ไม่พบผลการค้นหา
สนทนากับอานนท์ นำภา จับตาความเข้มข้นของปฏิบัติการจากฝ่ายรัฐ ชี้ปีนี้มีแต่ "ความเดือด" ทั้งคดี 112 และความรุนแรงจากผู้ไม่หวังดี เชื่อราษฎรจะชิงชัย ปักธง 2564 ประชาชนจะต้องเลือกอนาคตของตัวเองได้ และผู้ลี้ภัยต้องได้กลับบ้าน

เรียกได้ว่าปี 2563 คือปีแห่งการดันเพดานในการพูดถึง และวิพากษ์วิจารณ์ตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย ในที่สาธารณะอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่สิ่งที่ได้มาก็มีราคาที่ต้องจ่ายอยู่มากพอสมควร ทั้งการหยิบยกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กลับมาบังคับอย่างเข้มข้นอีกครั้ง ทั้งการรวมตัวต่อต้าน คัดค้าน และข่มขู่จากมวลชนอีกฝ่ายหนึ่ง และที่น่าห่วงอีกหนึ่งอย่างคือสัญญาณความรุนแรงซึ่งกำลังปะทุขึ้นอย่างช้าๆ จากการออกหมายจับนักศึกษาธรรมศาสตร์ การใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มต่างๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปลายปีก่อน เรื่อยมาถึงต้นปีนี้

ภายใต้สถานการณ์ที่ฝั่งรัฐเริ่มเปลี่ยนท่าที และทวีความเข้มข้นในการควบคุมม็อบ ไปจนถึงการนำมาตรา 112 กลับมาใช้อย่างมีนัยสำคัญ คำถามจึงหวนกลับมาฝั่งราษฎรอีกครั้ง

‘วอยซ์’ พูดคุยกับ อานนท์ นำภา ลูกหลานชาวนาจากร้อยเอ็ด ทนายความสิทธิมนุษยชน หนึ่งในผู้เริ่มต้นปฏิบัติการเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดาว ย่างก้าวต่อจากนี้จะเดินไปอย่างไร จุดมุ่งหมาย ความฝัน และความหวังของปี 2564 คืออะไร


เปิดต้นปีด้วยไฟเขียวแห่งการปราบ

อานนท์ เปิดเผยว่า ณ เวลานี้ เริ่มมองเห็นเค้าลางว่าปีนี้จะเป็นปีที่ค่อนข้างดุเดือดของการใช้อำนาจรัฐ โดยเริ่มเห็นสัญญาณนี้มาตั้งแต่กลุ่ม Wevo ออกมาทำกิจกรรมขายกุ้งที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งในครั้งนั้นท่าทีของเจ้าหน้าที่ตำรวจดู Over Action เกินไป ทั้งที่กิจกรรมที่จัดขึ้นไม่ได้มีการปราศรัยไม่ได้ทำอะไรที่เป็นการกดดันรัฐบาลทางตรง แต่ตำรวจก็ตั้งแนว ตั้งแผง และบุกเข้ามาล้อมจับ เหมือนเป็นการซ้อมสลายการชุมนุม รวมทั้งกรณีที่ผ่านมามีการออกหมายจับนักศึกษาธรรมศาสตร์ มีการพาตัวไปค้นหอพัก ซึ่งดูเป็นการกระทำที่ไม่สมเหตุสมผล

เขาเชื่อว่า ทุกการกระทำของมนุษย์ล้วนแล้วแต่มีเหตุผล ปฏิกิริยาของเจ้าหน้าที่ตำรวจในครั้งนี้ก็อาจจะบอกอะไรบางอย่างอยู่ สำหรับตำรวจชั้นปฏิบัติการ ที่ต้องเผชิญหน้ากับผู้ชุมนุม นายตำรวจเหล่านี้ล้วนทำตามคำสั่งนาย หากไม่มีคำสั่งอะไรลงมาก็จะไม่ทำอะไร ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า ‘นาย’ ของพวกเขาคิดอะไรอยู่

