พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 หรือ ศบค. แถลงการผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ (ทรท.) ว่า ขอรายงานความคืบหน้าการดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ของศูนย์ฯ ดังนี้ ด้านการแพทย์และสาธารณสุข นับว่าสำคัญที่สุดต่อสุขภาพของพวกเราทุกคน โดยเน้นมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing และรณรงค์ให้ทุกคนอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ รวมทั้งปฏิบัติตนตามคำแนะนำของหมอ
สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ต้องได้รับความช่วยเหลือเร่งด่วนในการสนับสนุนหน้ากากอนามัย เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ อย่างทันกาล และทั่วถึงโรงพยาบาล ในทุกพื้นที่ โดยถือว่าเรื่องนี้สำคัญมาก ต้องมีระบบการกระจายที่มีประสิทธิภาพ ขาดแคลนไม่ได้
ยาพร้อม-มีกองทุนดูแล
พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันว่ามียาที่จำเป็นในการรักษาอย่างเพียงพอ และมีแผนการจัดหาเพิ่มเติมจากต่างประเทศ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์ที่อาจลุกลามได้ นอกจากนี้ผู้ป่วยด้วยโรคนี้รัฐบาลถือว่าเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน ดังนั้นจะมี 3 กองทุน อาทิ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนรักษาพยาบาลประกันสังคม และกองทุนรักษาพยาบาลสวัสดิการข้าราชการ มารับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้
เคอร์ฟิว 22.00-04.00 น.
ด้านป้องกันและช่วยเหลือประชาชน รวมทั้งการรักษาความมั่นคง เรายึดหลักสุขภาพนำเสรีภาพโดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ จำกัดการเดินทาง การเคลื่อนย้ายคน และจำกัดการรวมตัวกันของคนจำนวนมาก ในพื้นที่เสี่ยงการแพร่ระบาดต่างๆ โดยแต่ละพื้นที่ จะออกมาตรการที่เข้มงวด สอดคล้องตามสถานการณ์ และคำแนะนำทางการแพทย์ ซึ่งจะต้องเอาจริงเอาจัง เราอาจจะรู้สึกไม่สะดวกสบายเหมือนปกติบ้าง แต่เราทุกคนต้อง “ปรับตัวเพื่อความอยู่รอด” ต้องมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม เราจึงจะฝ่าวิกฤตนี้ไปได้
"เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมการระบาด และลดการสัญจรของพี่น้องประชาชน โดยจะประกาศข้อกำหนด ห้ามบุคคลออกนอกเคหะสถาน หรือ “เคอร์ฟิว” ตั้งแต่เวลา 22.00 น.-04.00 น. ทั่วราชอาณาจักร โดยเว้นผู้ที่มีเหตุจำเป็น หรือผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ การธนาคาร การขนส่งสินค้าที่จำเป็นเพื่ออุปโภคบริโภค ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ เชื้อเพลิงรวมถึง การเดินทางของประชาชนเพื่อเข้าออกเวรทำงาน หรือการเดินทางมาจากหรือไปท่าอากาศยาน โดยให้ขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ในเขตพื้นที่นั้นๆ
ทั้งนี้ จะเริ่มในวันศุกร์ที่ 3 เมษายน 2563 เวลา 22.00 น.ซึ่งต้องขอให้พี่น้องประชาชนอย่าตื่นตระหนก และไม่ต้องกักตุนสินค้า อาหาร เพราะท่านยังสามารถออกมาซื้อหาข้าวของในช่วงกลางวันได้ตามปกติ แต่ต้องเคร่งครัดในเรื่อง ระยะห่างทางสังคมด้วย"
ยันไม่ปล่อยให้ผู้ใดกักตุน
