ไม่พบผลการค้นหา
พายุ ‘เตี้ยนหมู่’ ถล่มหนัก จนทำให้น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหล ดินถล่มกระทบพื้นที่หลายจังหวัด ด้านชาวสุโขทัยชี้เหตุน้ำท่วมหนักเกิดจากมีการสร้างคลอง อ่างเก็บน้ำ เขื่อน ฝาย ขวางเส้นทางไหลของน้ำตามธรรมชาติ

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานสถานการณ์เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2564 ว่า พายุดังกล่าวกระทบพื้นที่ 26 จังหวัด รวม 84 อำเภอ 219 ตำบล 908 หมู่บ้าน 5 เขตเทศบาล คาดมีประชาชนได้รับผลกระทบ 18,753 ครัวเรือน 

ทั้งนี้ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 14 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 12 จังหวัด

ได้แก่ พิจิตร ชัยภูมิ นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา สุโขทัย ชัยนาท นครสวรรค์ สิงห์บุรี ขอนแก่น ลำปาง ลำพูน และอุบลราชธานี 


สุโขทัยน้ำท่วมหนักในรอบ 10 ปี 

เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2564 สื่อหลายสำนักนำเสนอภาพน้ำท่วมเอ่อล้มเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน ย่านธุรกิจการค้าของ 9 อำเภอในจังหวัดสุโขทัย 

มีรายงานข่าวว่าบางพื้นที่น้ำท่วมสูงถึงเกือบ 2 เมตร บางจุดสูงมากกว่า 3 เมตร 

ประชาชนกับเจ้าหน้าที่อาสากู้ภัยต้องช่วยกันขนย้ายสิ่งของหนีน้ำ อีกทั้งประชาชนต้องสัญจรโดยใช้เรือ

โดยภาพรวมสุโขทัยได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมครั้งนี้ 9 อำเภอ 56 ตำบล 288 หมู่บ้าน พื้นที่การเกษตร 169,297 ไร่ บ่อปลา 1,326 ไร่ ถนน 118 สาย สะพาน 6 แห่ง ท่อระบายน้ำ 7 แห่ง ตลิ่ง/คันกั้นน้ำ 6 แห่ง ฝาย 9 แห่ง

ผู้ประสบภัยน้ำท่วมรายหนึ่งกล่าวว่ากับผู้สื่อข่าวว่า น้ำท่วมสุโขทัยครั้งนี้ถือว่าเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมที่หนักสุดในรอบ 9 - 10 ปี เนื่องจากน้ำท่วมใหญ่ลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2554 

น้ำท่วมบ้านเรือนและพื้นที่ทำการเกษตรเสียหายเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะน้ำไหลมาแรงมาก ทำให้ประชาชนหลายครอบครัวเตรียมตัวอพยพหนีน้ำไม่ทัน แม้หน่วยงานราชการจะแจ้งเตือนระวังน้ำท่วมฉับพลัน 

สาเหตุที่น้ำท่วมสุโขทัยหนักครั้งนี้คาดเกิดจากฝนตกหนักหลายวันทำให้น้ำที่เอ่อล้นอ่างเก็บน้ำแม่มอก อ.เถิน จ.ลำปาง ซึ่งเป็นพื้นที่ทางตอนใต้ของ จ.ลำปาง ได้รับน้ำจากน้ำป่าบนยอดเขาเขตอุทยานแห่งชาติเวียงโกศัยและอุทยานแห่งชาติแม่วะ 

ซึ่งทำให้อ่างเก็บน้ำแม่มอก มีปริมาณน้ำที่เต็มเกินความจุและล้นสปิลเวย์ต่อเนื่อง จนไหลมาสมทบกับน้ำในคลองแม่รำพันในพื้นที่ จ.สุโขทัย ที่มีปริมาณสูงขึ้นเนื่องจากฝนตกหนักรายวัน จนทำให้ระบบผันน้ำในคลองไม่สามารถผันน้ำปริมาณมหาศาลลงสู่แม่น้ำยมได้ จึงเกิดน้ำเอ่อล้มท่วมเมืองสุโขทัย เช่น อ.เมือง อ.ศรีสำโรง ที่เป็นพื้นที่ท้องกระทะรับน้ำจากทุกด้าน


คลอง อ่างเก็บน้ำ เขื่อน ฝาย ขวางเส้นทางไหลของน้ำตามธรรมชาติ

ข้อสังเกตของผู้ใช้ชื่อเฟซบุ๊ก ‘Kawin Kankeow’ เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2564 ที่ตั้งข้อสังเกตถึงสาเหตุน้ำท่วมสุโขทัยที่รุนแรงครั้งนี้ว่า อาจเกิดจากการ ‘ลุกล้ำแม่น้ำลำคลอง’ สร้างคลอง อ่างเก็บน้ำ เขื่อน ฝาย หวังแก้เก็บน้ำไว้ใช้ช่วงฤดูแล้ง แต่กลับสร้างปัญหาคือการกีดขว้างเส้นทางไหลของน้ำตามธรรมชาติจนอาจเป็นสาเหตุทำให้น้ำท่วมใหญ่สุโขทัยครั้งนี้ 

ข้อความระบุว่า ก่อนหน้านี้ผมคิดว่าปีนี้สุโขทัยไม่น่าจะมีน้ำท่วมเพราะช่วงต้นฤดูฝนมีฝนตกน้อยเหลือเกิน แต่เผลอแป๊บเดียวน้ำท่วมหนักมาก ที่ผ่านมาสุโขทัยมักประสบปัญหาน้ำท่วมจากการล้นตลิ่งของแม่น้ำยม แต่คราวนี้เกิดเพราะมวลน้ำมหาศาลจากคลองแม่รำพันและแม่มอก ทั้งสองกรณีมีต้นเหตุมาจากปัญหาเดียวกันคือการลุกล้ำแม่น้ำลำคลองทำให้เส้นทางไหลของน้ำแคบลงหรือหายไปอย่างถาวร ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาหลายสิบปีจนยากที่จะแก้ไขให้ทางน้ำกลับไปเป็นเช่นเดิมได้

ข้อความระบุอีกว่า มีหลายคนคิดว่าการขุดลอกคลองและแม่น้ำที่เกิดปัญหาน้ำล้นตลิ่งคือการแก้ปัญหา คำตอบคือ ตราบเท่าที่ความกว้างของลำน้ำยังเท่าเดิม การขุดให้ลึกขึ้นอาจช่วยให้สามารถกักเก็บน้ำในช่วงฤดูแล้งได้มากขึ้นแต่ไม่ได้ช่วยให้ลำน้ำสามารถรองรับปริมาณน้ำมหาศาลช่วงน้ำท่วมได้ แถมยังอาจทำให้ตลิ่งพังอีกต่างหาก เช่นเดียวกับการสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำก็จะช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งมากกว่าที่จะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วม ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาน้ำท่วมของสุโขทัยมุ่งเน้นแต่การเสริมพนังให้ตลิ่งสูงขึ้น 

"นั่นคือการแก้ไขปัญหาระยะสั้นที่ไม่ได้ช่วยพื้นที่ทั้งหมด เพราะสุดท้ายพนังในจุดที่ต่ำหรือแข็งแรงน้อยกว่าจุดอื่นจะเป็นจุดที่แตกและน้ำก็จะไหลท่วมบริเวณนั้นในที่สุด" ข้อความระบุ

ข้อความระบุอีกว่า การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมสุโขทัยแบบยั่งยืนจำเป็นต้องเข้าใจลุ่มน้ำยมทั้งหมดอย่างแท้จริงไม่เฉพาะในจังหวัดสุโขทัยแต่ยังรวมถึงจังหวัดแพร่ พะเยา พิจิตร และพิษณุโลกอีกด้วย แต่แค่จังหวัดสุโขทัยผมเชื่อว่าหาคนที่รู้เส้นทางการไหลของน้ำทั้งระบบได้ยากเต็มที หรือเอาแค่คลองแม่รำพันผมก็เชื่อว่าแทบไม่มีใครรู้ว่ามีต้นกำเนิดมาจากไหน ไหลผ่านที่ไหน มีคลองสาขาตรงไหนบ้าง และไปสิ้นสุดที่ตรงไหน เช่นเดียวกับน้ำที่ไหลล้นออกมาจากอ่างเก็บน้ำแม่มอก ถ้าไปไล่ดูใน Google Maps ก็ไม่สามารถเห็นได้ว่าน้ำจากอ่างเก็บน้ำแม่มอกไหลไปทางไหน

ข้อความระบุอีกว่า ตัวอย่างการแก้ไขปัญหาจากความรู้ความเข้าใจในลุ่มน้ำ เช่น เรารู้แล้วว่าคลองแม่รำพันที่ล้นตลิ่งมีสาเหตุหลักมาจากปากคลองที่ไหลลงสู่แม่น้ำยมถูกบุกลุกจนความกว้างเหลือเพียงไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของคลองเดิม น้ำจึงไม่สามารถไหลลงสู่แม่น้ำยมได้อย่างสะดวก การแก้ไขปัญหาเมื่อน้ำในคลองแม่รำพันมีปริมาณมากแนวทางหนึ่งคือ การขุดลอกคลองสาขาของคลองแม่รำพันที่ไหลไปในพื้นที่การเกษตรซึ่งต้องการน้ำและมีอ่างเก็บน้ำรองรับ จะช่วยให้น้ำไหลเข้าเขตพื้นที่เมืองน้อยลงในขณะเดียวกันก็สามารถกักเก็บน้ำส่วนเกินไว้ใช้ประโยชน์ในภายหลังได้ แต่จะเลือกคลองไหนในพื้นที่ไหนต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจพื้นที่และการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่

"ครั้งหนึ่งผมมีโอกาสได้ไปเสวนาเรื่องลุ่มน้ำยมในรายการโทรทัศน์ของไทยพีบีเอส ผมได้ข้อคิดอย่างหนึ่งว่าการบริหารจัดการลุ่มน้ำไม่ควรเกิดจากการกำหนดนโยบายโดยภาครัฐเพียงอย่างเดียว การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้หาข้อสรุปซึ่งเกิดจากการมองอย่างรอบด้านเพื่อให้ได้แนวทางที่เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุด" ข้อความระบุ

เรียบเรียงจากรายงานข่าว

  • สำนักข่าวไทย
  • สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
  • The Reporters
  • หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