ไม่พบผลการค้นหา
ตอกย้ำผู้นำนวัตกรรมสุขภาพ 'ดีเอ็นเอนัดจ์' สตาร์คอัพด้าน 'เฮลท์เทค' ที่ 'อดีตนายกฯ ทักษิณ' ร่วมลงทุน คว้ารางวัลอังทรงเกียรติ สุดยอดนวัตกรรมด้านวิศวกรรมเพื่อสังคมของสหราชอาณาจักร 'MacRobert Award 2021' หลังได้รับเลือกจากรัฐบาลอังกฤษให้ผลิตชุดตรวจโควิด-19 กว่า 5.8 ล้านชุดให้ใช้ในเครือระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ NHS ด้วยงบประมาณกว่า 6,440 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา ถือเป็นชุดตรวจแบบ 'Rapid Test' ที่มีประสิทธิภาพสูงเทียบเท่า 'RT-PCR' แม่นยำ ราคาถูก ไม่ต้องพึ่งห้องแล็บ

'ดีเอ็นเอนัดจ์' (DnaNudge) สตาร์ตอัพด้านเทคโนโลยีจากอิมพีเรียลคอลเลจลอนดอนที่ อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร เข้าไปร่วมลงทุน ผ่านมาราว 1 ปีครึ่งท่ามกลางการระบาดอย่างหนักของโควิด-19 ที่ไม่มีทีท่าจะจบสิ้น 'ดีเอ็นเอนัดจ์' คว้ารางวัลสุดยอดนวัตกรรมด้านวิศวกรรมเพื่อสังคมของสหราชอาณาจักร 'Royal Academy of Engineering MacRobert Award 2021' ได้ในที่สุด ด้วยคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความเป็นประโยชน์ของชุดตรวจโควิดที่มีต่อระบบสาธารณสุขของสหราชอาณาจักรอันเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

รางวัล MacRobert ถือได้ว่าเป็นรางวัลชั้นนำที่ตระหนักและให้ความสำคัญกับนวัตกรรมอย่างมากของสหราชอาณาจักร ซึ่งกระบวนการมอบรางวัลประจำปีเริ่มต้นด้วยการเชิญบริษัทนวัตกรรมต่างๆ ส่งผลงานชิงรางวัลในเดือน ม.ค. ก่อนที่คณะกรรมการตัดสินรางวัลซึ่งจำนวนหนึ่งเป็นสมาชิกของ Royal Academy of Engineering จะทำการคัดเลือกโดยมีเกณฑ์สำคัญ 3 ประการในการประเมินผลงาน คือ นวัตกรรม ความสำเร็จเชิงพาณิชย์ และความเป็นประโยชน์ต่อสังคม และบริษัทหรือทีมที่ชนะในรางวัลนี้จะได้รับเหรียญทองและเงินสดจำนวน 50,000 ปอนด์ หรือราว 2.28 ล้านบาท

'ศาสตราจารย์คริส ทาวมาโซ' ผู้ร่วมก่อตั้งและ CEO ของ DnaNudge สังกัด 'อิมพีเรียลคอลเลจ' กล่าวหลังได้รับรางวัลว่า "เรารู้สึกปลื้มใจอย่างที่สุดที่ได้รับรางวัล 'MacRobert Award 2021' เคียงข้างการจัดอันดับที่มีบรรดาบริษัทด้านนวัตกรรมแถวหน้าและทีมวิศวกรผู้เปลี่ยนโลกร่วมอยู่มากมาย"

"ปีที่ผ่านมานับว่าเป็นปีที่ท้าทายอย่างมากสำหรับทุกคน แต่ความมุ่งมั่นและพันธสัญญาของทีม DnaNudge ที่พร้อมจะให้บริการด้านสุขภาพและมอบทางออกที่สามารถช่วยชีวิตคนได้อย่างแท้จริง นับเป็นสิ่งที่น่าทึ่งอย่างมาก" และเขายังย้ำด้วยว่า นอกจากความสามารถของชุดอุปกรณ์ในการช่วยให้ผู้ใช้งานทราบว่า DNA ของตัวเองเหมาะกับสารอาหารประเภทใด และการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แล้ว หลังจากนี้ไป DnaNudge จะขยายขีดความสามารถให้ครอบคลุมการใช้งานอื่นๆ เช่น การศึกษาเกี่ยวกับเนื้องอกในร่างกาย และการตรวจหาเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เป็นต้น