ด้านการควบคุมสินค้า ได้สั่งการให้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการกระจายหน้ากากและเวชภัณฑ์สำหรับประชาชน และศูนย์ปฏิบัติการควบคุมสินค้า โดยขอย้ำว่าจะไม่ปล่อยให้ผู้ใดกักตุน หรือฉวยโอกาส หรือแสวงหาผลประโยชน์ ซ้ำเติมความทุกข์ยากของคนไทยด้วยกัน ซึ่งจะต้องรับโทษอย่างรุนแรง มีอัตราโทษสูง จำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากประชาชนพบเห็นสามารถแจ้งเบาะแสได้ที่ สายด่วน บก.ปคบ. 1135
สำหรับด้านการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ รัฐบาลได้ออกมาตรการอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดภาระและบรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น สำหรับประชาชนทุกกลุ่ม และผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ อาทิ เงินช่วยเหลือ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน สำหรับลูกจ้างรายวัน – อาชีพอิสระ – แรงงานนอกระบบ 9 ล้านคน การคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าและการใช้น้ำ รวมทั้งลดค่าน้ำ – ค่าไฟ 3 เดือน สำหรับทุกครัวเรือน ซึ่งเป็นเพียงจุดเริ่มต้นส่วนหนึ่ง
นอกจากนี้ ยังมีการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเงินผ่อนบ้าน ผ่อนรถ, ขยายเวลาชำระตั๋วจำนำ และลดอัตราขั้นต่ำจ่ายหนี้บัตรเครดิต สำหรับประชาชนทั่วไป รวมทั้งแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคมด้วย ที่ลดการจ่ายเงินสมทบเหลือ 1% และขยายเวลาให้ 3 เดือน ส่วนผู้ประกอบการและ SME รัฐบาลก็จะช่วยคืนสภาพคล่อง – ลดภาระค่าใช้จ่าย – บริหารหนี้เดิมไม่ให้เป็น NPL ด้วยมาตรการด้านภาษีและการเงิน อีกหลายมาตรการ เพื่อทำให้ทุกคน ทุกฝ่าย มั่นใจได้ว่าเราไม่ทิ้งกัน
ด้านการต่างประเทศ โดย ศบค. ได้ตั้ง ศูนย์ปฏิบัติการมาตรการเดินทางเข้าออกประเทศ และการดูแลคนไทยในต่างประเทศ โดยมีการยกระดับการคัดกรองผู้เดินทางเข้าออกประเทศ อย่างเข้มงวด ไม่ให้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เติมเข้ามาอีก สิ่งสำคัญอีกประการ คือ ด้านการสื่อสารในสภาวะวิกฤต เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจ และผู้ปฏิบัติงานมีความชัดเจน ไม่สับสน หรือสร้างความขัดแย้ง ศบค.จัดให้มีระบบการสื่อสารที่เป็น เอกภาพไปในทิศทางเดียวกัน หรือ Single Voice โดยจะมีการแถลงข่าวที่ถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศ ในทุกช่องทาง เป็นประจำทุกวันหลังการประชุมในช่วงเช้า โดยโฆษกศูนย์ และผู้รับผิดชอบโดยตรง เท่านั้น งดเว้น และหลีกเลี่ยง การให้สัมภาษณ์ของผู้ที่ไม่ได้รับมอบหมาย หรือเกี่ยวข้องกับมาตรการต่างๆ ของศูนย์ ฯ
"ผมขอให้สื่อมวลชนทุกสำนัก รวมถึงสื่อโซเชียล ใช้ความระมัดระวังในการสื่อสาร โดยขอให้ใช้ข้อมูลจากศูนย์นี้ เท่านั้น ห้ามการสื่อสารที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้ง ความเข้าใจผิด หรือบิดเบือนข้อมูล รวมถึงผู้ที่สร้างข่าวปลอม หรือ Fake News และการส่งต่อข่าวปลอม ทั้งที่ไม่เจตนา หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ที่มีผลต่อความมั่นคง ก็จะมีโทษตามพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉินนี้ อย่างหนัก ดังนั้น เราจะต้องงดการส่งต่อข้อมูลที่ไม่ทราบแหล่งที่มา หรือไม่มั่นใจ เราควรส่งต่อข้อมูลที่สร้างสรรค์ เป็นประโยชน์ อาทิ ตัวอย่างการปฏิบัติตนตามนโยบายของภาครัฐ กิจกรรมจิตอาสา เป็นต้น"