ไม่พบผลการค้นหา
วงเสวนา ชี้ การเลือกตั้งที่ไม่ฟรีและแฟร์ ผ่านกลไกกรอบกติกาไม่เป็นธรรม สุ่มเสี่ยงเกิดความขัดแย้งจุดจบซ้ำรอยประวัติศาสตร์การเมืองไทย
วงเสวนาเลือกตั้งกุมภาฯ62ฟรีและแฟร์สำหรับใคร.JPG

วงเสวนาเลือกตั้งกุมภาฯ 62 ฟรีและแฟร์ สำหรับใคร? ว่าด้วยการจับตาการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น และร่วมกันแสดงความคิดเห็นต่อกติกาในการออกแบบการเลือกตั้งผ่านมุมมอง 4 นักวิชาการ

ผศ.ดร. ประจักษ์ ก้องกีรติ รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าการเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิ์ มีวิธีที่สังเกตง่ายที่สุดคือการโกงแบบโจ่งแจ้ง เนื่องจากพรรคของรัฐบาลไม่มีความนิยม ดังปรากฎในประวัติศาสตร์การเมืองที่มีการโกงโดยขั้นตอนกระบวนการขโมยผลการเลือกตั้งเกิดขึ้นในปี 2500 สมัยจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม ที่ถูกเรียกว่า การเลือกตั้งที่สกปรก


รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ.JPG

(ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ)

อีกหนึ่งรูปแบบการโกงคือ การโกงแบบงานละเอียด คือการโกงผ่านขั้นตอน ที่ส่งผลให้กระบวนการเลือกตั้งเอื้อพรรคบางพรรคให้ได้ประโยชน์ ซึ่งเป็นสิ่งที่สื่อมวลชนและนักวิชาการต้องมีบทบาทในการเป็นกลไกตรวจสอบ สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นตัวตัดสินว่าประเทศไทยจะก้าวพ้นระบบอำนาจนิยมหรือไม่

ผศ.ดร.ประจักษ์ ได้ยกตัวอย่างในกลุ่มประเทศกลุ่มอาเซียน อาทิ การเลือกตั้งในประเทศอินโดนีเซีย ที่ถือว่ามีเสถียรภาพของการเลือกตั้งที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกันจนได้รับการยกย่อง ขณะที่มาเลเซียและกัมพูชาโมเดล คือเผด็จการที่ยอมให้จัดการเลือกตั้ง แต่จะทำทุกวิถีทางให้ฝ่ายรัฐบาลได้รับผลชนะการเลือกตั้ง

โดยในอดีตมาเลเซียถือว่ามีการกลั่นแกล้งพรรคคู่แข่งขันผ่านการควบคุมสื่อและโซเชียลมีเดีย เซ็นเซอร์ข่าววิจารณ์รัฐบาลของนาจิบ ราซัก อดีตนายกรัฐมนตรี แต่ผลกลับเป็นในทางตรงกันข้าม เพราะประชาชนร่วมกันออกไปลงเสียงให้พรรค มหาเธร์ มูฮัมหมัด ชนะอย่างถล่มทลาย เป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปี สะท้อนให้เห็นว่าต่อให้รัฐบาลมาบงการ ถ้าประชาชนออกมาใช้สิทธิอย่างล้นหลาม ก็จะเป็นตัวชี้ขาดที่สำคัญ 

ดังนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้ หากคนรุ่นใหม่ออกไปใช้สิทธิ 80 เปอร์เซ็นต์ ตามผลสำรวจ ผลการเลือกตั้งจะเปลี่ยนไป และพรรคการเมืองไม่สามารถควบคุมได้ดังเช่นในการเลือกตั้งที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร. ประจักษ์ เชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ยังไม่เปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตย อาจจะต้องรอการเลือกตั้งอีกสองครั้ง และมองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีแนวโน้มอยู่ไม่ถึงสี่ปี และจะเกิดรัฐบาลผสม ดังนั้นประชาชนเป็นตัวแสดงที่สำคัญที่สุดในการออกไปใช้สิทธิ เพื่อก้าวข้ามกับดักที่วางไว้และสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนผ่าน

`

"สิ่งที่สำคัญของการเลือกตั้งคือสังคมต้องทำให้การเลือกตั้งมีความบริสุทธิ์ หากไม่มีความชอบธรรม การเลือกตั้งครั้งนี้จะนำไปสู่ความขัดแย้งวุ่นวายอีกครั้ง” ผศ.ดร.ประจักษ์ กล่าว


สำหรับตัวละครสำคัญในการเลือกตั้ง คือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ต้องปล่อยให้เกิดการเลือกตั้งโปร่งใส หากไม่เป็นเช่นนั้นจะทำให้ไม่ได้รับความชอบธรรมจากนานานาชาติและคนในสังคม ดังนั้นจึงจำเป็นต้องกดดันให้ คสช. ปล่อยให้เกิดการเลือกตั้งมีอิสระและเสรี จึงจำเป็นต้องฝากความหวังไว้ที่ภาคประชาชนและสื่อมวลชน รวมถึงนักวิชาการ ต้องช่วยกันตรวจสอบ

หากใช้กลไกรัฐเข้าไปแทรกแซงการเลือกตั้ง ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมามักจะมีจุดจบไม่สวย นำไปสู่การออกมาประท้วงของประชาชน กลายเป็นวิกฤตความขัดแย้ง


"หลังการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นไปอย่างขรุขระ หากคณะรัฐประหารยังมีประโยชน์ผูกผัน ยากที่จะเกิดการเลือกตั้งที่ฟรีและแฟร์ และจะนำไปสู่ความขัดแย้งอีกครั้ง” ผศ.ดร. ประจักษ์ กล่าว


โครงสร้างและกติกา ไร้โซ่ตรวนการตรวจสอบถ่วงดุล


รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี.JPG

(รศ.ดร. สิริพรรณ นกสวน สวัสดี)

รศ.ดร. สิริพรรณ นกสวน สวัสดี นักวิชาการด้านการเมืองการปกครอง จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความสำคัญและองค์ประกอบของการเลือกตั้งว่า เป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองจากระบอบอำนาจนิยมไปสู่ระบอบทางสามแพร่ง

  • ประการแรก จะเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง ที่จำเป็นต้องพึ่งพลังของประชาชน
  • ประการที่สอง มีแนวโน้มว่าจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ผู้นำอำนาจนิยมผ่านการเลือกตั้ง
  • ประการที่สาม อาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองเหมือนในอดีต

ดังนั้นการเลือกตั้งที่มีคุณภาพจะต้องมีเสถียรภาพ ที่ได้รับการยอมรับ จากสังคมและทุกคนเข้าใจในกติการะบบเลือกตั้ง แต่ในปัจจุบันสะท้อนคนในสังคมยังไม่มีความเข้าใจต่อระบบดังกล่าว จะเห็นว่าปัญหาเบื้องต้นของระบบการเลือกตั้งในประเทศไทย คือการเปลี่ยนทุกครั้งเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญ

ขณะที่ในปัจจุบัน มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. ที่มีความสำคัญในการเลือกตัวนายกรัฐมนตรีแต่กลับไม่มีใครพูดถึง อีกทั้งมีการใช้งบประมาณ 1,300 ล้านบาท ซึ่งกระบวนการเลือกนั้นเรียกได้ว่าเป็นการสรรหาหรือเลือกกันเอง โดยไม่ผ่านการเลือกตั้ง

ขณะที่กติกาโครงสร้างการแข่งขัน รศ.ดร. สิริพรรณ ให้ความเห็นว่าระบบการเลือกตั้งที่ผ่านมาของประเทศไทย พรรคการเมืองขนาดใหญ่ จะได้ประโยชน์จากการเลือกตั้ง เช่นตอนปี 2548 ที่พรรคไทยรักไทยชนะอย่างถล่มทลาย ขณะที่ในปัจจุบันประประเทศไทยได้ใช้ระบบจัดสรรปันส่วนผสม ผ่านกลไกหนึ่งบัตรเท่ากับสามเด้ง ที่มีบัตรเลือกเขตแต่ไม่มีบัตรบัญชีรายชื่อ


"ปัญหาของโครงสร้างนี้คือการผูกอยู่ในบัตรเลือกตั้งเดียว ที่สร้างความสับสนและไม่ก่อให้เกิดสายโซ่ตรวนของการตรวจสอบถ่วงดุล” สิริพรรณ กล่าว


ขณะที่ คสช.ปัจจุบัน สวมหมวกสองใบ และอาจมีหมวกที่สามผ่านการตั้งพรรคการเมือง ทำให้ต้องตั้งคำถามว่ากติกาของ คสช. ที่แก้กติกาโดยใช้อำนาจพิเศษ และให้อำนาจคณะกรรมการเลือกตั้ง หรือ กกต. แบ่งเขตเลือกตั้ง ดังนั้นกกต. จะจัดการเลือกตั้งเป็นธรรมและบริสุทธิ์หรือไม่ เพราะตอนนี้ กกต. กลายเป็นตำบลกระสุนตก ที่ต้องออกมารับหน้าและถูกกดดันจากกติกาที่ถูกร่างออกมา ซึ่งปัญหาสำคัญคือมาจากตัวรัฐธรรมนูญเอง

อีกส่วนสำคัญคือ ภูมิทัศน์ของสื่อที่ต้องวางตัวเป็นกลาง เพราะต้องนำเสนอข้อมูลที่ตรงไปตรงมา และต้องสวมบทบาทกำหนดวาระทางการเมือง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม โดยนำเสนอการใช้อำนาจเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น ซึ่งภายใต้อำนาจ คสช.นั้น จะส่งผลต่อความไม่มีแน่นอนทางการเมือง


กลยุทธ์ผ่านการเลือกตั้ง ชูธงรัฐประหาร "ไม่เสียของ"


รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ.JPG

(รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ)

รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่าย FFFE รณรงค์เลือกตั้งต้องเสรี-เป็นธรรม กล่าวว่าการเลือกตั้งนี้เป็นบทหนึ่งในการขับเคี่ยวของพลังอนุรักษ์นิยมกับพลังท้าทายที่เกิดขึ้นมา ซึ่งกลยุทธ์ในการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการปรับตัวของกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่ต้องเผชิญกับการกระจายอำนาจและการแตกตัวของกลุ่มคนที่หลากหลาย