ชุดตรวจโควิด DnaNudge แม่นยำเท่า RT-PCR รู้ผลใน 90 นาที

ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีผู้ร่วมลงทุนในเทคโนโลยีด้านสุขภาพ DnaNudge กล่าวใน Clubhouse ที่จัดโดยกลุ่ม CARE เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2564 ว่า ชุดตรวจโควิด-10 แบบ 'Rapid Test' ที่มีประสิทธิภาพสูงเทียบเท่าการตรวจในห้องแล็บอย่าง 'RT-PCR Test' ของ DnaNudge สามารถให้ผลลัพธ์ที่แม่นยำสูงถึง 99.9% ภายในเวลาเพียง 90 นาที และยังสามารถตรวจได้พร้อมกันทีละหลายๆ คน ที่เรียกว่าการตรวจแบบ 'Bubble' (บับเบิล) ตรวจจากตัวอย่างเสมหะได้พร้อมกันมากถึง 10 คนในครั้งเดียว ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากเพราะปัจจุบันการตรวจที่มีความแม่นยำแบบ RT-PCR ในไทยต้องทำในห้องแล็บเท่านั้น และบางแห่งมีราคาสูงตั้งแต่ 2,500 ถึง 6,000 บาทในการตรวจเพียงครั้งเดียว ขณะที่อุปกรณ์ตรวจโควิด DnaNudge : COVID Bubble มีราคาเพียงชุดละ 100 ปอนด์ หรือราว 4,500 บาทเท่านั้น

ชุดตรวจโควิด DnaNudge ดีเอ็นเอนัดจ์

อังกฤษทุ่มงบ 6,440 ล้านบาทซื้อชุดตรวจโควิด 5.8 ล้านชุด

กลางปี 2563 'บอริส จอห์นสัน' นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เคยยืนยันว่ารัฐบาลอังกฤษจะไม่ตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 ให้แก่ผู้ที่ไม่เข้าข่าย 'ต้องสงสัย' ว่าป่วยหรือติดเชื้อ เนื่องจากไม่มีเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์เพียงพอ แต่หลังจากจอห์นสันเป็นผู้ติดเชื้อเสียเอง ก็ได้ประกาศยกระดับมาตรการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทั่วประเทศ โดยระบุว่าการคัดกรองอย่างรวดเร็วจะช่วยป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

รัฐบาลอังกฤษจึงได้ตั้งงบประมาณจัดซื้อจัดหาชุดตรวจโควิด-19 แบบเร็ว เพื่อนำไปใช้ในสถานพยาบาลทั่วประเทศในเครือ NHS ของสหราชอาณาจักร โดยตั้งเป้าจะตรวจคัดกรองให้ได้ 500,000 รายในเดือน ส.ค. 2563 เพื่อนำคนป่วยเข้าสู่ระบบกักตัวหรือรักษาพยาบาลโดยเร็วที่สุด

2 บริษัทเอกชนที่ได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากรัฐบาลอังกฤษเพื่อผลิตชุดตรวจคัดกรองโควิด-19 แบบรู้ผลเร็ว (rapid test) ได้แก่ บริษัท ดีเอ็นเอนัดจ์ (DnaNudge) ร่วมก่อตั้งโดย 'คริส ทาวมาโซ' กับ 'มาเรีย คาร์เวลา' และบริษัท แลมพอร์ จำกัด (LamPORE) ซึ่งเป็นโครงการร่วมทุนของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ในสังกัดมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด

สำนักข่าวระดับโลกมากมายอย่าง BBC, The Guardian, FT, Daily Mail และYahoo News รายงานอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของ 'แมต แฮนค็อก' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของอังกฤษ ที่ระบุว่าชุดตรวจโควิด-19 แบบรู้ผลเร็วจะเป็นเครื่องมือ 'ช่วยชีวิต' ประชาชนได้

ชุดตรวจโควิด-19 แบบเร็วของทั้ง 2 บริษัท มีจุดเด่นที่การใช้วิธีตรวจแบบสวอบ (swab) โดยจะเก็บตัวอย่างจากโพรงจมูกและคอ รวมถึงน้ำลาย ก่อนจะประมวลผลออกมาภายในเวลา 90 นาที ขณะที่ชุดตรวจคัดกรองแอนติบอดีที่ใช้วิธีเจาะเลือดและส่งไปยังห้องแล็บ กว่าจะรู้ผลต้องใช้เวลานานกว่ามาก ประมาณ 24 ชม.จนถึง 4 วัน

ส.ค. 2563 รัฐมนตรีผู้เกี่ยวข้องกับการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในสหราชอาณาจักร ระบุว่า รัฐบาลได้สั่งซื้อเครื่องผลิตชุดตรวจโควิดแบบเร็ว จาก 'ดีเอ็นเอนัดจ์' 5.8 ล้านชุด โดยเริ่มจากเดือน ก.ย.นี้เป็นต้นไป ขณะที่ข้อมูลจากฝั่ง 'ดีเอ็นเอนัดจ์' เปิดเผยมูลค่าการซื้อขายเครื่องผลิตชุดตรวจแบบเร็ว 5.8 ล้านชุด เป็นเงินราว 161 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 6,440 ล้านบาท

ทักษิณ สุขภาพ 17371.jpg


DnaNudge เกี่ยวกับ 'อดีตนายกฯ ทักษิณ' อย่างไร?

เมื่อเดือน ม.ค. 2563 อดีตนายกรัฐมนตรี 'ทักษิณ ชินวัตร' ปรากฏตัวพร้อมกับอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่งานแสดงผลิตภัณฑ์ด้านเทคโนโลยีและอิเล็กทรอนิกส์ CES 2020 (Consumer Electronics Show 2020) ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองลาสเวกัส รัฐเนวาดา สหรัฐอเมริกา โดยระบุว่าเป็นการเดินทางไปร่วมเปิดตัว DnaNudge ธุรกิจสตาร์ทอัพที่ร่วมลงทุนไว้กับ 'ศาสตราจารย์คริส ทาวมาโซ' และ 'มาเรีย คาร์เวลา' พร้อมด้วยทีมวิจัยในสังกัด 'อิมพีเรียลคอลเลจ' ของอังกฤษ ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาแนวหน้าของอังกฤษ เด่นมากเรื่องการเเพทย์ และเป็นที่ยอมรับในระดับโลก

อดีตนายกฯ อธิบายว่า 'ดีเอ็นเอนัดจ์' ต่อยอดมาจากเทคโนโลยีการตรวจ DNA ผสมผสานกับการใช้ชิปขนาดเล็กเพื่อประมวลผลและวิเคราะห์อาหารการกินที่เหมาะสมกับสุขภาพของแต่ละบุคคล ซึ่งอดีตนายกฯ ทักษิณกล่าวในโพสต์ IG ส่วนตัวว่า "ผลวิเคราะห์ที่ได้จะช่วยให้ผู้ใช้งานค้นหาอาหารที่เหมาะกับ DNA ของแต่ละคน เป็นการศึกษาและวิเคราะห์เฉพาะตัว ให้เราไม่เจ็บไข้ได้ป่วย และแข็งแรงจากการกินอาหาร ไม่ต้องรอไปหาหมอตอนป่วย"

ขณะที่เว็บไซต์ของดีเอ็นเอนัดจ์ระบุว่า การตรวจดีเอ็นเอและประมวลผลเกี่ยวกับอาหารที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคลจะดำเนินการผ่านอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กำไลอิเล็กทรอนิกส์และแอปพลิเคชันประมวลผลผ่านสมาร์ตโฟน ไม่ต้องส่งไปตรวจถึงห้องแล็บและสามารถแบ่งปันผลการวิเคราะห์ให้สมาชิกในครอบครัวรับทราบ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารและการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ

'แมต แฮนค็อก' รมว.สาธารณสุขอังกฤษ ยืนยันว่า ชุดตรวจที่นำมาใช้ทำงานได้จริง และเป็นนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี 'ใหม่ที่สุด' เท่าที่มีอยู่ในตอนนี้ ทั้งยังย้ำว่า มีคนอีกหลายล้านคนรอการตรวจในสถานพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ

แฮนค็อกระบุด้วยว่า ชุดตรวจแบบเร็วนี้จะบอกได้ด้วยว่าผู้ติดเชื้อที่มีผลตรวจเป็นบวก เกิดจากไวรัสไข้หวัดธรรมดาหรือเป็นไวรัสชนิดอื่น และการใช้อุปกรณ์คัดกรองแบบสวอบน่าจะช่วยให้การดำเนินการคัดกรองตามพื้นที่ต่างๆ เป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็วขึ้น