ไม่พบผลการค้นหา
กมธ.วิสามัญ ร่าง พ.ร.บ. บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด สภาผู้แทนราษฎร แถลงย้ำทำหน้าที่อย่างละเอียด รอบคอบ ให้มีกฎหมายที่ละเอียดครอบคลุมทุกมิติ สิทธิ หน้าที่ ประชาชนและภาครัฐ คาดบังคับใช้ในปี 68 เริ่มตอกหมุดต่อสู้กับผู้ก่อมลพิษ สร้างแนวปฏิบัติลดปัญหา

วันนี้ (30 ต.ค.2567) นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด สภาผู้แทนราษฎร แถลงสรุปความคืบหน้าในการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการซึ่งทำหน้าที่ต่อเนื่องตั้งแต่สภาชุดที่ผ่านมา ด้วยการผนวกเนื้อหาของร่าง 7 ฉบับ แบ่งเป็นฉบับของพรรคการเมืองต่าง ๆ 5 ฉบับ ภาคประชาชน 1 ฉบับ และคณะรัฐมนตรี 1 ฉบับ โดยย้ำถึงความจริงจังและจริงใจในการทำหน้าที่ของกรรมาธิการอย่างเข้มข้นให้ร่างกฎหมายนี้มีความสมบูรณ์ครบถ้วน 

จักรพล ยอมรับมีความยากในบางประเด็น เพื่อให้เกิดความครอบคลุมทุกมิติทั้งสิทธิและหน้าที่ของประชาชนและภาครัฐ ด้วยการกำหนดกฎหมายให้มีกลไกบริหารจัดการ มีคณะกรรมการระดับชาติและท้องที่ รวมทั้งเครื่องมือในพื้นที่ที่หลากหลาย มีบทลงโทษทางแพ่งและอาญา มีการปรับทางพินัยต่อผู้กระทำผิด รวมถึงการสร้างแรงจูงใจในการสร้างอากาศสะอาด เรื่องมลพิษข้ามพรมแดนที่ผู้ก่อให้เกิดมลพิษต้องชดใช้ค่าเสียหายและการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม 

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการประชุมพิจารณากันทุกสัปดาห์เพื่อให้กฎหมายมีความละเอียดมีการตั้งคณะอนุกรรมธิการ 2 คณะ แบ่งเป็น

- คณะอนุกรรมาธิการพิจารณากรอบคิด หลักการสำคัญ และโครงสร้างการบริหารของกฎหมาย ซึ่งทำหน้าที่ดูในแต่ละหมวดแต่ละมาตรา และ

- คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาความรับผิดทางกฎหมายและการบังคับใช้ 

จักรพล ย้ำว่า ร่างกฎหมายนี้จะครอบคลุมถึงการดำเนินงานของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และภายหลังกฎหมายบังคับใช้ มีแผนนำไปสู่การจัดการปัญหาอย่างเป็นระบบ การจัดทำร่างกฎหมายนี้จึงไม่ใช่จะเห็นอากาศดีได้ทันทีเมื่อกฎหมายบังคับใช้ แต่เป็นการทวงคืนอากาศบริสุทธิ์ให้กับประชาชน เป็นการทำกฎหมายที่สมบูรณ์และครบถ้วนที่สุดให้กับประชาชน ในการตอกหมุดต่อสู้กับผู้ที่ก่อให้เกิดมลพิษ เป็นการสร้างแนวปฏิบัติให้การเกิดมลพิษลดน้อยลง และขยายเพดานในการพูดคุยกับประเทศเพื่อนบ้าน สร้างมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ ผลักดันส่งเสริมธุรกิจที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ และกำหนดภาษีบาปต่อผู้ก่อให้เกิดมลพิษอย่างหนัก

ด้าน น.ส.คนึงนิต ศรีบัวเอี่ยม รองประธานกรรมาธิการ ยอมรับว่า ในการจัดทำร่างกฎหมายมีความท้าทายในหลายด้าน ทั้งในเชิงเนื้อหาของกฎหมายและกระบวนการ  สำหรับในเชิงเนื้อหา เห็นว่าจะต้องบังคับใช้อย่างจริงจังในการให้สิทธิการหายใจ รวมถึงจัดการเรื่องจุดอ่อนจากภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม และภาคพลเมือง รวมถึงมลพิษข้ามแดน ซึ่งล้วนมีกฎหมายเฉพาะ

คนึงนิต ระบุอีกว่า ในการพิจารณาร่างกฎหมายอากาศสะอาดฉบับนี้ ต้องให้เกิดการบูรณาการร่วมกับกฎหมายอื่นได้ในทางปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนและความรับผิดชอบต่อส่วนรวมในการสร้างระบบตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพมาตรฐานเหมาะสมกับแต่ละประเภทกิจการ และไม่เป็นภาระต่อผู้ประกอบการมากเกินไป ส่วนเรื่องมลพิษข้ามแดนเป็นเรื่องของกฎหมายที่มีความซับซ้อนรวมถึงการบังคับคดีต่อผู้กระทำผิดในต่างประเทศ ซึ่งต้องมีการประสานความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน 

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการคาดว่าจะเสนอร่างกฎหมายให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาได้ในเดือนธันวาคมนี้ ก่อนส่งต่อวุฒิสภา และจะสามารถบังคับใช้ได้ในปี 2568