“พวกนี้เขาทำตามคำสั่ง ถ้าไม่มีคำสั่งมาก็ไม่ทำ ประเด็นก็คือพวกนายที่มันดูดบุหรี่อยู่ที่บ้าน นั่งดูถ่ายทอดสดม็อบคิดอะไรอยู่ ถ้าให้ผมเดา ผมว่า นายสั่งมาว่า นายใหญ่อีกชั้นหนึ่ง ไม่ชอบให้มีการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ นายรองก็เลยต้องมาสั่งลูกน้องว่า ต่อไปนี้ห้ามแขวนป้าย ชุมนุม ปราศรัย ร้องเพลง อะไรก็แล้วแต่ห้ามทำทั้งหมด ห้ามไม่ให้มีม็อบลูกน้องมันก็เลยทำหนักๆ “

อานนท์ ยกตัวอย่างของการกระทำที่เกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ต่อไปถึง กรณีการชักธงแดง 112 ขึ้นเสาธงชาติหน้าสถานนีตำรวจว่า การกระทำดังกล่าวไม่ได้เป็นการทำอะไรกับธงชาติเลย เพียงแต่เป็นยืมเสาธงเพื่อทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น แต่ท่าทีที่เจ้าหน้าที่ตอบโต้กลับมานั้นดูจะรุนแรงผิดปกติ ซึ่งนี้ก็ถือเป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่กำลังบอกอยู่กลายๆ ว่า ปีนี้ทั้งปี เราอาจจะต้องเผชิญกับการใช้อำนาจรัฐแบบตรงๆ ไม่แฟร์ ไม่ถูกกฎหมาย ไปจนถึงขั้นว่าป่าเถื่อน

“ตอนแมนยูชนะเราก็เอาธงแมนยูขึ้น คือมันเป็นเรื่องตลก ไม่ใช่การเอาธงชาติมาเผา มากระทืบ มันก็เรื่องแค่ กูยืมเสาธงมึงหน่อย แต่ว่าปรากฏการณ์ที่มันตอบโต้มามันแรงผิดปกติ”

อานนท์.JPG

เป้าการคุกคาม จากแกนนำสู่การ์ดและผู้ชุมนุม

เขา ย้ำให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งในปฏิบัติการคุกคาม ทั้งที่เกิดขึ้นโดยรัฐ และมวลชนอีกฝั่งหนึ่งว่า เริ่มเปลี่ยนเป้าหมายในการคุกคามไปที่คนทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้ปราศรัย ไม่ใช่แกนนำ ไม่ได้มีสปอร์ตไลท์ส่อง สิ่งเหล่านี้เป็นการสื่อสารจากรัฐว่า เขาจะเล่นงานคุณเมื่อไหร่ก็ได้ รวมทั้งการที่ ผบ.ตร. ออกมาพูดให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังในการควบคุมม็อบได้ นี่ก็ยิ่งเป็นสัญญาณอันตราย เพราะเป็นการเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงเกินจำเป็น

“ส่วนหนึ่งที่เขากล้าออกมาพูด หรือทำแบบนี้คงเป็นเพราะ เขาคิดว่าม็อบไม่สามารถจัดระดมคนให้ออกมาชุมนุมได้แบบเวทีใหญ่ที่จะไปกดดันอะไรได้ขนาดนั้น เพราะตอนนี้ติดปัญหาโควิดอยู่ แต่ถ้าไปถึงจุดจุดหนึ่งโควิดก็เอาไม่อยู่”

อานนท์ ชี้แจงต่อว่า ในช่วงนี้ที่ไม่เห็นการชุมนุมของกลุ่มราษฎรนั้น ไม่ใช่เพราะการหวั่นเกรงต่อกฎหมายห้ามชุมนุม แต่เป็นเพราะประเมินแล้วว่าภายใต้สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งแม้จะไม่มีมาก แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงสวัสดิภาพของผู้ชุมนุมด้วย

