หลังจากเจ้าหน้าที่การทูตจาก 11 ประเทศไปร่วมสังเกตการณ์การรับทราบข้อกล่าวหาของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวันเมื่อวันเสาร์ (6 เม.ย.) และต่อมารัฐมนตรีต่างประเทศ นายดอน ปรมัตถวินัย ได้ออกมาทักท้วงว่า ผู้แทนสถานทูตเหล่านั้นแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมของไทย
ล่าสุดเมื่อคืนวันพุธ กระทรวงต่างประเทศออกถ้อยแถลงผ่านทางเว็บไซต์ ระบุว่า ในช่วงวันที่ 10-11 เมษายนทางกระทรวงได้เชิญเอกอัครราชทูตที่ส่งผู้แทนเข้าร่วมสังเกตการณ์ดังกล่าวเข้าพบกับรองปลัดกระทรวงผู้รับผิดชอบด้านภารกิจทวิภาคี ที่กระทรวงการต่างประเทศ
เอกอัครราชทูตและอุปทูตที่มาพบ ประกอบด้วย ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร เยอรมนี แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา ฟินแลนด์ เบลเยี่ยม และสหภาพยุโรป
ถ้อยแถลงบอกว่า รองปลัดกระทรวงได้แสดงความผิดหวังและห่วงกังวลต่อการปรากฏตัวของผู้แทนทางการทูตในวันนั้น ซึ่งทำให้เกิดภาพที่ถูกตีความได้ว่า เป็นการไปให้กำลังใจแก่นายธนาธร และเป็นการเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในบริบททางการเมืองไทยในปัจจุบัน
“การกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งที่เกินเลยภารกิจทางการทูต เข้าข่ายแทรกแซงกิจการภายในของไทย และละเมิดหลักปฏิบัติและพันธกรณีทางการทูตภายใต้อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูต ค.ศ. 1961 มาตรา 41 ดังนั้น จึงขอให้สถานเอกอัครราชทูตดำเนินการเพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก”
หนังสือพิมพ์ เดอะเนชั่น ฉบับประจำวันพฤหัสบดี (11 เม.ย.) รายงานว่า ทางกระทรวงต่างประเทศได้ยื่นบันทึกช่วยจำทางการทูตแก่บรรดาผู้แทนสถานทูตที่เข้าพบ โดยบันทึกระบุว่า “ไม่ว่ามีเจตนาอย่างไร การที่ผู้แทนสถานทูตเดินทางไปยังสถานีตำรวจดังกล่าวโดยปรากฏตัวอย่างโดดเด่น ซึ่งเรียกสายตาจากสาธารณชน ถือว่ามีนัยทางการเมืองอย่างแจ้งชัด คนไทยมองว่าเป็นการแสดงการให้กำลังใจแก่นายธนาธร”
บันทึกช่วยจำยังระบุอีกว่า รัฐบาลไทยเคารพสิทธิของสถานทูตต่างชาติที่จะติดตามพัฒนาการทางการเมือง และสังเกตการณ์เหตุการณ์สำคัญต่างๆ เพื่อวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ และเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ฉันท์มิตร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นที่สถานีตำรวจนั้น ไม่สอดคล้องกับหลักปฏิบัติแ���ะพันธกรณีระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ได้ชี้แจงการไปปรากฏตัวของเจ้าหน้าที่ทูตในวันนั้น โดยโฆษกของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ จีเลียน บ็องนาโด กล่าวกับเดอะเนชั่น ว่า การส่งผู้แทนไปสังเกตการณ์การดำเนินคดีนั้น เป็นการปฏิบัติมาตรฐานในทางการทูต
เธอบอกว่า ความสนใจของสหรัฐฯ ในดคีนี้ ก็เป็นเช่นเดียวกับในคดีอื่นๆ คือ ต้องการสังเกตการณ์กระบวนการยุติธรรม และต้องการข้อมูลขั้นปฐมภูมิเกี่ยวกับการดำเนินคดี
ขณะเดียวกัน สำนักข่าวเอพี รายงานว่า คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ออกถ้อยแถลงมีใจความในทำนองเดียวกันว่า การเข้าร่วมสังเกตการณ์การไต่สวนและการพิจารณาคดีเป็นการปฏิบัติทางการทูตตามปกติทั่วโลก โดยมีจุดประสงค์เพื่อติดตามการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลในด้านต่างๆ เช่น สิทธิมนุษยชน และการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม การสังเกตการณ์เช่นนี้ไม่ใช่การแสดงออกถึงการเลือกข้างทางการเมือง หรือสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
ถ้อยแถลงของอียูยังได้ขอบคุณตำรวจไทยที่ให้ความร่วมมือ โดยอำนวยความสะดวกแก่การสังเกตการณ์และบรรยายสรุปข้อเท็จจริงในคดีให้เจ้าหน้าที่การทูตได้รับทราบด้วย.
ภาพ: AFP
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :