ไม่พบผลการค้นหา
ในปี 2557 'บิล เกตส์' เริ่มให้ความสนใจโรคอีโบลาและสานต่อประเด็นโรคระบาด พร้อมเดินสายขอความร่วมมือกับผู้นำทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่หวัง

ในบทสัมภาษณ์พิเศษล่าสุดกับหนังสือพิมพ์เดอะวอลสตรีทเจอร์นัล 'บิล เกตส์' ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟต์และประธานร่วมมูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์ กล่าวถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาดในปัจจุบันว่า "ผมรู้สึกย่ำแย่...ผมอยากจะย้อนกลับไปสร้างความตระหนักถึงอันตรายนี้ให้มากกว่าเดิม...เป้าหมายทั้งหมดของการพูดถึงสิ่งเหล่านี้ก็เพื่อให้เราสามารถจัดการและลดความเสียหายลงให้เหลือน้อยที่สุด"

บิล เกตส์ - เมลินดา เกตส์ - AFP
  • เมลินดา เกตส์ (ซ้าย), บิล เกตส์ (ขวา)
เตือน เตือน และเตือนมาตลอด

ย้อนกลับไปในปี 2543 'บิล เกตส์' และ 'เมลิดา เกตส์' ภรรยา ตั้งมูลนิธิเกตส์ฯ ขึ้นมาโดยมีเป้าหมายหลักในการสนับสนุนการคิดค้นนวัตกรรมทางยารักษาโรคเพื่อต่อสู้กับโรคติดต่อและกระจายยาหรือวัคซีนเหล่านั้นไปยังพื้นที่ห่างไกล รวมไปถึงการลดความเหลื่อมล้ำต่างๆ

ในปี 2557 ความสนใจหลักๆ ของมูลนิธิเริ่มพุ่งไปอยู่ที่การจัดการกับปัญหาไวรัสอีโบลาในขณะนั้น 'บิล เกตส์' ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์เดอะวอลสตรีทเจอร์นัลว่า "โลกทั้งใบยังไม่มีความพร้อมรับมือกับการภาวะโรคระบาด"

ขณะที่ในปีต่อมา 'บิล เกตส์' ยังไปขึ้นเวทีบรรยายชื่อดังอย่างเท็ดทอล์ค (TED Talk) เพื่อพูดคุยเรื่องอันตรายที่โรคระบาดมีต่อโลกจะรุนแรงมากกว่าสงครามนิวเคลียร์เนื่องจากแต่ละประเทศมีระบบป้องกันตัวเองต่อประเด็นดังกล่าวที่น้อยเกินไป พร้อมยังเรียกร้องให้มีระบบเตือนภัยและตอบโต้ระหว่างประเทศพร้อมกับหน่วยบุคลากรณ์ทางการแพทย์ เคลื่อนวินิจฉัยโรค คลังยา และเทคโนโลยีในการผลิตวัคซีนเคลื่อนที่ด้วย

ผู้ร่วมก่อตั้งไมโครซอฟต์ บริษัทที่มีมูลค่าทางการตลาดมากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของโลกตามข้อมูลจากนิตยสารฟอร์บส ยังเขียนลงบทความความยาว 4 หน้า ภายใต้ชื่อ 'The Next Epidemic — Lessons from Ebola' (โรคระบาดครั้งต่อไป - บทเรียนจากอีโบลา) ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์นิวอิงแลนด์ มีใจความในช่วงต้นระบุว่า อีโบลาไม่ใช่โรคระบาดที่ร้ายแรงที่สุดที่มนุษย์รู้จัก ไวรัสอื่นๆ อาทิ กลุ่มพารามิคซึ่งทำให้เกิดโรคหัด หรือไวรัสอินฟลูเอนซาที่ทำให้เกิดโรคไข้หวัดใหญ่ เป็นตัวกลางให้เกิดโรคติดต่อที่ร้ายแรงกว่ามากเพราะสามารถแพร่เชื้อผ่านอากาศได้โดยไม่ต้องอาศัยการสัมผัสตัว ทำให้ผู้คนไม่ตระหนักว่าตนเองติดเชื้อหรือเป็นพาหะหรือไม่ ด้วยเหตุนี้ จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ภาวะโรคระบาดจากเชื้อไวรัสที่ติดต่อได้ง่ายจะเกิดขึ้นอีกช่วงเวลาหนึ่งในระยะ 20 ปีข้างหน้า

