต้รัฐบาลถูกบังคับให้เปิดเผยสัดส่วนผู้สมัครงานเพศชายและหญิง ขณะที่ธนาคารต่างๆ ต้องเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานเพื่อเป็นการป้องการการเหยียดเพศในการรับสมัครงาน
กระทรวงความเท่าเทียมทางเพศและครอบครัวแถลงเกี่ยวกับแนวทาง "ความเสมอภาคทางเพศในการจ้างงาน" ว่าจะสามารถบังคับใช้กับบริษัทเอกชนได้ภายในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
ขณะที่กฏหมายเพิ่มการลงโทษต่อบริษัทที่พบว่ามีการเหยียดเพศในการสมัครงานกำลังอยู่ภายใต้การพิจารณาของคณะกรรมการ หากผ่าน โทษปรับพื้นฐานจะขึ้นมาอยูุ่ที่ 27,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 846,000 บาท และจำคุกไม่เกิน 5 ปี
แม้การปรับเปลี่ยนทางกฏหมายจะเป็นส่วนสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือภาคสังคมซึ่งดูเหมือนว่าจะไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับสังคมเกาหลีใต้
"ฉันคิดว่านี่คือประเทศที่ทัศนคติด้านสังคมไม่ได้เปลี่ยนกันง่ายๆ มันมีอุปสรรคมากมายแต่ก็มีสิ่งหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้ คือคุณไม่สามารถเปลี่ยนสิ่งที่อยู่ภายในจิตใต้สำนึกของคนได้" เหยื่อการเหยียดเพศวัย 23 ปี กล่าว
ความไม่เท่าเทียมทางเพศเป็นสิ่งที่อยู่คู่มนุษย์โลกมายาวนานเหลือเกิน จนดูเหมือนว่ามันจะไม่จากเราไปไหน หลายฝ่ายต่างพยายามออกมาเรียกร้อง ให้ข้อมูลอ้างงานวิจัยมากมายถึงผลกระทบต่อภาคสังคม แต่ก็ไม่ช่วยให้ก้าวไปข้างหน้าเท่าไหร่นัก เพราะว่าหลายฝ่ายที่ว่านั้นก็คือฝ่ายเพศหญิงเกือบทั้งหมด
สุดท้ายแล้วมนุษยชาติคงไม่สามารถไปถึงความฝันของความเท่าเทียมได้ ถ้าเพศชายไม่ให้ความร่วมมือ และยอมถอยจากสิทธิพิเศษที่เคยได้รับมาตั้งแต่บรรพบุรุษ
แต่อ้อยเข้าปากช้างไปแล้ว ช้างจะยอมคลายจริงหรือ
อ้างอิง; CNN, World Bank, OECD, World Economic Forum