ไม่พบผลการค้นหา
โครงการคอนโดและตึกระฟ้าในกรุงโตเกียวขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่เมืองใหญ่อื่นๆ ในญี่ปุ่นกลับเห็นต่าง 'ซัปโปโร' ห้ามสร้างคอนโดใกล้แหล่งท่องเที่ยว-ส่วน 'โกเบ' เล็งออกกฎห้ามสร้างคอนโดในเมือง เกรงคนอยู่อาศัยกระจุกตัว จนเกิด 'หมู่บ้านร้าง' ในชนบท

ปัจจุบัน ตึกระฟ้า 'อาเบโนะ ฮารุกะ' ในนครโอซะกะของญี่ปุ่น ความสูงกว่า 300 เมตร ยังเป็นตึกสูงที่สุดในญี่ปุ่น แต่ในอนาคต อีก 2 ตึกจะมาทำลายสถิติความสูงของตึกแห่งนี้ เนื่องจากบริษัท Mori Building ธุรกิจพัฒนาที่ดินรายใหญ่ของประเทศ กำลังก่อสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ในย่านรปปงงิของกรุงโตเกียว โดยใช้ชื่อว่า 'โทระโนะมอน-อาซะบุได' ซึ่งมีทั้งอาคารพาณิชย์ พื้นที่สีเขียว แหล่งช็อปปิงสันทนาการ และตึกระฟ้าความสูงกว่า 330 เมตร ที่จะมา 'ล้มแชมป์' ตึกอาเบโนะฯ 

อย่างไรก็ตาม ในปี 2027 ตึกระฟ้าในโครงการโทระโนะมอน-อาซะบุได ก็จะถูกแซงหน้าด้วยตึกระฟ้าแห่งใหม่ใกล้สถานีโตเกียว ซึ่งพัฒนาโดยบริษัทมิตซูบิชิเอสเตท ถูกตั้งเป้าไว้ว่าจะเป็นตึกสูงกว่า 390 เมตร และจะต้องแล้วเสร็จภายในปีดังกล่าว

หนังสือพิมพ์เดอะสเตรทไทม์สของสิงคโปร์รายงานว่า โครงการอสังหาริมทรัพย์ของ 'โมริ บิลดิง' ในย่านกรุงโตเกียว ใช้เงินลงทุนกว่า 7,500 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2.32 แสนล้านบาท คาดว่าจะดึงดูดผู้มาเยี่ยมเยือนและจับจ่ายใช้สอยในโครงการแห่งนี้ประมาณ 25-35 ล้านคนต่อปี รวมถึงพนักงานออฟฟิศราว 20,000 คน และผู้ที่พักอาศัยในคอนโดมีเนียมของโครงการอีกประมาณ 3,500 คน 

ภาครัฐและเอกชนของญี่ปุ่นหวังว่าโครงการ 'โทระโนะมอน-อาซะบุได' จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ การลงทุน และการท่องเที่ยวได้อีกทางหนึ่ง เพราะบริษัท โมริ บิลดิง เป็นผู้พัฒนาโครงการ 'ทีมแล็บ บอร์เดอร์เลส' พื้นที่จัดแสดงดิจิทัลอาร์ตในย่านโอไดบะของโตเกียว ซึ่งได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวและผู้สนใจงานศิลปะดิจิทัลให้มาเยี่ยมชม และ 'โยชิฮิเดะ สุกะ' เลขาธิการสำนักนายกรัฐมนตรีแห่งญี่ปุ่น ยกย่องว่าเป็น 'ต้นแบบของการท่องเที่ยวแห่งอนาคต' 

พิพิธภัณฑ์ดิจิทัล ทีมแล็บ โตเกียว ญี่ปุ่น
  • พิพิธภัณฑ์ศิลปะดิจิทัลในย่านโอไดบะ ได้รับคำชมว่าเป็นต้นแบบการท่องเที่ยวแห่งอนาคต
พิพิธภัณฑ์ดิจิทัล ทีมแล็บ โตเกียว ญี่ปุ่น

ปัจจัยเสี่ยง 'ฟองสบู่แตก' และ 'สิ่งปลูกสร้างไม่สัมพันธ์กับประชากร'

การขยายตัวของโครงการก่อสร้างตึกระฟ้าและคอนโดมิเนียมในกรุงโตเกียวขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ขณะที่ราคาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่กรุงโตเกียวก็เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นปีที่ 6 แต่ 'นิกเกอิ เอเชี่ยน รีวิว' สื่อธุรกิจของญี่ปุ่น ประเมินว่ากระแสนิยมในการก่อสร้างอาคารสูงและคอนโดมิเนียมยังกระจุกตัวอยู่แค่ในเขตเมืองใหญ่ และมีเพียง 5 จังหวัดและเขตปกครองเท่านั้นที่มีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น สวนทางอีก 42 จังหวัดที่เหลือ ที่นิ่งเฉยกับการสร้างคอนโดฯ หรือตึกสูงในเขตเมือง เพราะเกรงว่าจะประสบปัญหาคนอพยพจากชนบทไปกระจุกตัวอยู่ในเมืองแทน

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ รัฐบาลท้องถิ่นในโกเบและซัปโปโร กำลังพิจารณาบังคับใช้ข้อห้ามก่อสร้างตึกระฟ้าหรือคอนโดมิเนียมในเขตเมืองตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นไป โดย 'โกเบ' สั่งห้ามสร้างคอนโดฯ และอาคารสูงในพื้นที่รอบสถานีรถไฟความเร็วสูงชิน-โกเบ รวม 292 เฮกตาร์ เพราะเกรงว่าประชากรในย่านชนบทจะย้ายถิ่นฐานไปกระจุกตัวอยู่ในเมืองแทน และทำให้เกิด 'หมู่บ้านร้าง' นอกเมือง

นอกจากนี้ คิโสะ ฮิซาโมโตะ นายกเทศมนตรีเมืองโกเบ มองว่าการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ในโกเบเป็นอนาคตที่คาดเดาลำบาก มีความเสี่ยงที่จะประสบภาวะ 'ฟองสบู่แตก' เพราะศักยภาพในการดึงดูดการลงทุนด้านอื่นๆ ของโกเบไม่ได้เทียบเท่ากับโตเกียวหรือโอซะกะ เนื่องจากประสบปัญหาแรงงานขาดแคลนอยู่แล้ว

ขณะที่ 'ซัปโปโร' ศูนย์กลางความเจริญของเกาะฮกไกโด ทางเหนือของญี่ปุ่น ผ่อนผันการก่อสร้างอาคารสูงรอบสวนสาธารณะโอโดริ ซึ่งเป็นสถานที่จัดเทศกาลชมดอกไม้ตามฤดูกาลต่างๆ และเทศกาลเบียร์กลางแจ้งช่วงฤดูร้อน โดยเทศบาลซัปโปโรอนุญาตให้สร้างโรงแรม อาคารพาณิชย์ และแหล่งช็อปปิงได้ แต่ไม่อนุญาตให้สร้างคอนโดมิเนียมเพื่ออยู่อาศัย เพราะที่ผ่านมา ผู้พักอาศัยอยู่ในละแวกสวนโอโดริมักมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับเสียงดังในช่วงเทศกาลเบียร์ จึงมีข้อเสนอให้แบนการสร้างคอนโดใกล้กับสวนโอโดริไปเลย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: