สำนักข่าวไทย เปิดเผยว่า ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงคมนาคมได้บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเพื่ออำนวยความสะดวก รวดเร็ว และดูแลความปลอดภัยการเดินทางของประชาชนทั้งรถส่วนบุคคลและด้วยระบบการขนส่งสาธารณะ รวมถึงการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 ในช่วงวันหยุดต่อเนื่องระหว่างวันที่ 4–7 ก.ย. 2563 โดยข้อมูลสะสมเมื่อวันที่ 3–6 ก.ย. 2563 พบว่า มีประชาชนเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ 7,968,080 คน-เที่ยว ทั้งนี้ต่ำกว่าประมาณการ 10.63%
มีปริมาณการจราจรเข้า–ออกกรุงเทพฯ จำนวน 11,215,836 คัน สูงกว่าประมาณการ 36.21% โดยพบว่าส่วนใหญ่เป็นรถยนต์ส่วนบุคคล จำนวน 10,538,851 คัน ส่วนสถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุบนโครงข่ายทางถนนที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคม ในวันที่ 3–6 ก.ย. 2563 พบว่า มีจำนวนอุบัติเหตุเกิดขึ้น 325 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 48 คน บาดเจ็บ 309 คน บริเวณที่เกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่เป็นทางตรง 81.18%
สาเหตุสำคัญเกิดจากการขับรถเร็วเกินกำหนด โดยเกิดที่กรุงเทพฯ มากที่สุด จำนวน 32 ครั้ง สำหรับอุบัติเหตุที่มีรถจักรยานยนต์เกี่ยวข้อง จำนวน 92 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 25 คน บาดเจ็บ 115 คน เกิดที่จังหวัดราชบุรีและสุพรรณบุรี มากที่สุดจังหวัดละ 7 ครั้ง นอกจากนี้มีอุบัติเหตุโดยรถโดยสารสาธารณะ จำนวน 3 ครั้ง
ทั้งนี้ ไม่มีการเกิดอุบัติเหตุในบริการขนส่งสาธารณะทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ
ในการเตรียมความพร้อมของระบบขนส่งสาธารณะทุกประเภท ในวันที่ 3–6 ก.ย. 2563 สามารถรองรับการเดินทางของประชาชนได้อย่างเพียงพอ ไม่มีผู้โดยสารตกค้าง นอกจากนี้ในการตรวจความพร้อมของรถโดยสารสาธารณะ ณ จุดตรวจความพร้อม 121 แห่ง จำนวน 50,523 คัน พบข้อบกพร่อง 20 คัน และได้สั่งให้แก้ไขแล้ว
ส่วนความพร้อมของท่าเรือ/แพ ณ จุดตรวจความพร้อม 89 แห่ง จำนวน 1,152 ลำ พบมีเรือโดยสารไม่พร้อมใช้งาน จำนวน 1 ลำ และได้สั่งปรับปรุงแล้ว ด้านการปฏิบัติงานของพนักงานขับรถ เจ้าหน้าที่รถไฟ รถไฟฟ้า และผู้ประจำเรือไม่พบว่ามีการดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้สารเสพติด แต่อย่างใด
ชัยวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์การเดินทางและดำเนินการเพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะช่วงสุดท้ายของวันหยุดยาวตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 6 ก.ย. ต่อเนื่องถึงวันที่ 7 ก.ย. ที่ประชาชนจะเริ่มทยอยเดินทางกลับจากทุกภูมิภาค ซึ่งจะมีปริมาณการเดินทางที่สูงขึ้น โดยเน้นย้ำการบริหารจัดการจราจรเส้นทางบนโครงข่ายคมนาคมจะต้องไม่ติดขัด มีความคล่องตัวสามารถเคลื่อนตัวไปได้อย่างต่อเนื่อง เข้มงวดมาตรการด้านความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน เพื่อป้องกันและลดการเกิดอุบัติเหตุ ลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
สำหรับการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะทั้งรถโดยสาร รถไฟ/รถไฟฟ้า เรือ เครื่องบิน ประชาชนจะต้องได้รับความสะดวกอย่างเพียงพอ ไม่ล่าช้า ไม่มีผู้โดยสารตกค้าง ต้องไม่เกิดการเอาเปรียบผู้โดยสารโดยเด็ดขาด และผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานด้านความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด ผู้ประจำรถโดยสาร รถไฟ/รถไฟฟ้า เรือ เครื่องบิน จะต้องมีสภาพร่างกายที่พร้อมให้บริการ และรักษามาตรการด้านสาธารณะสุขเพื่อเฝ้าระวังป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อย่างเข้มงวด
นอกจากนี้ขอให้ประชาชนชนเพิ่มความระมัดระวังการขับขี่ยานพาหนะมากขึ้น เนื่องจากหลายพื้นที่มีฝนตกทำให้ถนนลื่น และขอให้ขับรถช้า เปิดไฟหน้า คาดเข็มขัดนิรภัย