ไม่พบผลการค้นหา
ก้าวเล็ก ๆ ของสภาไทย ที่จะไม่ได้มีเพียงโลกของผู้ชายเป็นผู้กำหนดทิศทาง

“พี่จะแต่งหญิงใช่ไหม” 

“ตัดชุดผู้หญิงหรือยัง”

คำถามที่ดิฉันเจอในการเตรียมเสื้อผ้า หน้าผม วันไปสภาวันแรก

"ฉันใส่ชุดผู้ชาย" 

ก็จะมีบางคน ที่งง และไม่เข้าใจ

อ้าว!? ทำไมไม่แต่งผู้หญิงละ !

เป็นกะเทยแล้วไม่อยากแต่งหญิงเหรอค้า?

ดิฉันเองก็ไม่รู้จะตอบว่าอย่างไร เพราะสังคมมองว่า กลุ่ม 'กะเทย' คือ ต้องการแต่งเป็นผู้หญิงอย่างเดียว การมองความเป็นหญิงยึดโยงอยู่กับกระโปรง และเครื่องแต่งกาย ที่มนุษย์เราต้องพยายามแสดงอัตลักษณ์ให้สอดรับกับสังคม

แต่สำหรับฉันแล้ว ไม่ว่ากระโปรง กางเกง หรือจะชุดนอน ถ้าฉันชอบ และอยากจะใส่ ดิฉันก็ตัดสินใจตามกาลเทศะ เแต่ดิฉันจะไม่ยึดเครื่องแต่งกายมาผูกโยงกับเพศ

การแต่งตัวของฉันมักจะหาคำนิยามยาก และสังคมก็มักจะบอกไม่ได้ว่า "ตกลงเธอจะเป็นผู้หญิง หรือเธอจะเป็นผู้ชาย" 


792607.jpg

LGBTQ คือ ตัวอักษรย่อของความหลากหลายทางเพศ ที่ย่อมาจาก L หญิงรักหญิง G มาจากชายรักชาย B มาจากคนรักสองเพศ T มาจากคนข้ามเพศ และ Q มาจากอะไรล่ะ ประเทศไทยอาจจะยังไม่มีความเข้าใจในตัวอักษร Q ที่ย่อมาจาก Queer อาจเป็นความ 'พิลึกกึกกือ' ไม่มีความเป็นชาย ไม่มีความเป็นหญิง ไม่อยู่ในกล่องของเพศใด ๆ ทั้งสิ้น และอาจจะรวมไปถึงทัศนคติต่าง ๆ ที่ไม่เป็นไปตามกระแสหลัก 

แน่นอนที่สุด สังคมก็อาจจะเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง เพราะดิฉันและเขาเหล่านั้น <Queer> อาจไม่เดินไปตามค่านิยมใด ๆ ของสังคมเลย 

(ฉันรู้ว่าย่อหน้านี้ แฟน ๆ นักอ่านของวอยซ์น่าจะเข้าใจดีมาก ๆ อยู่แล้ว แต่ขออนุญาตเขียนเพื่อให้คนอื่น ๆ ที่ไม่เข้าใจได้อ่าน)

นอกจากการแต่งกายที่แสดงความเป็นเพศ ที่ถือว่าเป็นหน้าที่หนึ่งของผู้แทนราษฎร สิ่งหนึ่งที่เปิดฉากการประชุมตามวาระ หลังจากการปฏิญาณตนแล้ว คือการ 'ลงมติต่าง ๆในสภาฯ' ทั้งเลือกประธานสภา และรองประธานสภาคนที่ 1 และ 2 แน่นอนว่าจะต้องมี 'การเรียกขานชื่อ' โดยคณะทำงานของเลขาธิการรัฐสภา เปล่งเสียงกึกก้อง มีทั้ง 'นาย' และ นางสาว ซึ่งก็ยังเป็นเพียงเพศชาย เพศหญิง แล้วดิชั้นล่ะ จะพูดตอบรับหรือเรียกขายยังไง

“159 ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ไม่เห็นด้วยคะ ขอบคุณค่ะ” 

ฉันเน้นย้ำไม่ใช่คำนำหน้า 'นาย' และกล่าว 'ขอบคุณค่ะ' โดยภาพการถ่ายถอดสดตัดมา เห็นฉันใส่กางเกง สูทเข้ารูป แบบกึ่งชายกึ่งหญิง ผมปล่อยยาว มีหลายท่านเงยหน้าดูจอใหญ่ที่ฉายในห้องประชุมสภา ด้านหลังที่นั่งของประธานสภาฯ หรือ บางท่านก็เหลียวหลังมาดู ราวกับดิฉันประหลาด 


LGBT อนาคตใหม่

(ส.ส.กลุ่ม LGBT จากพรรคอนาคตใหม่ ประกอบด้วย (ขวาไปซ้าย) - ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์, ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์, ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์, กวินนาถ ตาคีย์)

ฉันรู้สึกได้บางอย่าง เวลาที่ กอล์ฟ (ธัญญ์วารินท์ สุขะพิศิษฎ์) และ ฉัน (ธัญวัจน์) ที่ชื่อตัวอักษรอยู่ในลำดับต่อกันพอดี ออกไปแสดงจุดยืน “ไม่เห็นด้วยค่ะ” 

ใครคิดอย่างไรต่อไป คงเดาไม่ได้ เขาจะให้ความสนใจเป็นพิเศษ หรือดูเป็นตัวตลก ก็สุดแท้แต่ เพราะการมาเป็นดิฉัน ก็ถือเป็นตัวแทนของประชาชน กลุ่มความหลากหลายทางเพศ ทั้งสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นเพศชายมี 84 เปอร์เซ็นต์ หรือ 417 คน ผู้แทนราษฎรหญิง มีเพียง 79 คน ส่วนผู้แทนราษฎรที่มีความหลากหลายทางเพศมีเพียง 4 คนค่ะ 

นี่คือก้าวเล็ก ๆ ของสภาไทย ที่จะไม่ได้มีเพียงโลกของผู้ชายเป็นผู้กำหนดทิศทาง

ฉันได้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับเพศ ยังคงมีวิธี คิดแบบกรอบ 2 เพศ และยังมีบทบาทและหน้าที่ของหญิงและชาย ซึ่งจำกัดเสรีภาพของความรักที่จะสร้างครอบครัว ทั้งที่ในปัจจุบันสังคมและการนิยามของครอบครัวนั้นเปลี่ยนไปมาก 

ณธีภัสร์, กวินนาถ, ธัญญ์วาริน และ ธัญวัจน์ ผู้แทนราษฎร ยังไม่ถูกรองรับในกฏหมายเลย แล้วประชาชนกลุ่มดิฉันละคะ

คำในกฎหมาย เช่น ชาย หญิง หรือ สามี ภรรยา มันไม่ยากหรอกถ้าจะเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านั้น และมันจะส่งผลต่อการนิยามของคำว่า 'ครอบครัว' ซึ่งมันจะสมบูรณ์ขึ้น หลากหลายขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์
ครูธัญ - ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ นักเต้น นักออกแบบท่าเต้น นักกิจกรรมส่งเสริมความหลากหลายทางเพศ และสส ปาร์ตี้ลิส ลำดับที่ 25 พรรคอนาคตใหม่
1Article
0Video
14Blog