นอกจากสวัสดิภาพความปลอดภัยจากโรคระบาดแล้ว อีกสิ่งที่เขากังวลคือ การใช้ความรุนแรง โดยช่วงที่ผ่านมาในเวลาห่างกันไม่ถึง 20 วัน มีเหตุการณ์ปาระเบิดปิงปองเกิดขึ้นสองครั้ง ฉะนั้นต่อไปหากจะมีชุมนุมใหญ่ สิ่งที่จะต้องเตรียมการให้ดีคือ คนที่ดูแลความปลอดภัย ซึ่งจะเรียกว่าการ์ด หรือมวลชนอาสา เพราะมีความเป็นไปได้สูงที่จะมีการใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นรัฐ หรือมวลชนฝ่ายตรงข้าม


ยิ่งคุกคาม การชุมนุมยิ่งเข้มข้น

นอกจากฝ่ายรัฐ และมวลชนอีกฝั่งหนึ่งที่เพิ่มความเข้มข้นในการจัดการกับม็อบแล้ว อานนท์เผยว่า ฝ่ายราษฎรเองก็จะเพิ่มระดับของเนื้อหา โดยจะเป็นการพูดถึงสถาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมามากขึ้นอีก จะไม่มีอีกแล้วที่พูดเพียงแค่ว่า รัฐบาลเอื้อประโยชน์ให้สถาบันกษัตริย์ ขยายพระราชอำนาจอย่างไร แต่จะพูดให้ตรงยิ่งกว่านั้น

เขายอมรับว่า การสื่อสารในเรื่องนี้ ไม่ใช่การพูดถึงสถาบันกษัตริย์ในด้านที่เป็นบวก แต่เป็นการพูดถึงในด้านลบ เพราะหากไม่เอาปัญหาขึ้นมาพูดอย่างตรงไปตรงมาจะแก้ปัญหากันได้อย่างไร ถ้าไม่พูดถึงปัญหาก็ไม่สามารถปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ได้ แต่เมื่อพูดไปแล้วสิ่งที่จะตามมาก็คือ การดำเนินคดี 112

“มันเลี่ยงไม่ได้จริงๆ 112 คุณไม่ได้ออกมาพูดชมนี่ คุณไม่ได้มาทรงพระเจริญ คุณออกมาพูดปัญหาของสถาบันกษัตริย์ คุณก็ต้องพูดในแง่ลบ ไม่งั้นมันจะนำไปสู่การปฏิรูปได้อย่างไร ฉะนั้นปีนี้ 112 มาเยอะ และเขามีไฟเขียวให้ใช้ 112 ด้วย”

อานนท์ มองถึงการเปลี่ยนแปลงการบังคับใช้กฎหมายมาตรา 112 จากช่วงที่มีการใช้อย่างมีนัยสำคัญทางการเมืองช่วงปี 2553 หลังรัฐประหารปี 2557 เรื่อยมาจนถึงช่วงที่มีสัญญาณให้เลิกใช้กฎหมายมาตรานี้ และสุดท้ายก็มีสัญญาณให้กลับมาใช้อีกนับตั้งแต่เดือน พ.ย. ปีที่ผ่านมาว่า สะท้อนถึงความไม่ขลังของกฎหมายมาตรานี้ และประชาชนก็มองออกว่าไปการใช้เพื่อจุดประสงค์ใด

เขาย้ำด้วยว่า สิ่งที่น่าสนใจกว่านั้น คือ ในช่วงหลังมานี้ ศาลไม่ยอมออกหมายจับคดี 112 ให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ออกเป็นหมายเรียกแทน เพราะศาลเองก็เห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาเป็นนักศึกษา เป็นทนายความ เป็นคนที่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ฉะนั้นก็ต้องทำไปตามกระบวนการคือ ออกหมายเรียกก่อน ซึ่งแตกต่างจากการดำเนินคดี 112 ในอดีตที่ผู้ถูกกล่าวหามักถูกหมายจับ และฝากขังทันที โดยไม่ได้รับการประกันตัว ปรากฏการณ์อาจสะท้อนว่า ศาลเองก็เห็นด้วยกับผู้ชุมนุมในระดับหนึ่ง

“ที่สำคัญผมคิดว่าศาลเห็นด้วยกับเราในระดับหนึ่งว่า เด็กมันพูดถูก แต่อาจจะพูดแรงไปไหม ทำไมไม่พูดให้มันสุภาพ อันนี้คือความกลัวเดิม แต่ในบริบทของคนรุ่นใหม่เขาคิดว่า หลายสิ่งที่ผ่านมามันมีความชอบธรรมเพียงพอที่จะพูดด้วยท่าทีแบบนั้น”

อานนท์.JPG

กม.หยุดความเคลื่อนไหวไม่ได้ เหลือแต่ความรุนแรง

อานนท์ มองว่า ในช่วงที่ผ่านมาฝ่ายรัฐเองก็น่าจะเห็นชัดเจนว่า การใช้กฎหมายแม้แต่มาตรา 112 ไม่สามารถหยุดความเคลื่อนไหวได้ ฉะนั้นสิ่งที่น่าห่วงกังวลคือ การหันมาเลือกใช้ความรุนแรงแทน

“ทุกครั้งที่มีม็อบมึงโดนระเบิดปิงปอง แต่อย่าลืมว่า เวลาคุณไปต่อยเด็กเรียน แล้วมันหลังชนฝา เด็กเรียน ไอ้แว่นมันก็ต่อยคุณสวนได้นะ พวกเราสันติวิธีเต็มที่ แต่บางทีมันถูกกดดันมันก็มีพลั้งพลาดได้เหมือนกัน เราก็พยายามจะคุมขบวนให้มันอยู่ แต่ไปถึงจุดจุดหนึ่งมันลำบาก ถ้าเราเห็นตำรวจถือกระบองมาตีนักศึกษา หรือตีเด็กผู้หญิง มวลชนมีอารมณ์ร่วมแน่ แล้วจะเอากันไม่อยู่ ซึ่งเขาก็รู้แล้วเขาก็พยายามแซะ ยั่วให้มันเกิดภาพแบบนี้”

อานนท์ เชื่อว่าการควบคุมม็อบโดยการใช้ความรุนแรง คุกคามแกนนำ และคนที่มาร่วมชุมนุม เป็นตำราที่ฝ่ายรัฐถนัด แต่สิ่งที่รัฐไม่รู้จะจัดการอย่างไรคือ การชุมนุมที่ไร้แกนนำแบบที่เกิดขึ้นในช่วงที่บรรดาแกนนำถูกจับเข้าคุกหมด แล้วประชาชนนัดหมายไปชุมนุมกันตามสถานีรถไฟฟ้า หรือตามจุดต่างๆ มีคนออกมาเป็นหมื่นเป็นแสน พอตำรวจฉีดน้ำใส่คนที่มาชุมนุม วันต่อมาคนก็ออกมาเพิ่มอีก ปรากฏการณ์แบบนี้ไม่ได้อยู่ในตำราของฝ่ายรัฐ และรัฐไม่รู้จะจัดการกับสถานการณ์อย่างไร


กำหนดอนาคตตัวเอง - พาผู้ลี้ภัยกลับบ้าน

อานนท์ เปิดเผยว่า เป้าหมายของปี 2564 สำหรับตัวเขาเองคือ การทำให้คนกล้าออกจากกรอบความคิดที่ปิดกั้นไม่ให้เลือกอนาคตของตัวเองได้ เพราะการที่ประชาชนไม่สามารถตัดสินอนาคตของตัวเองในเรื่องใหญ่ๆ อย่างเช่น การเลือกระบอบการเมืองการปกครอง การเลือกรัฐธรรมนูญ การเลือกนายกรัฐมนตรี ก็ไม่ถือว่ามีสิทธิเสรีภาพอย่างแท้จริง

