ไม่พบผลการค้นหา
นอกจากคุณพ่อมือใหม่จะมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอดได้ไม่ต่างจากคุณแม่แล้ว งานวิจัยยังชี้ว่าลูกสาวก็เสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าตามพ่อได้อีกด้วย ขณะที่ลูกชายกลับไม่ได้รับผลกระทบ

ตามปกติแล้ว คุณแม่หลังคลอดส่วนมากมักมีความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ เช่น อาการซึมเศร้า (postpartum blues) ในช่วง 2-3 วันหลังคลอด โดยแสดงอาการอย่างเช่น ร้องไห้ไม่มีสาเหตุ อารมณ์แปรปรวน และวิตกกังวล แต่หากมีอาการนานกว่า 2 สัปดาห์ อาจมีความเสี่ยงจะเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอด (postpartum depression) ซึ่งเป็นผลมาจากฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วหลังคลอดทารก

ทว่าในปัจจุบันพบว่า คุณพ่อมือใหม่จำนวนไม่น้อยก็ประสบกับโรคซึมเศร้าหลังคลอดด้วยเช่นกัน และยังส่งผลให้ลูกสาวที่เกิดมามีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นอีกด้วย

เป็นที่รู้กันบ้างแล้วว่า ผู้เป็นพ่อเองก็สามารถเป็นโรคซึมเศร้าหลังลูกเกิดได้ไม่ต่างจากผู้เป็นแม่ที่เป็นฝ่ายคลอดเอง อีกทั้งทีมวิจัยในสหราชอาณาจักรยังชี้อีกว่า คุณพ่อมือใหม่ราว 1 ในทุกๆ 20 คน ประสบกับโรคซึมเศร้าเป็นเวลาหลายสัปดาห์หลังลูกของพวกเขาเกิด

ศาสตราจารย์ พอล รามจันทนี (Paul Ramchandani) ผู้ร่วมวิจัยเล่าว่า การวิจัยนี้ได้ติดตามศึกษาเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งอายุ 18 ปี แล้วจึงสัมภาษณ์ถึงประสบการณ์เกี่ยวกับโรคซึมเศร้าของพวกเขา

“เรายังได้ศึกษาอีกว่า อาการซึมเศร้าของผู้เป็นพ่ออาจส่งผลต่อลูกอย่างไรบ้าง ปรากฏว่าอาการซึมเศร้าของผู้เป็นพ่อเกี่ยวเนื่องกับระดับความเครียดโดยรวมของคนทั้งครอบครัว และนี่อาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ลูกๆ ของพวกเขาได้รับผลกระทบไปด้วย

“แม้ว่าเด็กหลายๆ คนจะไม่ได้รับผลกระทบจากอาการซึมเศร้าของพ่อแม่ในลักษณะนี้ แต่สิ่งที่งานวิจัยค้นพบก็ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการให้การประคับประคองทางอารมณ์กับผู้เป็นพ่อที่อาจเผชิญกับอาการซึมเศร้าหลังคลอดไม่ต่างจากผู้เป็นแม่”

ในการศึกษาครั้งนี้ นักวิจัยจาก 4 มหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักร ได้แก่ อิมพิเรียลคอลเลจลอนดอน มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด และมหาวิทยาลัยบริสตอล ได้ร่วมกันศึกษาครอบครัว 3,176 ครัวเรือน โดยได้พิจารณาปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วยอย่างเช่น อาการซึมเศร้าของผู้เป็นแม่ การปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กและพ่อกับแม่ การทะเลาะกันของพ่อกับแม่ ปัญหาทางพฤติกรรมของเด็ก และโรคสมาธิสั้นเมื่อเด็กอายุได้ 3 ขวบครึ่ง เป็นต้น

งานวิจัยชิ้นนี้พบว่า แม้ผลกระทบจากพ่อจะทำให้ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่มีนัยสำคัญในการเพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคซึมเศร้าของลูกสาว เมื่อพวกเธออายุได้ 18 ปี ความรู้สึกของผู้เป็นพ่อจึงควรได้รับการใส่ใจเช่นกัน อย่างไรก็ตาม งานวิจัยเดียวกันนี้พบว่า ลูกชายกลับไม่มีความเสี่ยงโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

ไม่เป็นที่แน่ชัดว่า ทำไมเด็กสาววัยรุ่นในกลุ่มตัวอย่างจึงมีการแสดงอาการซึมเศร้าออกมาในช่วงวัยดังกล่าว กลุ่มนักวิจัยคาดว่าอาจเป็นผลมาจากรูปแบบความสัมพันธ์เฉพาะระหว่างพ่อกับลูกสาวในช่วงที่ลูกสาวผ่านช่วงวัยรุ่น

ที่มา:

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

On Being
198Article
0Video
0Blog