เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 17 พ.ย. 2565) ที่ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หารือทวิภาคีกับ เอมานูว์แอล มาครง (H.E. Mr. Emmanuel Macron) ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ในโอกาสเดินทางเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ในฐานะแขกพิเศษของเจ้าภาพ (Guest of the Chair) ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญของการหารือ ดังนี้
นายกรัฐมนตรียินดีที่ได้พบหารือกับประธานาธิบดีฝรั่งเศสอีกครั้ง ชื่นชมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฝรั่งเศสที่มีพลวัตอย่างต่อเนื่อง และเชื่อมั่นว่าการเยือนครั้งนี้ จะช่วยขับเคลื่อนความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกันให้แน่นแฟ้นและเกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม และในโอกาสการเป็นเจ้าภาพการประชุม APEC 2022 ไทยขอรับการสนับสนุนจากฝรั่งเศสในฐานะสมาชิก G7 และ G20 ในการขับเคลื่อนวาระสำคัญของไทย ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะได้หารือร่วมกันในช่วงการประชุมฯ ด้วย
ประธานาธิบดีฝรั่งเศสขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี พร้อมทั้งชื่นชมความร่วมมือระหว่างไทยกับฝรั่งเศสที่มีความคืบหน้าในหลาย ๆ ด้าน แม้ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะความร่วมมือด้านอวกาศ ในการพัฒนาดาวเทียมธีออส 2 โอกาสนี้ ประธานาธิบดีฝรั่งเศสชื่นชมนายกรัฐมนตรีและประเทศไทยในโอกาสการเป็นเจ้าภาพการประชุม APEC 2022 โดยประเด็นความร่วมมือของ APEC ในแง่การค้าและการลงทุน การรักษาสันติภาพ และสิ่งแวดล้อม เป็นประเด็นที่สอดคล้องกับสิ่งที่ฝรั่งเศสต้องการผลักดัน ยืนยันสนับสนุนประเด็นที่ไทยต้องการผลักดัน
โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับประเด็นความร่วมมือที่สำคัญร่วมกัน ดังนี้
การจัดทำความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางราชการไทย - ฝรั่งเศส นายกรัฐมนตรีขอให้ฝรั่งเศสเร่งรัดการดำเนินการดังกล่าวให้มีความคืบหน้า ซึ่งจะช่วยให้การเดินหน้าความสัมพันธ์เป็นไปด้วยความสะดวก โดยประธานาธิบดีฝรั่งเศสพร้อมเร่งรัดการดำเนินการคาดว่าภายในเดือน ม.ค. 2566 จะมีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม
ด้านความมั่นคง นายกรัฐมนตรียินดีกับความร่วมมือทางการทหารที่ใกล้ชิด บนพื้นฐานของความเชื่อมั่นและไว้วางใจ ตลอดจนยินดีที่ฝรั่งเศสให้ความสำคัญกับภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก รวมถึงไทย โดยนายกรัฐมนตรีพร้อมเร่งรัดการจัดตั้งกลไกการหารือ 2+2 dialogue ไทย - ฝรั่งเศส เพื่อหารือในประเด็นท้าทายด้านความมั่นคง ด้านประธานาธิบดีฝรั่งเศสเห็นว่า ไทยกับฝรั่งเศสมีศักยภาพที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือด้านความมั่นคง โดยเฉพาะการส่งเสริมความเชื่อใจและความใกล้ชิดระหว่างทหารของทั้งสองฝ่าย การสร้างฐานอุตสาหกรรมในประเทศไทย การแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการวิจัยทางทะเล เป็นต้น
ด้านเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายยินดีกับความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง และเห็นพ้องกันว่า ทั้งสองฝ่ายยังมีศักยภาพที่จะขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันได้อีกมาก โดยรัฐบาลไทยได้ปรับนโยบายที่เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ผ่านโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งสอดคล้องกับแผนปฏิรูปสีเขียวของ EU จึงเป็นโอกาสดีที่ทั้งสองฝ่ายจะสนับสนุนการส่งออกสินค้าสิ่งแวดล้อมและการลงทุนในธุรกิจสีเขียว ไทยร่วมกับสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคลดอัตราภาษีนำเข้าทั่วไปสำหรับรายการสินค้าสิ่งแวดล้อมจำนวน 54 รายการ นายกรัฐมนตรีจึงเชิญชวนให้ฝรั่งเศสใช้ประโยชน์จากนโยบายดังกล่าว ด้านประธานาธิบดีฝรั่งเศสพร้อมมีความร่วมมือกับไทยในด้านการผลิตและพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเกษตรกรรม ตลอดจนพร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการพัฒนา EEC