"อันที่จริง จากทุกอย่างที่สามารถฆ่าประชากรได้มากกว่า 10 ล้านคนทั่วโลก สิ่งที่ใกล้เคียงที่สุดก็คือภาวะโรคระบาดที่ถ้าไม่เกิดจากธรรมชาติก็เกิดจากการก่อการร้ายทางชีวภาพ" เกตส์ ระบุ

ในช่วงท้ายของบทความ 'บิล เกตส์' ออกมาเรียกร้องให้ประเทศผู้นำอย่างสหรัฐฯ รวมถึงประเทศอื่น และองค์กรที่เกี่ยวข้องเร่งเตรียมความพร้อมรับมือกับความเสี่ยงโรคระบาดที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากหากประเทศใหญ่ๆ หรือองค์กรระดับโลกมีแผนที่ชัดเจน ประเทศอื่นๆ จะสามารถพัฒนาแผนต่างๆ และเข้าใจบทบาทของตนเองได้ดียิ่งขึ้น 

ประโยคสุดท้ายในบทความระบุว่า "ภาวะโรคระบาดเป็นหนึ่งในหายนะที่จะฉุดให้โลกถอยหลังกลับอย่างใหญ่หลวงในสองสามทศวรรษข้างหน้า แต่เราสามารถเตรียมพร้อมรับมือและป้องกันการสูญเสียชีวิตหลักหลายล้านได้ด้วยการสร้างระบบเตือนภัยและตอบโต้ระดับโลก"

ในปี 2559 'บิล เกตส์' ยังเดินหน้านำประเด็นโรคระบาดขึ้นมาพูดท่ามกลางการหาเสียงเพื่อเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ในขณะนั้น และสานต่อในการประชุมด้านความมั่นคงมิวนิคซึ่งเป็นการประชุมประจำปีเกี่ยวกับนโยบายความมั่นคงระหว่างประเทศในปี 2560 ผ่านเนื้อหาในการแสดงความเห็นตอนหนึ่งว่า "การเตรียมพร้อมรับมือกับภาวะการระบาดของโรคระบาดทั่วโลกมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการปราบปรามนิวเคลียร์หรือการหลีกเลี่ยงหายนะทางสภาพภูมิอากาศ" 

ในงานประชุมนั้น 'บิล เกตส์' ยังพูดถึงทางออกในการผลิตวัคซีนให้รวดเร็วกว่าเดิมด้วยการใช้ส่วนผสมที่เตรียมพร้อมไว้แล้วในการสร้างวัคซีนเฉพาะเพื่อต่อสู้กับไวรัสชนิดใหม่ ซึ่งในขณะนั้น มูลนิธิเกตส์ฯ สนับสนุนเงินทุนไปแล้วกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3,200 ล้านบาท พร้อมกับเดินสายพูดคุยกับเหล่าผู้นำประเทศที่จะเป็นตัวหลักในการแก้ปัญหานี้อย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม นอกจากเสียงสนับสนุนในเชิงหลักการที่ได้รับกลับมา ผลลัพธ์ในเชิงรูปธรรมกลับไม่เป็นที่ประจักษ์สักเท่าไหร่

ในสายตาของมหาเศรษฐี 'ผู้ใจบุญ' รายนี้ มองว่าแม้ตนเองจะทุ่มเงินหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลงไปกับเรื่องดังกล่าว "แต่มันเป็นเรื่องของรัฐบาล เหมือนกับงบกระทรวงกลาโหมที่เอาไว้ช่วยประเทศในยามที่มีสงคราม" 

นอกจากนี้ 'บิล เกตส์' ยังพุ่งเป้าไปที่การลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสผ่านระบบทางเดินหายใจ ด้วยการลงทุนด้วยเงินส่วนตัวราวๆ 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 641 ล้านบาท ในงานศึกษาที่เริ่มดำเนินการในปี 2561 ที่มีการคิดค้นวิธีตรวจโรคไข้หวัดแบบใหม่รวมไปถึงการออกแบบติดตามการแพร่เชื้อเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาด 

หลังจากช่วงเวลาหลายปีที่ 'บิล เกตส์' ออกมาเตือนและเรียกร้องให้มีการเตรียมพร้อมรับมือโรคระบาด ช่วงปลายปี 2562 ก็เริ่มมีข่าวลือเกี่ยวกับแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสปริศนาออกมาจากประเทศจีน ก่อนที่ไม่กี่เดือนต่อมา 'โควิด-19' ชื่อโรคอย่างเป็นทางการที่เกิดจากเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 หรือ 'เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่' จะทำให้มีตัวเลขผู้เสียชีวิตทั่วโลก ตามข้อมูลจากเว็บไซต์ world meters ณ วันที่ 15 พ.ค.เวลา 16.00 น.กว่า 300,000 ราย และมีผู้ติดเชื้อสะสมทั้งหมดมากกว่า 4,500,000 คน 


ความแคลงใจของสังคม

แม้ในวิกฤตครั้งนี้ มูลนิธิของเกตส์ จะทุ่มเงินไปแล้วกว่า 305 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 9,700 ล้านบาท ในการสนับสนุนนักวิจัยผลิตวัคซีนรักษาโรคและอัดฉีดเม็ดเงินเข้าโรงงานการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ แต่ 'บิล เกตส์' ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าสิ่งที่เขาทำเป็นไปเพื่อการสร้างภาพไม่ให้ถูกมองว่าเป็น 'นายทุนอำมหิต' ก็เท่านั้น อีกทั้งหลายฝ่ายยังมองว่ามหาเศรษฐีผู้ใจบุญรายนี้เข้าข้างจีน จากประเด็นที่ตัว 'บิล เกตส์' ออกมาวิจารณ์การหยุดสนับสนุนเงินทุนของสหรัฐฯ ให้กับองค์กรอนามัยโลก (WHO) ที่หลายฝ่ายมองว่าปกป้องจีนมาตลอด 

ทวิตเตอร์อย่างเป็นทางการของ 'บิล เกตส์' ทวีตข้อความเมื่อวันที่ 15 เม.ย.มีใจความว่า

  • "การหยุดสนับสนุนเงินทุนให้กับองค์กรอนามัยโลกท่ามกลางวิกฤตสุขภาพระดับโลกเป็นเรื่องที่อันตรายมาก การทำงานของพวกเขาทำให้การแพร่กระจายของโรคโควิด-19 ช้าลง และถ้างานของพวกเขาต้องถูกหยุด ก็ไม่มีองค์กรใดสามารถมาทดแทนได้ โลกต้องการ @WHO ตอนนี้มากกว่าเวลาไหนๆ" 


ส่วนหนึ่งที่ทำให้ 'บิล เกตส์' ออกมาสนับสนุนองค์กรอนามัยโลกขนาดนี้อาจมาจากความจริงที่ว่า มูลนิธิของเกตส์สนับสนุนเงินทุนมาที่สุดเป็นอันดับที่สองรองจากรัฐบาลสหรัฐฯ เท่านั้น 

ในช่วงท้ายของบทสัมภาษณ์ครั้งนี้ 'บิล เกตส์' ย้ำว่า "ความหวังของผมตอนนี้คือให้ผู้นำทั่วโลก ผู้ที่มีความรับผิดชอบต้องปกป้องประชากรของพวกเขา เรียนรู้จากโศกนาฏกรรมครั้งนี้และลงทุนในระบบที่จะป้องกันการแพร่ระบาดที่ควบคุมไม่ได้ในครั้งหน้า"

อ้างอิง; WSJ