ไม่พบผลการค้นหา
สภาที่ปรึกษาธุรกิจ APEC นำโดยคณะผู้บริหารภาคเอกชน ออกรายงานผู้นำด้านเศรษฐกิจ APEC 2022 ภายใต้หัวข้อ ‘Embrace Engage Enable’ หลังการประชุมคู่ขนานการประชุม APEC ที่กำลังมีขึ้นอยู่ในขณะนี้ โดยการประชุมของที่ประชุมสภาที่ปรึกษาธุรกิจ APEC หรือ ABAC ซึ่งเป็นองค์กรย่อยของ APEC ที่มีสมาชิกเป็นผู้บริหารและนักธุรกิจในภาคเอกชนต่างๆ และมีหน้าที่ในการให้คำแนะนำเชิงนโยบายแก่ผู้นำของประเทศต่างๆ

ในรายงานข้อเสนอนโยบายประจำการประชุมในปีนี้ที่จั่วหัวถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้นำของประเทศเจ้าภาพนั้น ผ่านรายงานและข้อเสนอแนะในหัวข้อต่างๆ      

การฟื้นฟูตัวจากวิกฤตโควิด

ในขณะที่วิกฤตโรคระบาดยังไม่จบลง ที่ประชุมได้ยื่นข้อเสนอแนวทางนโยบายต่อกลุ่มผู้นำเพื่อช่วยต่อสู้กับอัตราการติดเชื้อเช่นกัน หนึ่งในนั้นคือการกระตุ้นให้ประชาชนมีการเข้าถึงวัคซีนมากขึ้น ผ่านการลดอุปสรรคในการนำเข้าอุปกรณ์การแพทย์ลง ทั้งอุปสรรคทางภาษีและที่ไม่ใช่ภาษี รวมถึงการเข้าโครงการต่างๆ เช่น COVAX เพื่อให้วัคซีนได้รับการแจกจ่ายมาในประเทศมากขึ้น

ภายหลังจากวิกฤตโควิด-19 ที่ประชุมยังเตือนให้จับตามองภาวะเงินเฟ้อที่จะเกิดขึ้น โดยให้ใช้มาตรการการเงินและการคลังในการจัดการกับปัญหา นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเสนอให้มีระบบการจัดการพรมแดนที่ดีขึ้นจากปัจจุบันที่แต่ละประเทศมีนโยบายที่แตกต่างกัน โดยให้มีการพัฒนาโครงสร้างเชิงดิจิทัลโดยร่วมมือกันระหว่างภาคเอกชนและรัฐบาล

ความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน

การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศสร้างความเสี่ยงให้กับธุรกิจต่างๆ อย่างมาก ที่ประชุมเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้า เพื่อตอบสนองและสร้างเงื่อนไขให้มีการเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตแบบคาร์บอนต่ำมากขึ้น ที่ประชุมเน้นย้ำเรื่องความสำคัญของการผลิตโดยใช้คาร์บอนต่ำทั้งในภาคอุตสาหกรรม ภาคพลังงาน ไปจนถึงในธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (MSMEs)

ปัญหาที่ตามมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศปัญหาหนึ่งคือ ความเสี่ยงในความมั่นคงทางอาหาร ในกรณีนี้ที่ประชุมเสนอให้มีความร่วมมือทั้งพหุภาคีและทวิภาคี ในโครงการส่งเสริมความช่วยเหลือและความมั่นคงทางอาหาร ประเด็นที่น่าสนใจคือ ที่ประชุมมีการพูดถึงโมเดลเศรษฐกิจแบบ BCG หรือ Bio-Circular-Green ที่รัฐบาลไทยให้ความสนใจในการพัฒนาและประยุกต์ใช้

การส่งเสริมความร่วมมือภายในภูมิภาค

ที่ประชุมสภาที่ปรึกษาธุรกิจ APEC ยังคงเน้นย้ำการเดินหน้าไปสู่การจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชียแปซิฟิก (FTAAP) ซึ่งเป็นหัวข้อการเจรจามาตั้งแต่ปี 2547 และยังคงไม่บรรลุผล โดยขณะเดียวกันที่ประชุมสภายังเสนอให้มีการดำเนินการนโยบายในเบื้องต้นก่อนในขณะที่การเจรจายังไม่สำเร็จ

ทั้งนี้ ที่ประชุมมีการเสนอนโยบายที่สอดคล้องกับแนวโน้มการค้าโลกด้วยเช่นกัน จากการที่ปัจจุบันการค้าบริการมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ทำให้เกิดข้อเสนอในการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในภาคการบริการให้มากยิ่งขึ้น รวมถึงการสร้างความร่วมมือ และการลดอุปสรรคในการค้าบริการอีกด้วย

การปรับระบบเศรษฐกิจสู่ระบบดิจิทัล

ระบบดิจิทัลเป็นอีกประเด็นใหม่ในระบบเศรษฐกิจ ในหลายๆ ประเทศจึงยังอยู่ในระหว่างการวางโครงสร้างพื้นฐานทางระบบดิจิทัล ที่ประชุมเองก็สนับสนุนการวางโครงสร้างพื้นฐานเหล่านั้นเช่นกัน เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การผลิต การแปรรูป ไปจนถึงการบริโภค ทั้งนี้โครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลยังครอบคลุมถึงเรื่องความมั่นคงทางไซเบอร์ (Cybersecurity) อีกด้วย

ที่ประชุมสภาที่ปรึกษาธุรกิจ APEC ยังเชื่ออีกว่า ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลที่ดีจะสามารถลดความเหลื่อมล้ำทางข้อมูลและส่งเสริมให้ผู้ที่เคยมีความเสียเปรียบในสังคม เช่น ผู้หญิง ชนกลุ่มน้อย และเยาวชน ได้มีงานทำมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้การกำหนดนโยบายด้านดิจิทัลมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย

นโยบายต่างๆ จากภาคเอกชนถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เกิดจากการจับประเด็นกระแสและแนวโน้มในเศรษฐกิจโลก ไม่ว่าจะเป็นในประเด็นวิกฤตโควิด-19 ความยั่งยืน ไปจนถึงเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อให้ผู้นำรัฐต่างๆ ปรับตัวตาม เนื่องจากนโยบายของรัฐ กฎหมาย และคำสั่งต่างๆ จำเป็นต้องไปด้วยกันกับการดำเนินการทางธุรกิจ