“สมมติว่า คุณอยากให้มีการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ ก็เสนอมา ถ้าคนในสังคมเห็นด้วยมันก็ต้องไปตามนั้น ถ้าคุณต้องการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็เสนอ แล้วมาอภิปรายกัน คุณต้องการสาธารณรัฐก็เสนอมา แล้วอภิปรายกัน ถ้าคุณต้องการระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เป็นประมุขก็เสนอมา ปีนี้ถ้าเราไปถึงจุดนี้ได้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว แต่ถ้าดูจากกระแสทั้งหมดหากคนเดินไปถึงจุดที่ต้องการจะเลือกประมุขได้โดยตรง นั้นหมายความว่ามันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งกฎหมายไทยห้ามทำ ถ้ามันเดินไปถึงจุดที่คนอยากทำ แต่รัฐห้ามทำ นั่นจะเป็นจุดแตกหักอีกครั้งหนึ่ง และรัฐปราบแน่ ใช้ความรุนแรงแน่ และม็อบก็จะไม่ยอมแน่ๆ แต่สำหรับผมสถานการณ์ตอนนี้มันอยู่ในขั้นที่เรายังสามารถพูดคุยกันได้อยู่ และไม่อยากให้ได้ไปถึงจุดที่ต้องแตกหักกันโดยไม่จำเป็น มันไม่จำเป็นต้องมาฆ่ากันโดยความเห็นทางการเมือง แต่รัฐก็คงไม่ยอม”

นอกจากนี้อานนท์ กล่าวถึงการโพสต์เฟซบุ๊กของเขาในช่วงต้นปีซึ่งระบุว่า ภารกิจสำคัญของปี 2564 คือการพาผู้ลี้ภัยกลับบ้าน โดยชี้แจงว่า นั่นคือสิ่งที่จะต้องทำเมื่อประเทศไทยกลับสู่การปกครองที่เป็นประชาธิปไตย การที่จะพาผู้ลี้ภัยกลับบ้านได้โจทย์ใหญ่จริงๆ คือ การชนะในทางการเมือง คือการทำให้คนในสังคมกลับมาสู่หลักการประชาธิปไตย

“ขั้นต่ำ ถ้าพวกเขากลับมาก็มามอบตัว ขึ้นศาล ได้ประกัน และก็สู้คดีกันไป แต่ต้องมีระบบศาลที่ยุติธรรม มันก็น่าจะไปได้อยู่ แต่ว่าตอนนี้การกลับมามันไม่ได้มีแค่เรื่องคดีอย่างเดียว แต่มันเสี่ยงต่อการถูกทำร้ายทำลายชีวิต ถ้าสมศักดิ์ เจียมฯ กลับมาวันนี้ ทหารก็คงไม่เอาไว้ พวกที่เคยลงมือกับผู้ลี้ภัยก็คงไม่เอาไว้ และพวกนั้นก็ยังมีอำนาจ และมีศักยภาพที่สามารถทำได้ จะทำอย่างไรให้ผู้ลี้ภัยกลับบ้านได้นี่คือโจทย์”

“ผมคิดว่าทุกคนอยากกลับบ้าน เพราะความรู้สึกที่ว่า เรามีบ้านอยู่ที่ไทย อยากกลับเมื่อไหร่ก็ได้ มันเป็นความอิ่มใจลึกๆ แต่ก่อนที่จะกลับบ้านได้ บ้านมันก็ต้องพร้อมให้กลับ สมมติผมอยากกลับไปพิษณุโลก โทรกลับไปเฮ้ยพิษณุโลกเป็นไงบ้างวะ น้ำลดยัง โจรออกไปจากบ้านเรายัง คือมันต้องปลอดภัย ถึงจะกลับได้ แต่ตอนนี้มันไม่ปลอดภัย โจรก็ยังอยู่ในบ้าน น้ำก็ยังไม่ลด จระเข้ก็ยังเต็มหน้าบ้านอยู่ มันก็กลับไม่ได้”


'รางวัลกวางจู' ทำให้รู้ว่าราษฎรไม่ได้เดียวดาย

น่าจะเป็นที่รู้กันดีในกลุ่มผู้ที่ติดตามการเมืองอย่างใกล้ชิด ว่าปีนี้ 'มูลนิธิอนุสรณ์ 18 พฤษภาคม’ ในสาธารณรัฐเกาหลี ได้มอบรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2564 ให้กับอานนท์ หลังจากที่ได้รู้ว่าตัวเองได้รางวัลนี้ เขารู้สึกว่า หลายสิ่ง หลายอย่างที่ทุกคนในขบวนได้ร่วมกันผลักดันมา วันนี้ได้มีคนเห็นด้วย ยิ่งการได้รับรางวัลจากองค์กรที่ทำงานในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้กับอำนาจรัฐด้วย ยิ่งทำให้รู้สึกถึงการมีพรรคพวก

“ความมันส์ ของมันจริงๆ ไม่ใช่เรื่องการรับรางวัลหรืออะไรหรอก ความมันส์ ของมันจริงๆ คือ การได้ทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำแต่ไม่ได้ทำ คุณเคยอยากไปชักว่าวที่สนามหลวงไหม คุณเคยอยากทำใช่มั้ย แล้วเขาห้าม การที่อยู่ๆ คุณไปทำ แล้วคนบอกเฮ้ยมันทำได้ มันรู้สึกสุดยอดไหม”

“ถามว่าภูมิใจไหม มันไม่เหมือนกับเราไปสอบแข่งขันแล้วเข้ารอบ แต่มันรู้สึกว่ามีคนเห็นด้วยกับเรา เหมือนว่าคุณจะไปต่อยคนอื่น ไปสู้กับคนอื่น แล้วมันมีคนเห็นด้วยกับคุณเยอะๆ น่ะ อย่างน้อยถ้าคุณล้มไป มันก็มีคนพยุงคุณขึ้นมาโดนหมัดอีก”


บนเส้นทางความจริงและความหวัง

บทสนทนาทั้งหมดกับอานนท์ถูกหล่อเลี้ยงไปด้วยความหวัง เมื่อถามถึงความสิ้นหวังและการมองโลกในมุมที่เป็นจริง อานนท์ก็ยังคงยืนยันว่า เขามองไม่เห็นความสิ้นหวังในขบวนการ และความเคลื่อนไหวครั้งนี้ แต่ยอมรับว่า ความเชื่อนี้วางอยู่บนพื้นฐานของความจริง พูดอย่างถึงที่สุดความเคลื่อนไหวครั้งนี้จะได้รับชัยชนะ แต่ในวันที่ชนะเมื่อหันไปมองรอบข้างอาจจะเห็นว่าคนที่เดินร่วมกันมาตั้งแต่ต้น อาจไม่ได้อยู่พร้อมหน้ากันทุกคน

“ขบวนนี้ชนะแน่ ยังไงถึงเส้นชัยแน่ แต่ที่เส้นชัยเราอาจจะไม่ได้เห็นเพื่อนบางคน หรือที่เส้นชัยก็อาจจะไม่มีเรายืนอยู่ตรงนั้น แต่ยังไงมันก็ต้องไปถึงเส้นชัย สุดท้ายมันก็จะเป็นชัยชนะร่วมกัน ถ้าใครไปไม่ถึง เราก็บอกคนที่ยืนอยู่ด้วยกันว่า การต่อสู้ที่ผ่านมามันมีเพื่อนคนหนึ่งที่ร่วมสู้กับเรามา มันไม่ได้มีบทสรุปว่าเราสู้กันมาร้อยคน เราต้องไปถึงเส้นชัยด้วยกันร้อยคน บางคนก็อาจจะแยกทางออกไป หรือล้มหายตายจากไปก็ได้ แต่ขบวนนี้มันไม่มีความสิ้นหวัง ถ้าไปถึงเส้นชัยแล้วไม่เจอผมก็คิดถึงผมหน่อยแล้วกัน หรือถ้าผมไปถึงเส้นชัยแล้วไม่เห็นคุณผมก็จะคิดถึงคุณเหมือนกัน”

อานนท์.JPG