คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ออกแถลงการณ์เพื่อแสดงความกังวลต่อโครงการพัฒนาเมืองช้างในพื้นที่แนวกันชนจังหวัดฉะเชิงเทรา ภายใต้โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติแควระบมและป่าสียัด แอ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา
30 มีนาคม 2566 คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ออกแถลงการณ์ถึง ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, อธิบดีกรมป่าไม้, องคมนตรี ในนามโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์, อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ และอธิบดีกรมการปกครอง เพื่อแสดงความกังวลต่อโครงการพัฒนาเมืองช้างในพื้นที่แนวกันชนจังหวัดฉะเชิงเทรา (Elephant Land) ภายใต้โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติแควระบมและป่าสียัด แปลงที่ RF111 หมู่ที่ 10 ต.คลองตะเกรา อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา ระบุว่า
เนื่องจากได้มีแนวทางพัฒนาพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแควระบมและป่าสียัด แปลงที่ RF111 ในพื้นที่ หมู่ที่ 10 ต.คลองตะเกรา อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาเมืองช้างในพื้นที่แนวกันชนจังหวัดฉะเชิงเทรา (Elephant Land) ภายใต้โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ โดยมีวัตถุประสงค์โครงการฯ 1) เพื่อกันพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่มีภูมิประเทศเหมาะสมสำหรับเป็นเมืองช้าง เนื้อที่ 8,687 ไร่ ในท้องที่ตำบลคลองตะเกรา อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งมีรอยต่อระหว่างจังหวัดฉะเชิงเทราและจังหวัดชลบุรี 2) เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติเกี่ยวกับช้างป่า และ 3) เพื่อแก้ไขปัญหาช้างทุ่งเดินหากินทำลายพืชผลและทำร้ายชีวิตของประชาชน ให้เข้ามาอยู่รวมกันในเมืองช้าง ซึ่งจะมีการดำเนินโครงการเมืองช้างฯ ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแควระบมป่าสียัด แปลงที่ RF111 หมู่ที่ 10 ต.คลองตะเกรา อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา ดังนี้
- สร้างแหล่งหากินของช้าง บนเนื้อที่ 6,000 ไร่
- สร้างที่อยู่อาศัยของช้าง บนเนื้อที่ 2,500 ไร่
- สร้างฝายต้นน้ำลำธาร จำนวน 10 แห่ง
- สร้างโป่งเทียม จำนวน 20 แห่ง
- ทำทางตรวจการและแนวป้องกันไฟป่า
- สร้างแนวป้องกันช้างออกนอกพื้นที่
- สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น อาคารสำนักงาน ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว อาคารนิทรรศการ จุดชมวิว ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน ลานจอดรถ และห้องน้ำ เป็นต้น
โดยในปี 2569 จะต้องมีเมืองช้างเกิดขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งห่างจากที่ว่าการอำเภอท่าตะเกียบเพียง 5 กิโลเมตรเท่านั้น และอยู่ห่างจากแนวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไนถึง 15 กิโลเมตร แม้ว่าในที่ประชุมเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2565 มีความคิดเห็นจากตัวแทนหน่วยงานภาครัฐหลายฝ่าย ถึงความไม่เหมาะสมในการดำเนินโครงการพัฒนาเมืองช้างฯ บนพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแควระบมป่าสียัด แปลงที่ RF111 แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2566 ยังได้มีการประชุมอีกครั้ง เพื่อรับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานของรัฐในระดับพื้นที่ โดยมี นายกุศล โชติรัตน์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธาน ซึ่งสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดฉะเชิงเทราได้นำเสนอในที่ประชุมถึงโครงการพัฒนาเมืองช้าง ในพื้นที่แนวกันชน จังหวัดฉะเชิงเทราว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาช้างป่าในระยะเร่งด่วน ควรจัดทำสถานที่ควบคุมช้างป่าที่มีพฤติกรรมดุร้าย โดยมีพื้นที่ที่เหมาะสมคือ บริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่าแควระบมและป่าสียัด แปลงที่ RF111 ซึ่งเป็นป่าเสื่อมโทรมจากการบุกรุกปลูกต้นยูคาลิปตัส และในระยะยาวควรพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศด้านช้างป่าต่อไป ขณะเดียวกันด้านสำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 6 ได้นำเสนอแผนในการดำเนินโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำพร้อมระบบกระจายน้ำในพื้นที่โครงการเมืองช้างฯ ด้วยเช่นกัน โดยแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำพร้อมระบบกระจายน้ำ ขนาดความจุ 1.3 ล้าน ลบ.ม. ช่วงที่ 2 ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำพร้อมระบบกระจายน้ำ ขนาดความจุ 2.3 ล้าน ลบ.ม. และช่วงที่ 3 ดำเนินการก่อสร้างฝายต้นน้ำพร้อมระบบกระจายน้ำไปยังแปลงปลูกป่า และในวันที่ 16 มีนาคม 2566 นายกุศล โชติรัตน์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะ ลงพื้นที่สำรวจพื้นที่ แปลงที่ RF111 เพื่อเตรียมการดำเนินโครงการพัฒนาเมืองช้างฯ ในพื้นที่แปลง RF111 นั้น
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) และภาคีเครือข่าย จึงขอแสดงความกังวลต่อการดำเนินโครงการพัฒนาเมืองช้างในพื้นที่แนวกันชนจังหวัดฉะเชิงเทรา (Elephant Land) ภายใต้โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแควระบมป่าสียัด แปลงที่ RF111 หมู่ที่ 10 ต.คลองตะเกรา อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา รวมถึงข้อเสนอแนะ ดังต่อไปนี้
- พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแควระบมป่าสียัด แปลงที่ RF111 ซึ่งมีชุมชนอาศัยอยู่และประกอบอาชีพเกษตรกรรมโดยรอบพื้นที่ ได้แก่ บ้านศรีเจริญทอง หมู่ที่ 10 จำนวน 339 ครัวเรือน บ้านหนองใหญ่ หมู่ที่ 15 จำนวน 321 ครัวเรือน บ้านวังหิน หมู่ที่ 4 จำนวน 478 ครัวเรือน บ้านกระบกคู่ หมู่ที่ 18 จำนวน 448 ครัวเรือน ในตำบลคลองตะเกรา และบ้านท่ากลอย หมู่ที่ 4 ตำบลท่าตะเกียบ ซึ่งเป็นที่ตั้งของตัวอำเภอท่าตะเกียบ ซึ่งมีประชาชนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น จำนวน 622 ครัวเรือน จึงมีความกังวลว่าในระยะยาวจะเกิดผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว หากไม่สามารถควบคุมช้างป่าที่อาศัยอยู่ในพื้นที่โครงการฯ ได้ เนื่องจากช้างป่าเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ที่ต้องการพื้นที่เดินทางหากินเป็นอาณาบริเวณที่กว้าง และสามารถเอาชนะอุปสรรคสิ่งกีดขวางได้เสมอ ซึ่งมีบทเรียนสำคัญจากจัดการช้างป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์เขาตะกรุบ จ.สระแก้ว ที่ไม่สามารถจัดการปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และควรทบทวนบทเรียนเพื่อปรับปรุงการบริหารจัดการและการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ก่อนที่จะพัฒนาและดำเนินโครงการเมืองช้างฯ ดังกล่าว
- ในการประเมินผลกระทบ ซึ่งโครงการเมืองช้างฯ ยังไม่มีการระบุในแผนยุทธศาสตร์อย่างชัดเจนว่าจะมีการประเมินผลกระทบอย่างไร เนื่องจากเป็นโครงการที่มีแนวโน้มที่จะสร้างผลกระทบในหลายด้าน ทั้งด้าน สิทธิมนุษยชน เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงเสนอให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบด้านต่าง ๆ ดังกล่าว