โดยในสมัยพรรคไทยรักไทยทำให้เกิดการแข่งขันตลาดนโยบาย เมื่อมีการได้รับความนิยม จึงนำไปสู่การเกิดขึ้นของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยมีเป้าหมายในการในการขจัดนักการเมืองประชานิยม ต่อมาได้ก่อเกิดกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายกลุ่มจนนำไปสู่ความขัดแย้ง และตลอดสิบปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้เกิดการรัฐประหารสองครั้ง ในปี2549 ที่ถูกมองว่าเป็นรัฐประหารเสียของ และครั้งล่าสุด ปี2557 โดยมีเป้าหมายคือต้องไม่เสียของ

สำหรับปัจจุบันรัฐบาล มีกลยุทธ์ผ่านรัฐธรรมนูญ ปี 60 คือการสร้างความได้เปรียบ โดยทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอและลดอำนาจของประชาชน การใช้ประโยชน์จากอำนาจรัฐ โดยมีการดำเนินนโยบายเพื่อมัดใจผู้คนในระดับล่าง ผ่านการหว่านเม็ดเงิน เช่น โครงการประชารัฐ รวมถึงการดูดนักการเมือง ตัดกำลังคู่แข่ง ผ่านอำนาจมาตรา 44 และกฎกติกาของกฎหมาย และไม่ให้คนนอกเข้ามาสังเกตการณ์เลือกตั้ง


"ดังนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้เสี่ยงที่จะได้ของเสียที่รัฐบาลไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน ขณะที่นโยบายรัฐจะเอื้อกลุ่มทุนใหญ่ อีกทั้งมีการปิดหูปิดตาประชาชน ทำให้ประเทศล้าหลังเป็นตัวตลกของสายตาชาวโลก นำไปสู่วิกฤตความขัดแย้งที่ฝังรากลึกและยาวนานขึ้น" รศ.อนุสรณ์ กล่าว


สำหรับโอกาสที่จะได้ของดีผ่านการเลือกตั้ง คือ รัฐบาลต้องเปลี่ยนสถานะเป็นรัฐบาลรักษาการณ์ และไม่ควรดำเนินนโยบายลดแหลกแจกแถม ไม่ผ่านโครงการใหญ่ ชะลอการแต่งตั้งโยกย้าย โดยเฉพาะยุติรายการตอนค่ำ และสี่รัฐมนตรีที่เข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐต้องลาออก หยุดใช้อำนาจมาตรา 44 ไม่แทรกแซงทางการเลือกตั้ง

ขณะที่ กกต. ต้องเป็นองค์กรอิสระอย่างแท้จริง แม้ว่าจะถูกแต่งตั้งผ่านกระบวนการของ คสช. และการร่วมรณรงค์การเลือกตั้งให้เสรีและเป็นธรรมให้มีผลในทางปฏิบัติ โดยมีการเลือกตั้งที่ไม่ถูกบิดเบือนผ่านกลไก รวมถึงการสร้างสังคมประชาคม ให้เชื่อมโยงกับสังคมการเมือง อย่าให้ใครมาพรากไปจากประชาชน เพราะจะทำให้สังคมไทยไม่มีความผาสุขอย่างแท้จริง


อำนาจ กกต. ผลชี้วัดผลการเลือกตั้ง


ดร.สติธร ธนานิธิโชติ.JPG

ดร.สติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ได้ตั้งโจทย์ตามกติกาของบัตรใบเดียวว่า การจัดสรรปันส่วนจะปิดโอกาสให้พรรคการเมืองพรรคเดียวในการเป็นแกนนำรัฐบาลมีแนวโน้มที่ไม่แฟร์หรือไม่ และจะมีผลทำให้สัดส่วนของบัญชีรายชื่อผิดเพี้ยนไป ขณะเดียวกัน ความจริงกติกาอาจจะไม่ได้เอื้อพรรคขนาดเล็กและพรรคขนาดกลางก็ได้ ซึ่งผลลัพธ์ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมลงคะแนนของประชาชน 

สำหรับปัญหาของความไม่แฟร์คือการให้อำนาจ กกต. หากไม่ทำงานตามหลักการและใช้อำนาจเท่าเทียมกับทุกฝ่าย และในอนาคตสิ่งที่น่ากังวลคือการใช้ใบเหลืองและใบส้ม ซึ่งสามารถเปลี่ยนผลการเลือกตั้งได้ เพราะใบส้มสามารถทำให้ผู้โดนถูกให้ออกจากเกมและในเขตนั้นต้องเลือกกันใหม่ อีกทั้งส่งผลให้คะแนนบัญชีรายชื่อหายไป 


"ถ้า กกต. ใช้อำนาจไม่บริสุทธ์ยุติธรรม จะทำให้ความชอบธรรมเปลี่ยนไป และอาจทำให้ผลการเลือกตั้งไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนได้" ดร.สติธร กล่าว



ข่าวที่เกี่ยวข้อง: