ไม่พบผลการค้นหา
คลื่นความร้อนรุนแรงแผ่ปกคลุมทั่วเอเชีย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและต้องมีการปิดโรงเรียนในอินเดีย รวมไปถึงอุณหภูมิที่สูงจนทำลายสถิติในจีน ทั้งนี้ มักซิมิเลียโน เอร์เรรา นักภูมิอากาศวิทยาและนักประวัติศาสตร์สภาพอากาศ อธิบายว่าอุณหภูมิที่สูงผิดปกตินี้ เป็น “คลื่นความร้อนในเดือน เม.ย.ที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์เอเชีย”

ในประเทศจีน สื่อท้องถิ่นรายงานว่ามีการพบอุณหภูมิที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือน เม.ย. ณ หลายพื้นที่ รวมถึงเฉิงตู เจ้อเจียง หนานจิง หางโจว และพื้นที่อื่นๆ ของภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี

นอกจากนี้ ยังมีรายงานอุณหภูมิที่ร้อนผิดปกติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา รวมถึงในหลวงพระบาง ประเทศลาว ซึ่งทำสถิติไว้ที่ 42.7 องศาเซลเซียสในสัปดาห์นี้ นับเป็นอุณหภูมิที่อาจนับได้ว่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ ทั้งนี้ ตามรายงานของเอร์เรรา เวียงจันทน์ยังมีรายงานบันทึกอุณภมูิสูงสุดที่ 41.4 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นวันที่ร้อนที่สุดสำหรับเมืองหลวงในวันเสาร์ที่ผ่านมา (15 เม.ย.) 

ในอีกทางหนึ่งที่ประเทศไทย สถานีตรวจวัดของรัฐบาลในจังหวัดตากทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ พบรายงานอุณหภูมิเมื่อวันเสาร์ได้ที่ 45.4 องศาเซลเซียส นับเป็นการทำลายสถิติสูงสุดก่อนหน้านี้ที่ 44.6 องศาเซลเซียส ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนเมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2559 ทั้งนี้ บันทึกดังกล่าวยังไม่ถูกนับอย่างเป็นทางการโดยรัฐบาลไทย อย่างไรก็ดี มีการรายงานอุณหภูมิในจังหวัดตากที่ 44.6 องศาเซลเซียส

ในบังคลาเทศ ประเทศอันดับต้นๆ ที่ประสบกับวิกฤตสภาพอากาศ มีรายงานอุณหภูมิเมื่อวันเสาร์ในกรุงธากาที่พุ่งสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นวันที่ร้อนที่สุดในรอบ 58 ปี ทำให้ผิวถนนละลาย ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่จากกระทรวงสิ่งแวดล้อม ป่าไม้ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กล่าวว่า หากความร้อนไม่ลดลง พวกเขาจะประกาศภาวะฉุกเฉินด้านอุณหภูมิในบางพื้นที่

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อินเดียมีความเสี่ยงเป็นพิเศษต่อสภาพอากาศร้อนจัด และผู้เชี่ยวชาญเกรงว่าในปีนี้อาจเลวร้ายยิ่งกว่าเดิม ทั้งนี้ คลื่นความร้อนในเดือน เม.ย.ได้เข้าปกคลุมบางรัฐของอินเดีย โดยในสัปดาห์นี้ กรมอุตุนิยมวิทยาอินเดียได้ออกคำเตือนสีส้ม ถึงคลื่นความร้อนรุนแรงในพื้นที่บางส่วนของรัฐพิหาร ฌาร์ขัณฑ์ โอริสสา อานธรประเทศ และเบงกอลตะวันตก ซึ่งทุกรัฐเป็นรัฐที่มีคนงานในชนบทและผู้ใช้แรงงานในสัดส่วนที่สูง ที่จะต้องออกไปทำงานนอกบ้าน แม้อุณหภูมิและความชื้นจะอยู่ในระดับสูงรุนแรงก็ตาม

6 เมืองในพื้นที่ภาคเหนือและตะวันออกของอินเดีย มีอุณหภูมิสูงกว่า 44 องศาเซลเซียส ในขณะที่เมืองหลวงอย่างเดลีมีอุณหภูมิสูงถึง 40.4 องศาเซลเซียสในวันอังคาร (18 เม.ย.) ทั้งนี้ มีการคาดว่าคลื่นความร้อนจะคงมีต่อไปจนถึงวันศุกร์ (21 เม.ย.) เป็นอย่างน้อย

