วันที่ 20 ก.พ. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้มีมติเห็นชอบกับรายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฏหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน เรื่อง ผลกระทบจากประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช.ศึกษากรณีการดำเนินคดีต่อพลเรือนในศาลทหาร การจำกัดเสรีภาพการแสดงออกและการจำกัดเสรีภาพสื่อมวลชน เพื่อส่งข้อสังเกตตามรายงานของคณะ กมธ.ต่อไปยังคณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และองค์กรอัยการ หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อควรทราบ หรือควรปฏิบัติเพื่อดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้ ช่วงหนึ่ง นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ในฐานะประธาน กมธ.ได้แถลงผลการศึกษาตอนหนึ่งว่า จากกรณีที่ตน และสมาชิกได้เสนอญัตติขอให้ตั้งกมธ.วิสามัญศึกษาผลกระทบจากบรรดาประกาศ และคำสั่งคสช. ตามมาตรา 44 แต่สภาโดยเสียงข้างมากมีมติไม่เห็นชอบ แต่ให้ดำเนินการเรื่องนี้ โดย กมธ.สามัญแทน อย่างไรก็ตาม จากการที่ กมธ.กฏหมายตั้งอนุกมธ.ขึ้นมาศึกษา พบว่า ตลอดช่วงเวลา 5 ปีในยุค คสช.มีการออกประกาศคำสั่ง คสช.จำนวนมาก คลอบคลุมและกระทบเนื้อหามากกมายหลายเรื่อง แต่เบื้องต้น กมธ.ได้ศึกษาใน 3 ประเด็น
1.การดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร โดยคสช.ได้ออกประกาศให้ศาลทหารมีเขตอำนาจในคดีบางประเภท อาทิ คดีที่เกี่ยวกับต่อความมั่นคง และฝ่าฝืนประกาศคสช. เป็นต้น โดยมีจำนวนมากถึง 1,886 คดี มีจำเลยที่เป็นพลเรือนกว่า 2,408 คน กรณีนี้เป็นเรื่องที่นานาชาติไม่ยอมรับ เพราะศาลทหารไทยไม่ได้มาตรฐาน ขาดความเป็นกลาง กมธ.จึงมีข้อเสนอว่า คดีที่เกี่ยวข้องกับการฝ่าฝืนคำสั่งคสช. ควรจะมีการออกกฏหมายประกาศความบริสุทธิ์ให้กับจำเลย และเยียวยาค่าเสียหาย ส่วนที่ศาลยังพิจารณาไม่เสร็จนั้น ในกรณีความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งคสช. ควรเขียนกฏหมายให้จำหน่ายคดีออกทันที
2.การจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก จะมีประกาศ คสช.สำคัญ 2 ฉบับที่เกียวข้อง ในการห้ามแสดงออกทางการเมือง คือ ฉบับที่ 7/2557 กับ 3/2558 โดยมีคดีในกรณีนี้ทั้งหมด 421 คน ขณะเดียวกัน ยังมีกรณีที่คสช.ออกคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัวแต่ไม่มา จึงมีโทษอีก 14 คน กมธ.จึงมีข้อเสนอว่า ให้ยกเลิกประกาศและคำสั่งคสช.ทุกฉบับที่เกี่ยวข้องกับจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก แม้จะมีการยกเลิกไปแล้วบางส่วน ส่วนที่เหลือก็ต้องตามไปยกเลิกให้หมด ส่วนคดีที่ยังค้างอยู่ กมธ.เสนอให้ยุติคดีทั้งหมด และที่สำคัญต้องตั้งระบบการจ่ายค่าชดเชยเยียวยาให้กับผู้ถูกจับกุมคุมขังในคดีเหล่านี้ทั้งหมดด้วย
3.การจำกัดเสรีของสื่อมวลชน แม้ คสช.จะไม่จำกัดโดยตรง แต่มักจะไหว้วานให้ กสทช.เป็นผู้ดำเนินการ โดย กสทช.ได้ใช้คำสั่ง คสช.มาเป็นเครื่องมือในการจำกัดสื่อ ทั้งสั่งปิด ลงโทษปรับ หรือเรียกไปทำเอ็มโอยู จำนวนทั้งสิ้น 59 กรณี โดย กมธ.เสนอให้ยกเลิกประกาศคำสั่งต่างๆ ที่เกี่ยวกับการจำกัดเสรีภาพสื่อ ที่สำคัญยังต้องชดเชยเยียวยาค่าเสียหายให้กับสื่อที่ได้รับผลกระทบในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาด้วย
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการแก้ไขอดีตในการปกครองจากอำนาจพิเศษในช่วงรัฐประหารครองอำนาจว่า มีการละเมิดเสรีภาพอย่างไรบ้าง กมธ.เห็นว่า ควรบันทึกข้อมูลเหล่านี้ไว้เผื่อไว้ หาหนทางเยียวยาทำให้ปัจจุบันดีขึ้น และอนาคตที่ดีกว่าเดิม