ไม่พบผลการค้นหา
ไทยดันเอ็มโอยู 7 หน่วยงานราชการ กำหนดแนวทาง 'ไม่กักตัวเด็ก' ในห้องกักตรวจคนเข้าเมือง หลังกรณี 'ราฮาฟ' หญิงซาอุดีอาระเบียที่จะเดินทางไปยังประเทศที่ 3 กลายเป็นข่าวโด่งดังเพราะติดอยู่ในสุวรรณภูมิ ส่วน UNHCR และองค์กรสิทธิฯ หนุนแนวทาง 'ไม่กักตัวเด็ก' พร้อมย้ำ อย่าแยกครอบครัวผู้ลี้ภัยออกจากกัน

กรณีของ 'ราฮาฟ โมฮัมเหม็ด อัลกุนุน' หญิงวัย 18 ปี ชาวซาอุดีอาระเบีย ซึ่งหลบหนีการกดขี่ของครอบครัวตัวเอง หวังจะเดินทางไปประเทศที่ 3 แต่กลับต้องติดอยู่ในสนามบินสุวรรณภูมิของไทยเมื่อวันที่ 5 ม.ค.2562 เพราะถูกยึดหนังสือเดินทาง และมีความพยายามที่จะส่งตัวเธอกลับประเทศบ้านเกิด ทำให้เธอใช้ทวิตเตอร์เผยแพร่ข้อความเรียกร้องความช่วยเหลือจากประชาคมโลก จนเกิดเป็นกระแส #SaveRahaf ในสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้ทางการไทยต้องประสานงานกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เพื่อดำเนินการช่วยเหลือราฮาฟ จนในที่สุดเธอได้รับสถานะผู้ลี้ภัยในแคนาดาได้สำเร็จ

สื่อต่างประเทศรายงานว่ากรณีของราฮาฟช่วยให้เกิดกระแสถกเถียงถึงบทบาทของรัฐบาลไทยในการเคารพในหลักการ Non Refoulement หรือการไม่ส่งตัวกลับ กรณีที่อาจเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต หรือถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม เพราะเคยมีหลายกรณีก่อนหน้านี้ที่ทางการไทยส่งผู้ยื่นเรื่องขอสถานะผู้ลี้ภัยกลับไปยังประเทศบ้านเกิด และไม่อาจติดตามได้ว่าผู้ถูกส่งตัวกลับแต่ละคนมีความเป็นอยู่อย่างไรหลังจากนั้น

ด้วยเหตุดังกล่าว ทำให้มีการเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติตามคำมั่นที่เคยให้ไว้ในเวทีสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเมื่อปี 2559 ซึ่งแม้ว่าทางการไทยจะยืนยัน 'ไม่ลงนาม' เป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยสถานะผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ แต่ไทยจะเคารพในหลักการสิทธิมนุษยชนและยึดมั่นในหลักการ 'ไม่ส่งตัวกลับ'

ล่าสุด หัวหน้าส่วนราชการไทย 7 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงแรงงาน ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจเรื่อง การกำหนดมาตรการและแนวทางแทนการกักตัวเด็กไว้ในสถานกักตัวต่างด้าวเพื่อรอส่งตัวกลับ พ.ศ. ... โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระบุหน้าที่รับผิดชอบและแนวทางการปฏิบัติงานของหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่กักตัวเด็กในห้องกักตรวจคนเข้าเมือง และจะต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนและผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก

AFP-ตม.-ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง-สุรเชษฐ์ หักพาล.jpg

ทางด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากากระทรวงกลาโหม เป็นประธานการร่วมลงนาม ระบุว่ารัฐบาลไทยให้การช่วยเหลือและปกป้องคุ้มครองเด็กที่ถูกกักไว้ในสถานกักตัวต่างด้าวเพื่อรอการส่งกลับ ซึ่งการลงนามวันนี้จะถือเป็นแนวทางปฏิบัติร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐที่จะช่วยแก้ไขปัญหาการกักตัวเด็กในสถานกักตัวคนต่างด้าวเพื่อรอการส่งกลับ และมีการกำหนดหน้าที่รับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานไว้อย่างชัดเจน

นอกจากนี้ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ผบช.สตม.) ยังได้เปิดห้องกักของ สตม.สวนพลูให้ผู้สื่อข่าว รวมถึงตัวแทนองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและในไทย เข้าไปเยี่ยมชมชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ต้องกัก เนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี้เป็นชาวต่างชาติที่ถูกทางการไทยควบคุมตัวในฐานะ 'ผู้ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย'

AFP-ห้องกัก ตม.สวนพลู-ผู้อพยพผู้ลี้ภัยชาวต่างชาติ-คุก-เรือนจำ-นักโทษ-ผู้ต้องกัก2.jpg

ในความเป็นจริงแล้วมีผู้ต้องกักหลายรายที่มีเอกสารยืนยันตัวตน และเป็นผู้ที่ต้องการยื่นเรื่องลี้ภัยไปยังประเทศที่สาม แต่เนื่องจากไทยไม่มีกฎหมายรองรับและไม่ได้เป็นภาคีกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยผู้ลี้ภัย ผู้ที่ต้องการขอสถานะผู้ลี้ภัยเหล่านี้จึงต้องถูกกักตัวไว้ในห้องกักของ สตม. และหลายครอบครัวถูกแยกคุมขัง รวมถึงเด็กที่ถูกแยกจากผู้ปกครอง ทำให้องค์กรสิทธิฯ เรียกร้องให้ทางการไทยทบทวนแนวปฏิบัติในการคุมขังผู้ขอลี้ภัยเหล่านี้

สำนักข่าวเอเอฟพีซึ่งเป็นหนึ่งในสื่อต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตให้เข้าเยี่ยมชมห้องกักของ สตม.สัปดาห์นี้ รายงานว่า ผู้้ต้องกักในความดูแลของ สตม.มีจำนวนประมาณ 1,000 คนเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าลดลงไปมากจากสถิติ 6,000 รายที่รวบรวมไว้ได้เมื่อปี 2557 และในห้องกักมีการแบ่งแยกชายหญิง แต่ก็มีพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมสันทนาการและกีฬา อีกทั้งไทยก็เพิ่งลงนามเอ็มโอยูระหว่าง 7 หน่วยงานไม่ให้มีการกักตัวเด็กแยกจากแม่

อย่างไรก็ตาม ยูเอ็นเอชซีอาร์และองค์กรสิทธิมนุษยชนระบุว่า ไทยจะต้องไม่พรากครอบครัวผู้ลี้ภัยหรือผู้อพยพเข้าเมืองผิดกฎหมาย เพราะเยาวชนมีสิทธิจะอยู่กับครอบครัว แม้ว่าจะอยู่ในห้องกักของ สตม.ก็ตาม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: