ไม่พบผลการค้นหา
องค์กรสิทธิมนุษยชนภาคประชาชนยื่นหนังสือขอสภาฯ เห็นชอบรับร่าง พ.ร.บ.ป้องกันปราบปรามทรมานฯ เร่งโหวตรับวาระแรก ขณะที่พรรคร่วมฝ่ายค้านรับปากโหวตหนุน ผลักดันคลอดบังคับใช้เป็นกฎหมายปลุก ส.ส.ทุกเสียงรับ สื่อแทนคำขอโทษต่อผู้สูญเสียในอดีต

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 15 ก.ย. 2564 ที่รัฐสภา ตัวแทนองค์กรสิทธิมนุษยชนภาคประชาชน ยื่นหนังสือผ่าน ประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย ณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ สาคร เกี่ยวข้อง ส.ส.กระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคการเมืองอื่นๆ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยมี พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและบังคับให้สูญหาย และกำหนดให้ทั้ง 2 ข้อหานี้มีความผิดทางอาญารวมถึงสามารถนำผู้กระทำความผิดที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หรือผู้ที่มีส่วนสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยเร็ว 

โดยตัวแทนองค์กรฯ กล่าวว่า เรามีประสบการณ์ด้านการทำงานช่วยเหลือผู้เสียหายจากการทรมานและการอุ้มหาย เช่น กรณีที่ จ.ปราจีนบุรี เป็นเวลา 12 ปีที่ผู้เสียหายไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้ ทั้งยังต้องฟ้องร้องคดีเองและการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการนำเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาสู่กระบวนการมีความยากลำบาก ดังนั้น พ.ร.บ.ฉบับนี้จะกำหนดฐานความผิดที่ชัดเจนมากขึ้น สามารถสอบสวนสืบสวนได้อย่างอิสระ และเป็นมาตรการป้องกันสำคัญว่า การทรมานและการบังคับสูญหายเป็นความผิดทางอาญาของประเทศไทย และสามารถบอกกับประชาคมระหว่างประเทศได้ว่า เราให้คำมั่นสัญญากับองค์การสหประชาชาติและประเทศต่างๆ ความผิดนี้เป็นความผิดอาญาสากล จึงมีความสำคัญที่ประเทศไทยจะต้องสร้างมาตรฐานกฎหมาย จึงอยากให้ส.ส.อภิปรายสนับสนุนและลงมติให้พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านวาระ 1 เพื่อให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณารายมาตราและปรับปรุง นำร่างของส.ส.รวมกับร่างของกระทรวงยุติธรรมที่นายกรัฐมนตรีได้เร่งรัดเข้ามาตั้งแต่วันที่ 17 ส.ค. โดยอยากให้ผ่านกฎหมายโดยเร็วและเป็นกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิในชีวิตของประชาชนทุกคน

ด้าน ประเสริฐ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยยินดีให้การสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ที่เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ โดยได้เตรียมผู้อภิปรายในส่วนที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ในการผลักดันเรื่องการทรมานและบังคับสูญหาย ซึ่งเป็นแนวทางที่พรรค พท.ต่อสู้มาตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระทำที่เกินกว่าเหตุในเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งนอกจากจะตราเป็นกฎหมายแล้ว อนุสนธิสัญญาระหว่างประเทศอีกหลายองค์กรยังให้ความสำคัญด้วย หลังจากอภิปรายในสภาฯ แล้วในชั้นกมธ.ก็จะทำความเข้าใจกับส.ส.พรรคให้ตรงกับความต้องการของประชาชน และให้เกิดประโยชน์กับประชาชนให้มากที่สุด

ด้าน ชวลิต กล่าวว่า ตนในฐานะรองประธานกมธ.กฎหมายฯ จะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ซึ่งตนก็จะเป็นกมธ.วิสามัญด้วย พรรคพท.ให้ความสำคัญเรื่องนี้อย่างยิ่ง และคิดว่าทุกพรรคการเมืองให้ความสำคัญที่จะผ่านกฎหมายในวาระที่ 1 และลงรายละเอียดในวาระที่ 2 ต่อไป ส่วนในวาระที่ 3 ก็คงจะออกมาบังคับใช้เป็นกฎหมายอย่างแน่นอน เรามีการซ้อมทรมานและบุคคลสูญหายทั้งในอดีต และปัจจุบันซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นในสังคม

ก้าวไกล พรบ ซ้อมทรมาน F61CC72D-932F-499C-A698-C7EFC2532679.jpeg

ขณะที่ ณัฐวุฒิ กล่าวว่า เราต้องย้ำว่าการพิจารณาของสภาฯ เลื่อนวาระขึ้นมาพิจารณาเป็นลำดับที่ 3 ของวันนี้ ถือเป็นความคืบหน้าระดับหนึ่งบนพื้นฐานที่ว่า หากไม่เกิดกรณีที่ จ.นครสวรรค์ การกดดันของประชาชน รวมถึงการให้ข่าวของสถานทูตและตัวแทนประชาคมระหว่างประเทศ วันนี้จะไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย ซึ่งจะเห็นได้ระเบียบวาระการประชุมที่ถูกเลื่อนขึ้นมายังมีคำถามอยู่ว่า พ.ร.บ.ซ้อมทรมานฯ จะผ่านสภาฯ หรือไม่ โดยกฎมายฉบับนี้มีอยู่ด้วยกัน 4 ร่าง คือ 1.ร่างของคณะรัฐมนตรี 2.ร่างของสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ 3.ร่างของวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ และ 4.ร่างของสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ทั้งนี้ พรรคก้าวไกลได้กำชับส.ส.ทุกคนต้องเข้าที่ประชุมสภาฯ และลงมติรับหลักการ เบื้องต้นพรรคก้าวไกลจะรับทั้ง 4 ร่าง แต่ในรายละเอียดพบว่ามีบางร่างที่ไม่ตอบโจทย์ที่จะนำไปสู่ความเป็นอิสระหรือกระบวนการตรวจสอบการทรมานที่เป็นจริง โดยพรรคก้าวไกลจะผลักดันให้ร่างของ สิระเป็นร่างหลัก แต่จะให้เป็นร่างหลักอย่างไรนั้น ต้องมีการพูดคุยกันอีกครั้ง ทั้งนี้ กฎหมายที่ดีในการป้องกันการทรมานและบังคับสูญหายต้องมีอายุความที่ยาวนานกว่ากฎหมายอาญาทั่วไป พรรคก้าวไกลยืนยันว่าจะดำเนินการผลักดันกฎหมายฉบับนี้ เราต้องการเสียงสนับสนุนของ ส.ส.ทุกคนในการรับหลักการและเร่งพิจารณา เราต้องการให้กฎหมายฉบับนี้แทนคำขอโทษต่อผู้สูญเสียทุกรายในอดีตที่ผ่านมา