ไม่พบผลการค้นหา
กลุ่มธุรกิจเพื่อสังคมอินเดีย ตั้งเป้าปลูกป่าที่ 'บังกาลอร์' หวังเปลี่ยนเมืองไอทีให้กลายเป็นป่าสีเขียวในเมือง หลังเคยทดลองปลูกต้นไม้ในกรุงนิวเดลีมาก่อนจนได้รับเสียงสนับสนุนจากภาครัฐ หวังช่วยบรรเทาปัญหามลพิษทางอากาศ

Afforestt (แอฟฟอเรสต์) กลุ่มธุรกิจเพื่อสังคมซึ่งก่อตั้งขึ้นในอินเดียเมื่อปี 2554 ประกาศเป้าหมายว่าจะปลูกต้นไม้ในเมืองบังกาลอร์ รัฐกรณาฏกะ ทางใต้ของอินเดีย เพื่อสร้างพื้นที่ป่า ให้แก่เมืองที่ถูกตั้งฉายาว่า 'ซิลิคอนแวลลีย์แห่งอินเดีย' เพราะเป็นศูนย์กลางธุรกิจด้านไอทีและเทคโนโลยีต่างๆ

สุเภนดู ชาร์มา อดีตวิศวกรชาวอินเดียที่เคยทำงานให้กับบริษัทโตโยต้า เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและประธานบริหาร Afforestt เปิดเผยกับเว็บไซต์ CNBC ว่าโครงการดังกล่าวเป็นการปลูกป่าเชิงระบบนิเวศ หรือที่เรียกกันว่าการปลูกป่าแบบมิยะวะกิ เพื่อเป็นเกียรติแก่ 'อาคิระ มิยะวะกิ' นักพฤกษศาสตร์ชาวญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มทฤษฎีปลูกป่าเชิงระบบนิเวศ

วิธีปลูกป่าแบบมิยะวะกิเน้นการปลูกพันธุ์ไม้ในท้องถิ่น และปลูกแบบคละกันไม่เป็นแถวเป็นแนว เพื่อให้เกิดการลดหลั่นคล้ายโครงสร้างนิเวศป่าไม้ตามธรรมชาติ

ชาร์มาระบุว่า โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากที่ปรึกษาของรัฐบาลท้องถิ่น ทั้งยังมีเครือข่ายองค์กรปลูกป่าในหลายประเทศทั่วโลกที่พร้อมช่วยเหลือในด้านต่างๆ แต่ยังไม่อาจระบุได้ว่าการลงมือทำจะเริ่มขึ้นได้เมื่อไหร่ เพราะสถานการณ์ในช่วงนี้ยังไม่แน่นอน

ขณะที่ ไศลยา ไวทยา คุปตา ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ทั่วไปของรัฐบาลอินเดีย ระบุว่า การลงทุนในการปลูกต้นไม้เพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวอาจต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในระยะแรก แต่เชื่อว่าจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าในระยะยาว ซึ่ง BloombergQuint รายงานว่า โครงการนี้ถูกผลักดันให้เกิดขึ้นที่กรุงนิวเดลีในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพื่อหวังแก้ปัญหามลพิษและฝุ่นละอองขนาดเล็กซึ่งทวีความรุนแรงจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพของคนในสังคม

ขั้นตอนก่อนจะเริ่มลงมือปลูกป่า ทีมงานและเครือข่าย Afforrestt จะต้องเก็บรวบรวมเมล็ดพันธุ์พืชท้องถิ่นเพื่อเตรียมเพาะกล้าและนำไปปลูกป่าในภายหลัง ซึ่งจะต้องแบ่งประเภทว่าพืชชนิดใดที่จะเป็น เรือนยอดชั้นบนสุด เรือนยอดชั้นรอง หรือชั้นพืชคลุมดิน ซึ่งถ้าคำนึงถึงความหลากหลายของสายพันธุ์พืชในท้องถิ่นก็อาจต้องใช้เวลารวบรวมระยะหนึ่ง

ทั้งนี้ หลายประเทศหันมาใช้วิธีปลูกป่าเชิงระบบนิเวศ หรือปลูกป่าแบบมิยะวะกิกันมากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ประเทศไทยก็มีการสนับสนุนวิธีปลูกป่าในทฤษฎีนี้ โดยมติชนรายงานอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของนายจเรศักดิ๋ นันตะวงษ์ รองอธิบดีกรมป่าไม้ ซึ่งระบุว่า การปลูกป่าประเภทนี้เกิดขึ้นครั้งแรกที่สวนผึ้ง จ.ราชบุรี พบว่าต้นไม้เจริญเติบโตได้ดีจึงขยายผลไปสู่พื้นที่อื่นๆ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: