ไม่พบผลการค้นหา
เสวนารำลึก 3 ปี วันลงมติรับร่าง รธน. 7 ส.ค.59 ตัวแทนฝ่ายค้าน พรรคสามัญชน และไอลอว์ ชงแนวทางแก้ รธน. 2560 ทั้งฉบับโดยตั้ง ส.ส.ร. ชี้มุ่งลดอำนาจประชาชนเปรียบเหมือนขอทานอำนาจรัฐ ด้าน ผอ.ไอลอว์ แนะ ส.ว.ต้องมาจากการเลือกต้ัง เปรียบเป็นยุค คสช.ภาคสอง

ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ในงานเสวนาเรื่อง การแก้ไขรัฐธรรมนูญกับกระบวนการการมีส่วนร่วมนอกสภา เพื่อรำลึก 3 ปี วันลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ ‘มีชัย ฤชุพันธุ์’ ที่ร่างโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ซึ่งถูกแต่งตั้งขึ้นโดย คสช. ทั้งหมด ซึ่งทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกประกาศเป็นรัฐธรรมนูญ 2560 โดยมีวิทยากรที่เป็นตัวแทนฝ่ายค้าน และภาคประชาชนร่วมถกถึงประเด็นปัญหาและข้อเสนอในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ 

ส.ว. ต้องมาจากการเลือกตั้ง 

นายจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ (iLaw) กล่าวว่า ขณะนี้เราไม่ได้อยู่ในยุคประชาธิปไตย แต่อยู่ในยุคที่เรียกว่า “คสช. สอง” เพราะการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ยังเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีกสมัย รวมถึงสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ล้วนเป็นผลพวงจากรัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งสิ้น  

นอกจากนี้ นายจอน เปรียบเทียบว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เปรียบเหมือนกับดักที่ทำให้ประชาชนถูกขังเอาไว้ แล้วถูกโยนกุญแจลงน้ำ ให้หาทางออกไม่ได้ เพราะการแก้รัฐธรรมนูญจะต้องใช้เสียง ส.ว. ซึ่งอยู่ในการอุปถัมภ์ของ คสช. ดังนั้นอาจต้องเริ่มที่การแก้ไขที่มา ส.ว. ให้มีที่มาจากการเลือกตั้ง 

“ผมคิดว่า ส.ว. ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน อย่างเช่น สมัยปี 2543 ที่มาจากรัฐธรรมนูญ 2540 ถ้าไม่แก้รัฐธรรมนูญ คสช. จะผ่านกฎหมายได้หลายฉบับที่เป็นกฎหมายปฏิรูปประเทศ” นายจอน กล่าว 

นายจอน เสนอว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนที่ประสบปัญหาจากนโยบายของรัฐ และในระยะยาวจำเป็นต้องร่างใหม่ทั้งหมด และมีวิธีร่างอย่างเป็นประชาธิปไตย และการมีส่วนร่วมของประชาชน 

“ถ้าเรามองประวัติศาสตร์ที่มีการแก้รัฐธรรมนูญ อย่างเหตุการณ์ พ.ค. 2535 จะเห็นว่าประชาชนรับไม่ได้ ที่บุคคลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจะมาเป็นนายกรัฐมนตรี จากนั้นก็มีการเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือนายกรัฐมนตรีมากจากเลือกตั้ง มีการจัดระบบ สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) แล้วมีการร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ขึ้นมา นับเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยทั้งหมด” นายจอนกล่าว 

เสวนาแก้รัฐธรรมนูญเสวนาแก้รัฐธรรมนูญเสวนาแก้รัฐธรรมนูญ

ทวี ชี้อาชญากรทางกฎหมาย ลดอำนาจประชาชน  

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ พรรคประชาชาติ ในฐานะประธานคณะทำงานพรรคร่วมฝ่ายค้านเพื่อการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เสนอกรอบของการร่างรัฐธรรมนูญที่ดีจะต้องให้ประชาชนมีสิทธิดำรงอยู่ได้อย่างมีความเป็นมนุษย์ ทำอย่างไรให้ความเหลื่อมล้ำมีน้อยที่สุด เพราะภาษีที่รัฐนำไปใช้มาจากประชาชน และจะต้องให้สิทธิ เสรีภาพแก่ประชาชน มีความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และความยุติธรรม  

พ.ต.อ.ทวี เปรียบเทียบว่า ผู้ร่างกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ที่ไม่ได้ให้ความเป็นธรรมนั้นเป็นอาชญากรรมรูปแบบหนึ่ง 

“ถ้าร่างกฎหมายเพื่อไปเอาทรัพยากรเขามา คือ อาชญากร รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็อาจมีอาชญากรทางกฎหมายมาร่าง คือ ทำให้คนตัวเล็กตัวน้อย คนชนบท ไม่เข้ามาอยู่ในโครงสร้างอำนาจ” พ.ต.อ.ทวี กล่าว 

พ.ต.อ.ทวี ย้ำว่า ทุกวันนี้กฎหมายทำให้ประชาชนไม่มีอำนาจในการเข้าถึงทรัพยากรของตัวเองเลย เป็นเหมือนขอทานที่รัฐคอยหยิบยื่นให้ ดังนั้น กฎหมายจะต้องให้ความยุติธรรมแก่ประชาชน ทั้งนี้ พรรคฝ่ายค้านคิดว่า จะต้องมีการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับในรูปแบบ ส.ส.ร. ในรูปแบบเดียวกับรัฐธรรมนูญ 2540  

'สามัญชน' ย้ำ รธน. 60 หวงอำนาจ

ด้าน นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ หัวหน้าพรรคสามัญชน กล่าวว่ารัฐธรรมนูญ 2560 มีที่มาไม่ถูกต้อง และเป็นรัฐธรรมนูญที่มุ่งแก้ไขปัญหาความมั่นคงของรัฐบาล มากกว่าปากท้องของประชาชน 

“ภัยแล้งปีนี้ ไม่ต่างจากน้ำท่วม ปี 2554 แต่ในหัวของรัฐบาล มีแต่เรื่องปัญหาความมั่นคง แทนที่จะต้ังวอร์รูมเรื่องภัยแล้ง มีแต่จะคอยหาว่าประชาชนคนไหนโจมตีความมั่นคงของรัฐบาล” นายเลิศศักดิ์ กล่าว  

นายเลิศศักดิ์ เสนอว่า รัฐธรรมนูญจะต้องเป็นกฎหมายที่สร้างสำนึกให้แก่รัฐบาลในการแก้ไขปากท้องและปัญหาของประชาชน ไม่ใช่เรื่องการหวงอำนาจ และความมั่นคง