ด้านการศึกษาและวิชาการ ไทยกับฝรั่งเศสมีความร่วมมือในด้านการศึกษามาอย่างยาวนาน โดยประธานาธิบดีฝรั่งเศสพร้อมสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนนักศึกษา นักวิชาการ และนักวิจัยระหว่างกันมากขึ้น ซึ่งในปีหน้าคาดว่าทั้งสองฝ่ายจะสามารถลงนามในความตกลงด้านการศึกษาระหว่างกันได้ ซึ่งจะทำให้ความร่วมมือของทั้งสองประเทศมีความใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น
สำหรับการสมัครเป็นเจ้าภาพจัดงาน Expo 2028 ที่จังหวัดภูเก็ต ของไทย นายกรัฐมนตรีขอรับการสนับสนุนจากฝรั่งเศสสำหรับการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งการจัดงาน Expo 2028 – Phuket Thailand ในเดือนมิถุนายน 2566 ระหว่างช่วงการประชุมสมัชชาใหญ่ (BIE General Assembly) ครั้งที่ 172 ที่กรุงปารีส โดยประธานาธิบดีฝรั่งเศสพร้อมให้การสนับสนุนไทยในประเด็นนี้
สำหรับความร่วมมือในกรอบอนุภูมิภาคและภูมิภาค นายกรัฐมนตรียืนยันว่า ไทยพร้อมสนับสนุนฝรั่งเศสในการมีส่วนร่วมและมีบทบาทที่สร้างสรรค์ ทั้งในกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง (ACMECS) อาเซียน – ฝรั่งเศส และอาเซียน – EU รวมถึงการขับเคลื่อนวาระสำคัญภายใต้ยุทธศาสตร์อินโด – แปซิฟิก และมุมมองอาเซียนต่ออินโด – แปซิฟิก ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีขอให้ฝรั่งเศสสนับสนุนการรื้อฟื้นการเจรจา FTA ไทย - EU ด้วยเช่นกัน ซึ่งประธานาธิบดีฝรั่งเศสพร้อมสนับสนุนนโยบายระหว่างไทยกับ EU และพร้อมผลักดันการรื้อฟื้นการเจรจา FTA ไทย – EU อย่างแข็งขัน
ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายกรัฐมนตรีมอบเอกสารแถลงการณ์แสดงเจตจำนงเข้าร่วมข้อริเริ่ม PREventing Zoonotic Disease Emergence (PREZODE) เพื่อสร้างเครือข่ายนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญในการศึกษาและป้องกันโดยโรคติดต่อระหว่างสัตว์กับคน (zoonotic disease) หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวัน ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
นายกฯ หารือนายกฯญี่ปุ่น ยกระดับ “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน
เวลา 16.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ หารือกับ คิชิดะ ฟูมิโอะ (H.E. Mr. KISHIDA Fumio) นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในโอกาสเยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค เพื่อกระชับความสัมพันธ์อย่างรอบด้าน รวมทั้งเพื่อแลกเปลี่ยนและสานต่อผลการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ภายหลังเสร็จสิ้น นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรียินดีที่ได้พบหารือ และได้ต้อนรับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นและภริยา เดินทางเยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค โดยไทยยินดีกับพลวัตทางความสัมพันธ์ที่ก้าวหน้ามาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการกลับมาดำเนินกิจกรรม และการไปมาหาสู่ระหว่างประชาชน
ด้านนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ยินดีที่ได้พบนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง การเดินทางครั้งนี้นอกจากเพื่อเข้าร่วมประชุมเอเปคแล้ว ยังจะเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ติดตามและสานต่อผลการหารือระหว่างผู้นำทั้งสองจากที่นายกรัฐมนตรีได้พบกันเมื่อ พ.ค. 2565 ที่ผ่านมา พร้อมขอบคุณที่ได้สละเวลาให้เข้าพบก่อนที่การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจจะเริ่มขึ้นในวันพรุ่งนี้
โอกาสนี้ ผู้นำทั้งสองได้หารือในประเด็นต่างๆ ดังนี้
ผู้นำทั้งสองต่างยินดีในโอกาสครบรอบ 135 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในปีนี้ และการครบรอบ 10 ปีของความสัมพันธ์หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ โดยไทยและญี่ปุ่นยังได้ยืนยันความพร้อมที่จะร่วมมือกันเพื่อพัฒนา “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน” อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นในอนาคต เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ ประชาชนและภูมิภาค ซึ่งการลงนามและประกาศใช้แผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นในระยะ 5 ปี จะยิ่งช่วยสนับสนุนการพัฒนาหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านต่อไป
ด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ไทยและญี่ปุ่นยินดีที่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไทยพร้อมเป็นหุ้นส่วนกับญี่ปุ่นในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงาน และส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจพลังงานคาร์บอนต่ำ ซึ่งญี่ปุ่นพร้อมพิจารณาใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ของอาเซียนด้วย โดยญี่ปุ่นยังได้กล่าวเสนอเพิ่มพูนความร่วมมือธุรกิจ startup ของทั้งสองประเทศด้วย ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังได้ขอให้ญี่ปุ่นพิจารณาขยายการจัดตั้งสถาบันโคเซ็นในไทยเพิ่มเติม ซึ่งถือเป็นการลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ในระยะยาว เชื่อมั่นว่า ทรัพยากรมนุษน์เหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญในภาคอุตสาหกรรมที่สร้างประโยชน์ให้กับไทยและญี่ปุ่นต่อไป
ในด้านพลังงาน ไทยและญี่ปุ่นพร้อมร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานที่ทันสมัยและการส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจพลังงานคาร์บอนต่ำร่วมกันผ่านข้อเสนอความร่วมมือด้านพลังงาน (White Paper) ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น และภายใต้ข้อริเริ่ม Asia Zero-Emission Community (AZEC) ของญี่ปุ่น ซึ่งสอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของไทย
นายกรัฐมนตรียินดีกับการเป็นเจ้าภาพ World Expo 2025 Osaka ของญี่ปุ่น ไทยพร้อมสนับสนุนการจัดงานอย่างเต็มที่ และเชื่อมั่นว่างานจะประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง โดยไทยหวังจะได้รับการสนับสนุนจากญี่ปุ่นในการเป็นเจ้าภาพจัดงานเอ็กซ์โปวาระพิเศษ (Specialised Expo) 2028 ที่จังหวัดภูเก็ตเช่นกัน เชื่อมั่นว่าจะเป็นเวทีให้นานาประเทศนำเสนอทางออกและแลกเปลี่ยนความร่วมมือสู่ความยั่งยืน
ความร่วมมือด้านความมั่นคง ยินดีที่ไทยและญี่ปุ่นมีความร่วมมือด้านการทหารและการป้องกันประเทศที่ใกล้ชิด เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายด้านความมั่นคงรูปแบบต่างๆ โดยทั้งสองฝ่ายยังได้ลงนามความตกลงว่าด้วยการมอบโอนยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศเมื่อครั้งที่นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเยือนไทย ซึ่งขณะนี้กระทรวงกลาโหมอยู่ระหว่างการพิจารณาสาขาความร่วมมือที่ประสงค์ร่วมมือกับฝ่ายญี่ปุ่นต่อไป
ด้านประเด็นภูมิภาคและระหว่างประเทศ ยินดีที่ไทยร่วมมือกับญี่ปุ่นในฐานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา เพื่อช่วยเหลือประเทศที่สามอย่างต่อเนื่อง ไทยพร้อมสานต่อความร่วมมือกับญี่ปุ่นในสาขาที่ทั้งสองฝ่ายมีความเชี่ยวชาญและเป็นที่ต้องการของประเทศผู้รับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวชื่นชมบทบาทที่แข็งขันในการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และไทย ในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น พร้อมมีบทบาทอย่างแข็งขันเพื่อให้ความร่วมมือและกิจกรรมต่างๆ บรรลุผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีไทยและญี่ปุ่นยังได้ร่วมกันยินดีที่ทั้งสองประเทศมีการหารือจนมีผลเป็นรูปธรรมในหลายๆ ด้าน สามารถพัฒนาและยกระดับความสัมพันธ์สู่การเป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน” ฉลองครบรอบ 135 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในปีนี้ และการครบรอบ 10 ปีของความสัมพันธ์หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ ที่ถือเป็นอีกก้าวสำคัญทางความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ
ไทย – แคนาดา ทวิภาคี ขยายความร่วมมือการค้าการลงทุน ท่องเที่ยว