- ในการสร้างการมีส่วนร่วมยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนถึงการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างรอบด้านครบทุกมิติ ทั้งการร่วมรับรู้ ร่วมคิด ร่วมออกแบบวางแผน ร่วมตัดสินใจ ร่วมรับผล และร่วมตรวจสอบถ่วงดุล อันเป็นหลักการขั้นพื้นฐานของกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งภาคประชาชน ภาคประชาสังคม นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรอิสระ และภาครัฐ จึงเสนอให้สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงและรอบด้านครบทุกมิติ รวมถึงการบังคับใช้ มาตรา 52 แห่งพรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 เพื่อให้เกิดการจัดรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชนอย่างโปร่งใสและตรงไปตรงมา
- การสร้างถิ่นที่อยู่อาศัยและพื้นที่หากินของช้างป่านอกเขตป่าอนุรักษ์ จะทำให้เกิดการเพิ่มปัจจัยดึงดูดช้างป่าออกมาจากป่าอนุรักษ์ผืนใหญ่มากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะหน่วงให้ช้างป่าที่อยู่อาศัยหากินนอกป่าอนุรักษ์กลับเข้าป่าอนุรักษ์ผืนใหญ่ช้าลงหรืออาจไม่กลับเลย ซึ่งอาจจะสร้างความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าเพิ่มมากขึ้น จึงเสนอให้ทบทวนการใช้พื้นที่แปลง RF111 ในการดำเนินโครงการ ฯ เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสี่ยงและผลกระทบในอนาคต
- เนื่องจากพื้นที่แปลง RF111 อยู่ระหว่างสวนป่าลาดกระทิงกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน หากมีการดำเนินโครงการฯ จะกลายเป็น Corridor ที่เชื่อมเส้นทางช้างป่าจากป่าอนุรักษ์ออกมาหากินนอกป่าอนุรักษ์ไกลขึ้นจนไม่สามารถควบคุมได้ จึงเสนอให้ทบทวนพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2542 ที่ว่า "ช้างป่าควรอยู่ในป่า เพียงแต่ต้องทำให้ป่านั้นมีอาหารช้างเพียงพอ การปฏิบัติคือ ให้ไปสร้างอาหารในป่าเป็นแปลงเล็ก ๆ และกระจาย”
- ช้างป่าที่พบนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ล้วนแล้วแต่เป็น “ช้างป่า” ที่ออกมาจากป่าอนุรักษ์ทั้งสิ้น มิใช่ “ช้างทุ่ง” ดังที่โครงการฯ นิยามว่า เป็นช้างที่เกิดและอาศัยอยู่นอกป่าอนุรักษ์ที่ไม่สามารถผลักดันเข้าไปในป่าอนุรักษ์ได้ ซึ่งจะสร้างความสับสนต่อสังคม จนเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง ซึ่งจะนำไปสู่การสนับสนุนโครงการฯ ของสังคม โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว
- อีกทั้งเมื่อตรวจสอบพื้นที่แปลง RF111 พบว่ามีพื้นที่จำนวน เนื้อที่ 2,002 ไร่ ถูกนำไปเอื้อประโยชน์ให้กลับกลุ่มทุนพลังงานเพื่อใช้ปลูกป่าเพื่อชดเชยการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon credit) ซึ่งทาง กป.อพช. และภาคีเครือข่าย เห็นว่าเป็นการฟอกเขียวให้กับกลุ่มทุนพลังงานที่ไม่คิดจะลดหรือหยุดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างแท้จริง ขณะที่นโยบายโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG) ยังคงเป็นที่ถกเถียงของสังคมด้านความไม่เป็นธรรมหลายประเด็น จึงเสนอให้ทบทวนการพิจารณาในการใช้พื้นที่เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนพลังงานดังกล่าว
ด้วยเหตุผลทั้ง 7 ประการนี้ ทาง คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) และภาคีเครือข่าย จึงเกิดข้อกังวลต่อการพัฒนาโครงการเมืองช้างฯ ดังกล่าว และขอให้หน่วยงานผู้มีส่วนร่วมพัฒนาโครงการฯ ได้โปรดเข้าใจถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และพิจารณาถึงหลักการจัดการสัตว์ป่าบนหลักวิชาการ การมีส่วนร่วม และสวัสดิภาพของคนและสัตว์ป่าในระยะยาว ซึ่งที่ผ่านมาเราได้มีการเสนอให้มีการจัดการความสมดุลระหว่างจำนวนประชากรช้างป่ากับพื้นที่รองรับที่เหมาะสมต่อจำนวนประชากร (Carrying Capacity) โดยการควบคุมการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร พร้อม ๆ กับการพัฒนาศักยภาพพื้นที่รองรับที่เหมาะสมต่อจำนวนประชากรในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของกลุ่มป่าตะวันออก (Eastern Forest Complex) ทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ มาโดยตลอด