กรมอุตุนิยมวิทยาของอินเดียกล่าวเมื่อวันอังคารว่า “สภาวะคลื่นความร้อนมีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไปเหนือรัฐเบงกอลตะวันตก และบางส่วนของรัฐพิหารในอีก 4 วันข้างหน้า ดังนั้นเราจึงออกการแจ้งเตือนสีส้มสำหรับภูมิภาคนี้ เนื่องจากความชื้นและอุณหภูมิสูง ประชาชนควรใช้มาตรการป้องกัน ภูมิภาคนี้มีแนวโน้มที่จะเห็นการเคลื่อนตัวของพายุฝนฟ้าคะนองตั้งแต่วันที่ 5 ซึ่งสภาวะคลื่นความร้อนอาจทุเลาลง”

อุณหภูมิที่สูงในอินเดียส่งผลให้โรงเรียนต้องปิดในบางรัฐ ในขณะที่มีผู้เสียชีวิต 13 คน และอีก 8 คนได้รับการรักษาทางการแพทย์เนื่องจากโรคลมแดด หลังงานประกาศรางวัลที่จัดขึ้นกลางแจ้งในรัฐมหาราษฏระ

มหาตา บาเนอร์จี มุขมนตรีของรัฐเบงกอลตะวันตก สั่งปิดโรงเรียนทุกแห่งในรัฐในสัปดาห์นี้ เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับความร้อนที่รุนแรง และยังมีการเรียกร้องให้สถาบันการศึกษาเอกชนใช้มาตรการเดียวกัน ทั้งนี้ เธอกล่าวตามสื่อท้องถิ่นว่า เด็กๆ ต่างประสบปัญหาด้านสุขภาพ อาทิ อาการปวดหัวเนื่องจากความร้อน โดยในสัปดาห์นี้ โรงเรียนในตริปุระและโอริสสาปิดก็ถูกสั่งปิดเช่นกัน ในขณะที่โรงเรียนในเดลีจะไม่จัดการรวมแถวในช่วงบ่ายอีกต่อไป

สภาพอากาศที่ร้อนผิดปกติยังก่อให้เกิดคำเตือนด้านสุขภาพในประเทศไทย โดยกรมอนามัยเตือนถึงความเสี่ยงต่อโรคลมแดดหรือฮีทสโตรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ออกกำลังกายหรือทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานานหลายชั่วโมง เช่น คนงานก่อสร้างและเกษตรกร ทั้งนี้ มีความหวั่นวิตกว่าอุณหภูมิในประเทศไทยจะสูงต่อเนื่องกว่าฤดูร้อนปกติ อันจะส่งผลให้เกิดภัยแล้งและการเก็บเกี่ยวพืชผลที่ล้มเหลว

“สถานีหลายร้อยแห่งในกว่าสิบประเทศมีสถิติที่ถล่มทลาย” เอร์เรรากล่าว โดยยกตัวอย่างเมืองกะเล่วะทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมียนมา ซึ่งมีอุณหภูมิแตะ 44 องศาเซลเซียส นับเป็นสถิติในเดือน เม.ย. และจังหวัดเซินลาทางตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม ซึ่งมีอุณหภูมิถึง 38 องศาเซลเซียส เป็นสถิติของทุกเดือน

ยังมีรายงานอุณหภูมิในญี่ปุ่นพุ่งสูงกว่า 30 องศาเซลเซียส โดยที่พื้นที่มินามาตะในจังหวัดคุมาโมโตะสูงถึง 30.2 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดในเดือน เม.ย.ของพื้นที่ดังกล่าว ยังมีการบันทึกอุณหภูมิที่สูงผิดปกติในเดือนนี้ในเอเชียกลาง รวมทั้งที่ทาราซในคาซัคสถานที่อุณหภูมิ 33.6 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดในเดือน เม.ย. รวมถึงในเติร์กเมนิสถานและอุซเบกิสถาน


ที่มา:

https://www.theguardian.com/weather/2023/apr/19/severe-heatwave-asia-deaths-schools-close-india-china?CMP=Share_AndroidApp_Other&fbclid=IwAR2tB6zSYVh-VPCK4yDYuO9Vf2DMMFNKifNKMN-CAYzOE8LyTzDw1JrQGc0