ปัจจุบันนี้ ญี่ปุ่นเป็นประเทศเดียวในกลุ่มประเทศ G7 ที่ไม่มีการคุ้มครองทางกฎหมาย สำหรับคู่ชีวิตเพศเดียวกัน แม้ว่าเดิมทีแล้วนั้น ญี่ปุ่นจะเคยให้คำมั่นว่าประเทศของตน จะผ่านกฎหมายเกี่ยวกับ LGBT ก่อนที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอด G7 เมื่อเดือนที่แล้ว
อย่างไรก็ดี การถกเถียงกันในเรื่องร่างกฎหมายนี้ ส่งผลร่างกฎหมายนี้ถูกเลื่อนการส่งไปให้รัฐสภาญี่ปุ่นพิจารณา ในวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันก่อนที่การประชุมสุดยอด G7 จะเริ่มต้นขึ้น
ร่างเดิมของกฎหมายที่เสนอในตอนแรกกำหนดว่า การเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานของรสนิยมทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ “เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้" แต่เนื้อหาของกฎหมายที่เพิ่งผ่านการรับรองจากรัฐสภา กลับถูกเปลี่ยนเป็น "ไม่ควรมีการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม" ซึ่งมีผู้วิจารณ์กล่าวว่า ตัวกฎหมายอาจสนับสนุนให้มีการเลือกปฏิบัติในบางรูปแบบไปโดยปริยาย
แม้ว่าร่างกฎหมายส่งเสริมความเข้าในต่อชุมชน LGBT ญี่ปุ่นจะถูกเปลี่ยนแปลงเนื้อหา แต่สมาชิกรัฐสภาญี่ปุ่นบางคนในพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) ของ ฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น กลับยังพยายามขัดขวางกฎหมายฉบับดังกล่าวไปจากมติพรรค ด้วยการคว่ำบาตรเดินออกจากการลงคะแนนเสียงเมื่อวันอังคาร (13 มิ.ย.) ในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร และในการลงคะแนนเสียงครั้งสุดท้ายของวุฒิสภา
“มันเคยมีการก่ออาชญากรรมโดยผู้แอบอ้าง (เป็นผู้หญิง) ในห้องน้ำหญิง” อากิโกะ ซังโตะ อดีตประธานวุฒิสภาญี่ปุ่น กล่าวกับผู้สื่อข่าวหลังการคว่ำบาตรการลงคะแนนเสียงในรัฐสภา “มันจะเป็นปัญหาร้ายแรงมากหากร่างกฎหมายนี้ผ่าน และมีแนวโน้มว่าการยอมรับว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องปกติ”
ทั้งนี้ ญี่ปุ่นได้รับแรงกดดันจากประเทศ G7 อื่นๆ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่จะให้มีการอนุญาตให้ประชาชนเพศเดียวกันสมรสกันได้
ผู้นำธุรกิจกล่าวว่าพวกเขากลัวว่า ญี่ปุ่นจะไม่สามารถแข่งขันในระดับสากลได้ หากปราศจากความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งรวมถึงการมีตัวแทนจากชุมชนเลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวล และคนข้ามเพศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกรุงโตเกียวพยายามส่งเสริมตัวเอง ให้เป็นศูนย์กลางทางการเงินระดับโลก
"ในฐานะสถาบันการเงิน เพื่อให้บรรลุการเติบโตอย่างยั่งยืน มันจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่ผู้คนที่มีภูมิหลังและค่านิยมที่หลากหลาย สามารถมีบทบาทอย่างแข็งขัน" มาซาฮิโกะ คาโตะ ประธานสมาคมธนาคารญี่ปุ่นและประธานธนาคารมิซูโฮ กล่าวในการแถลงข่าวในสัปดาห์นี้
ผลการสำรวจความคิดเห็นระบุว่า ประชาชนในญี่ปุ่นสนับสนุนการสมรสเพศเดียวกันอย่างกว้างขวาง ในขณะที่รัฐบาลท้องถิ่นในส่วนใหญ่ของประเทศ อนุญาตให้มีข้อตกลงในการเป็นคู่ชีวิตของคนเพศเดียวกัน ซึ่งไม่ได้รับการรับรองสิทธิในการสมรสจากรัฐบาลกลาง
“(ประชาชน) ประมาณ 70% ของประเทศเห็นด้วยกับการให้มีการจดทะเบียนคู่ชีวิตในคนเพศเดียวกัน และจากการสำรวจพบว่ามากกว่า 70% ของผู้คน ต่างสนับสนุนการสมรสของคนเพศเดียวกัน แม้แต่ผู้นำทางธุรกิจก็ยังอยู่ข้างเรา ตอนนี้ รัฐสภาและรัฐบาลต้องเคลื่อนไหว” กลุ่มนักเคลื่อนไหว Marriage for All Japan กล่าวในทวิตเตอร์ หลังกฎหมายส่งเสริมความเข้าใจต่อ LGBT ผ่านในรัฐสภา
เมื่อเดือน ก.พ. คิชิดะไล่ผู้ช่วยออก หลังจากที่ผู้ช่วยรายดังกล่าวจุดชนวนความไม่พอใจ ด้วยการกล่าวว่าผู้คนจะหนีออกจากญี่ปุ่น หากรัฐบาลอนุญาตให้คนเพศเดียวกันสมรสกันได้ และเขาไม่ต้องการอยู่ร่วมกับคู่รัก LGBT อย่างไรก็ดี คิชิดะยังคงไม่พูดผูกมัดตัวเองว่า เขาจะส่งเสริมให้ญี่ปุ่นผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม โดยเขากล่าวว่าสถานการณ์ในแต่ละประเทศนั้นแตกต่างกัน และการหารือต้องดำเนินไปอย่าง "รอบคอบ"
ในคดีที่ฟ้องต่อศาลท้องถิ่น 5 คดีเกี่ยวกับการสมรสระหว่างคนเพศเดียวกันในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ศาล 4 ศาลตัดสินว่าการที่รัฐไม่อนุญาตให้ประชาชนมีการสมรสในคนเพศเดียวกันนั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือเกือบจะเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในขณะที่ศาลของกรุงโตเกียวระบุว่า การไม่อนุญาตให้มีการสมรสของคนในเพศเดียวกันนั้น สอดคล้องกันกับรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น
ที่มา: