ไม่พบผลการค้นหา
ครม.เคาะ เพิ่มเงินเด็กแรกเกิดเป็น 800 บาท ลดเงินประกันสังคม นาน 3 เดือน จ่ายเงินว่างงาน 50 %ของค่าจ้างรายวัน

วันที่ 22 ธ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)  ว่า สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจ ครม.จึงมีมติ ดังนี้

เพิ่มเงินเด็กแรกเกิด 800 บาท

เห็นชอบร่างกฎกระทรวงการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

มีสาระสำคัญ คือการเพิ่มอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรเหมาจ่าย จากเดิม 600 บาทต่อเดือนต่อบุตร 1 คน เพิ่มเป็น 800 บาทต่อเดือนต่อบุตร 1 คน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2564 เป็นต้นไป

ลดเงินประกันสังคม

รัชดา กล่าวว่า ครม.ยังอนุมัติร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ซึ่งเป็นการปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม เป็นเวลา 3 เดือน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกันตนและนายจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยมีสาระสำคัญดังนี้

1.ลดอัตราเงินสมทบฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 จากเดิมร้อยละ 5 ลดเหลือร้อยละ 3 สำหรับฝ่ายรัฐบาลส่งเงินสมทบอัตราเดิม คือร้อยละ 2.75 ส่วนผู้ประกันตนมาตรา 39 ให้ปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม จากเดิมเดือนละ 432 บาท เหลือเดือนละ 278 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564

2.ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2564 ถึงวันที่ 31 มี.ค. 2564 ให้รัฐบาล นายจ้างและผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 ออกเงินสมทบเข้ากองทุนเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย และกรณีคลอดบุตร ฝ่ายละร้อยละ 1.05

-การจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพ ในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันตน ฝ่ายละร้อยละ 1.85 และรัฐบาลปรับเป็นร้อยละ 1.45

-การจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันตน ฝ่ายละร้อยละ 0.1 และรัฐบาลปรับเป็นร้อยละ 0.25

3.ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2560 เป็นต้นไป ให้รัฐบาล นายจ้างและผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ออกเงินสมทบเข้ากองทุนเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย และกรณีคลอดบุตร ฝ่ายละร้อยละ 1.5

-การจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพ ในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันตนฝ่ายละร้อยละ 3 และรัฐบาล ร้อยละ 1

-การจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันตน ฝ่ายละร้อยละ 0.5 และรัฐบาลร้อยละ 0.25

รัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า การลดอัตราเงินสมทบจะส่งผลดีต่อผู้ประกันตนและนายจ้าง โดยช่วยให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินไปใช้จ่ายเสริมสถาพคล่อง ประมาณคนละ 460 - 900 บาท เป็นเวลา 3 เดือน คิดเป็นมูลค่ารวม 8,248 ล้านบาท สำหรับนายจ้าง จะทำให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบลดลง รวม 7,412 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายและช่วยรักษาการจ้างงานต่อไปได้

จ่ายชดเชยว่างงานจากโควิด-19

รัชดา ระบุ ด้วยสถานการ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่เกิดขึ้น รัฐบาลจึงต้องเตรียมมาตรการรองรับ วันนี้ ครม. จึงมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. ….

กำหนดให้ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยและหน่วยงานของรัฐสั่งปิดพื้นที่ เพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดต่ออันตราย อันส่งผลให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น

ให้ลูกจ้างดังกล่าวมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน ตามมติคณะกรรมการประกันสังคม โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่สั่งปิดพื้นที่ ทั้งนี้ ภายในระยะเวลา 1 ปีปฏิทิน จะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนดังกล่าวทุกครั้ง แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 90 วัน

รัชดา กล่าวทิ้งท้ายว่า จากการประเมินสถานการณ์ของกระทรวงแรงงาน ร่างกฎกระทรวงนี้จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกันตนที่อยู่ในสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการที่รัฐบาลสั่งปิดกิจการ โดยในเบื้องต้นคาดว่ามีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ อาทิ จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี นครปฐม ราชบุรี และสมุทรสงคราม รวมกันแล้วประมาณ 5.7 ล้านคน คิดเป็นเงินกว่า 5,225 ล้านบาท