วันที่ 29 มี.ค. 2565 ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริหารงานของรัฐบาล พ.ศ.2565 (ครบ 2 ปี 6 เดือน) และการปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal Life) ปี 2565 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ได้สัมภาษณ์สมาชิกในครัวเรือนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปทั่วประเทศจำนวน 6,970 คน ระหว่างวันที่ 5-18 ม.ค. 2565
โดยพบว่าในประเด็นเรื่องการติดตามข้อมูลข่าวสารของรัฐบาล ประชาชนร้อยละ 83.7 ติดตามข้อมูลข่าวสารของรัฐบาล ร้อยละ 16.3 ไม่ติดตาม เหตุผลคือ ไม่สนใจ ไม่มีเวลาว่าง และอื่นๆ เช่น ไม่ชอบ โดยติดตามทางโทรทัศน์มากที่สุดร้อยละ 71.8 รองลงมาคือ สื่อสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ ทวิตเตอร์ และยูทูบ ร้อยละ 55.5 ทั้งนี้ผู้ที่มีอายุน้อยได้ติดตามจากสื่อสังคมออนไลน์สูงกว่าผู้มีอายุมาก และผู้มีการศึกษาสูงได้ติดตามจากสื่อสังคมออนไลน์สูงกว่าผู้มีการศึกษาต่ำกว่า
สำหรับความพึงพอใจในภาพรวมต่อการดำเนินงานของรัฐบาล พบว่า ประชาชนมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก-มากที่สุดร้อยละ 33.9 พึงพอใจระดับปานกลางร้อยละ 40.9 พึงพอใจในระดับน้อย-น้อยที่สุดร้อยละ 18.9 และไม่พึงพอใจเลยร้อยละ 6.3 โดยภาคใต้และภาคใต้ชายแดนมีความพึงพอใจในระดับมาก-มากที่สุดสูงกว่าภาคอื่นคือร้อยละ 57.9 และร้อยละ 54.5 ตามลำดับ ขณะที่ภาคอื่นมีประมาณร้อยละ 26-35
ส่วนความพึงพอใจต่อนโยบายของรัฐบาลนั้น นโยบายที่ประชาชนมีความพึงพอใจมาก-มากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ โครงการคนละครึ่งร้อยละ 66.9 ,โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐร้อยละ 63.6, โครงการเราชนะ ร้อยละ 62.9, มาตรการเยียวยาแรงงานในระบบและนอกระบบร้อยละ 48.2 และโครงการประกันรายได้เกษตรกรร้อยละ 32.4 ขณะที่มาตรการเยียวยา หรือโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีประโยชน์ต่อประชาชน 5 อันดับแรก ได้แก่ โครงการคนละครึ่งร้อยละ 81.5,โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐร้อยละ 70,โครงการเราชนะร้อยละ 62.2,มาตรการลดค่าน้ำ ค่าไฟร้อยละ 57.2 และ โครงการ ม.33 เรารักกันร้อยละ 32.1 โดยประชาชนในเกือบทุกกลุ่มอาชีพระบุว่า โครงการคนละครึ่งมีประโยชน์ต่อคนในประเทศมากที่สุด
ส่วนในประเด็นเรื่องความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประเทศ พบว่า ประชาชนเชื่อมั่นในระดับมาก-มากที่สุดร้อยละ 30.4 เชื่อมั่นระดับปานกลางร้อยละ 39.7 เชื่อมั่นในระดับน้อย-น้อยที่สุดร้อยละ 21.3 และไม่เชื่อมั่นเลยร้อยละ 8.6 โดยภาคใต้และภาคใต้ชายแดนมีความเชื่อมั่นในระดับมาก-มากที่สุดในสัดส่วนที่สูงกว่าภาคอื่นคือร้อยละ 52.8 และร้อยละ 52.2 ตามลำดับ ขณะที่ภาคอื่นมีประมาณร้อยละ 21-31
และประชาชนได้มีข้อเสนอแนะต่อการบริหารงานของรัฐบาล 5 อันดับแรก ได้แก่ การแก้ไขปัญหาค่าครองชีพสูงร้อยละ 17.6 ,การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มร้อยละ 10.6, การแก้ไขปัญหาโดยคำนึงถึงประชาชนเป็นหลัก รวดเร็ว ตรงจุด และโปร่งใส ร้อยละ 9 ,การควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด 19 ร้อยละ 5.9 และการแก้ไขปัญหาด้านการเกษตร ร้อยละ 4.9
ขณะที่การปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal Life) ปี 2565 ผลสำรวจพบว่า ประชาชนร้อยละ 97.7 มีความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ร้อยละ 2.3 ไม่มีความกังวล ส่วนการปรับเปลี่ยนการใช้วิถีชีวิตเป็นแบบ New Normal Life 3 อันดับแรกได้แก่ จัดเตรียมอุปกรณ์ก่อนออกจากบ้าน เช่นหน้ากากอนามัย ร้อยละ 90.4 หลีกเลี่ยงการไปอยู่ในสถานที่แออัด การอยู่รวมกันเป็นกลุ่มหรืองานเลี้ยงสังสรรค์ร้อยละ 64.1 และออกนอกบ้านเท่าที่จำเป็นร้อยละ 60.5 สำหรับการใช้สื่อสังคมออนไลน์และแอปพลิเคชัน ประชาชนใช้แอปพลิเคชันเกี่ยวกับติดต่อการสื่อสารและการรับข้อมูลมากที่สุดร้อยละ 81.5 เช่น ไลน์ วอตส์แอปป์ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม รองลงมาแอปพลิเคชันเกี่ยวกับทางการเงินร้อยละ 70.7 และแอปพลิเคชันเกี่ยวกับความบันเทิงร้อยละ 69.7
และในประเด็นความสุขของประชาชนในภาพรวมพบว่า ประชาชนมีความสุขในภาพรวมในระดับมาก-มากที่สุดร้อยละ 53.1 มีความสุขระดับปานกลางร้อยละ 37.3 มีความสุขในระดับน้อย-น้อยที่สุดร้อยละ 8.9 และไม่มีความสุขเลยร้อยละ 0.7 โดยภาคใต้และภาคใต้ชายแดนมีความสุขในภาพรวมอยู่ในระดับมาก-มากที่สุดสูงกว่าภาคอื่น (ร้อยละ 68.5)
ส่วนแผนการปรับตัวรับมือหากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 มีความรุนแรงอีกครั้ง ประชาชนมีแผนการรับมือโดยปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิต เช่น ใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากบ้านร้อยละ 87.3 ประหยัดและใช้จ่ายน้อยลงร้อยละ 82.2 และแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจโดยการนำเงินออมออกมาใช้จ่าย ร้อยละ 25.7 สำหรับนโยบายการให้ประชาชนแสดงหลักฐานการได้รับวัคซีนป้องกันโควิด 19 หรือผลการตรวจโควิด 19 เพื่อเข้าสถานที่ต่างๆ มีประชาชนเห็นด้วยร้อยละ 85.1 และไม่เห็นด้วยร้อยละ 14.9