เวลา 17.15 น. ที่ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ หารือทวิภาคีกับจัสติน ทรูโด (The Right Honourable Justin Trudeau) นายกรัฐมนตรีแคนาดา ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ โดย อนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรียินดีที่ได้มีโอกาสต้อนรับนายกรัฐมนตรีแคนาดาที่ประเทศไทย ซึ่งถือเป็นการเยือนครั้งแรกในฐานะนายกรัฐมนตรีและเป็นการเยือนไทยครั้งแรกของนายกรัฐมนตรีแคนาดาในรอบ 10 ปี ไทย – แคนาดามีความสัมพันธ์แบบเป็นมิตรและราบรื่นมาโดยตลอด อย่างไรก็ดี มีศักยภาพจะขยายความร่วมมือได้อีกมาก เชื่อว่าการเยือนในครั้งนี้จะช่วยยกระดับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นเพื่อต่อยอดไปสู่ความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจผ่านการขยายการค้าและการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG
นายกรัฐมนตรีแคนาดายินดีและเป็นเกียรติที่ได้มีโอกาสมาเยือนประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่สร้างความประทับใจแก่ผู้ที่ได้มาเยือนอย่างยิ่ง โดยความสัมพันธ์ระหว่างไทย – แคนาดานั้นมีอย่างยาวนานและแข็งแกร่ง พร้อมชื่นชมการเป็นเจ้าภาพเอเปคของนายกรัฐมนตรีและของไทยในครั้งนี้ เชื่อมั่นว่าจะขยายความร่วมมือกับไทยทั้งในระดับทวิภาคีและภูมิภาค โดยเฉพาะประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่แคนาดาให้ความสำคัญ ซึ่งเวทีเอเปคจะเป็นการแสดงจุดยืนสำคัญที่ทุกเขตเศรษฐกิจเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกัน โดยแคนาดาพร้อมสนับสนุนและแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อประโยชน์ร่วมกันต่อไป ทั้งนี้ แคนาดาพร้อมมีความร่วมมือกับไทยในด้านที่ทั้งสองประเทศมีศักยภาพ เช่น อุตสาหกรรม เทคโนโลยี และการค้าการลงทุน
ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับประเด็นความร่วมมือต่าง ๆ ที่สำคัญ ดังนี้
ด้านความร่วมมือในระดับภูมิภาค นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าไทยให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างบรรยากาศแห่งความร่วมมือในภูมิภาค เชื่อว่าการพูดคุยกันอย่างสม่ำเสมอจะช่วยสร้างความเข้าใจระหว่างกันและเป็นประโยชน์ต่อเสถียรภาพและความมั่นคงของภูมิภาคโดยรวม ขณะที่นายกรัฐมนตรีแคนาดาเน้นย้ำว่าแคนาดาให้ความสำคัญกับการส่งเสริมปฏิสัมพันธ์กับระหว่างภูมิภาคมากขึ้น โดยเฉพาะการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน และการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค เพื่อเสริมสร้างบทบาทความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์ในอาเซียน นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะร่วมมือกันในการส่งเสริมความสัมพันธ์อาเซียน – แคนาดา เพื่อปูทางไปสู่การเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างกันในอนาคต
ด้านเศรษฐกิจ ไทยพร้อมสนับสนุนการเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – แคนาดา ให้สำเร็จโดยเร็ว ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เชื่อมโยงห่วงโซอุปทาน สร้างความเชื่อมั่นและเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการและประชาชนของทั้งสองฝ่าย โดยนายกรัฐมนตรีแคนาดาพร้อมสานต่อข้อเสนอดังกล่าว โดยเชื่อมั่นว่า การเจรจาร่วมกันจะช่วยขยายศักยภาพทางทางการค้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นผลประโยชน์ร่วมกันที่กลับคืนสู่ประชาชน รวมไปถึงแรงงานในภาคส่วนต่าง ๆ ด้วย
ด้านการเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะร่วมมือกันทั้งในด้านสิทธิมนุษยชน การส่งเสริมความเท่าเทียมและบทบาทสตรี ตลอดจนส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ซึ่งนายกรัฐมนตรีแคนาดาชื่นชมที่ไทยให้ความสำคัญกับการสนับสนุนสิทธิสตรีเพื่อสร้างบทบาทและความเท่าเทียมให้แก่สังคมโดยรวม
ด้านการท่องเที่ยว นายกรัฐมนตรีแคนาดายินดีที่ได้ทราบว่า สายการบิน Air Canada จะเปิดเส้นทางบินตรงระหว่างเมืองแวนคูเวอร์ – กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) ในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งถือเป็นการเปิดเส้นทางระหว่างอเมริกาเหนือ และประเทศไทย ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นพ้องและเชื่อมั่นว่าจะสามารถส่งเสริมการท่องเที่ยว และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวได้มากขึ้น