นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. ได้ออกแนวปฏิบัติการใช้เทคโนโลยีชีวมิติ (Biometric Technology) ในการให้บริการทางการเงินเมื่อวันที่ 22 ก.ค.2563 ที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ให้บริการทางการเงินที่นำ Biometrics มาใช้ในการให้บริการทางการเงิน
โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีการเปรียบเทียบใบหน้า (Facial recognition) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีหลักที่มีการใช้งานในภาคการเงินในปัจจุบัน เพื่อให้ผู้ใช้บริการมั่นใจว่าการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดังกล่าวมีความมั่นคงปลอดภัย สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานสากล ซึ่งจะช่วยยกระดับการให้บริการทางการเงิน และก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ใช้บริการ
ทั้งนี้ แนวปฏิบัติดังกล่าวครอบคลุมหลักการที่ผู้ให้บริการทางการเงินพึงปฏิบัติ 6 ด้าน ได้แก่ 1) การกำหนดนโยบายและการกำกับดูแลการใช้เทคโนโลยีชีวมิติ 2) การรวบรวมข้อมูลชีวมิติของผู้ใช้บริการอย่างมีคุณภาพ ปลอดภัย 3) การประมวลผลข้อมูลชีวมิติของผู้ใช้บริการอย่างแม่นยำ 4) การรักษาความปลอดภัยข้อมูลของผู้ใช้บริการอย่างเข้มงวดและรัดกุม ตามมาตรฐานสากล 5) การคุ้มครองผู้ใช้บริการและให้ความรู้เกี่ยวกับการทำธุรกรรมด้วยเทคโนโลยีชีวมิติอย่างเหมาะสมเพียงพอ และ 6) การควบคุมความเสี่ยงด้านปฏิบัติการและรองรับการให้บริการอย่างต่อเนื่อง
สำหรับผู้ให้บริการทางการเงินที่ประสงค์จะนำ Biometrics ไปใช้ให้บริการทางการเงินจำเป็นต้องปฏิบัติตามแนวปฏิบัติดังกล่าวและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยต้องมีการทดสอบการใช้ Biometrics เพื่อเปรียบเทียบภาพกับแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ (Trusted Source) ภายใต้ Regulatory Sandbox ของ ธปท. ก่อนนำมาใช้จริง ทั้งนี้ หากผู้ให้บริการมีความประสงค์จะประยุกต์ใช้กับธุรกรรมทางการเงินประเภทอื่นๆ จะต้องมีการหารือกับ ธปท. ก่อนเปิดใช้บริการเพื่อความปลอดภัย
โดยล่าสุดธปท.อนุญาตให้ 5 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารทหารไทย และธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ออกจากศูนย์ทดสอบนวัตกรรมทางการเงิน (Sandbox) เพื่อใช้เทคโนโลยีชีวมิติ (Biometrics) ผ่านการจดจำใบหน้า (Facial recognition) สำหรับบริการเปิดบัญชีเงินฝากผ่านระบบออนไลน์แล้ว
หลังจากช่วงที่ผ่านมา ธปท.เปิดให้สถาบันการเงิน และนอนแบงก์ เข้าทดสอบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ผ่านหลักเกณฑ์การรู้จักลูกค้า (KYC หรือ Know You Customer) ด้วยเทคโนโลยีชีวมิติ สำหรับบริการทางการเงินในอนาคต ซึ่งคาดว่าจะออกจาก Sandbox 3 ราย จากผู้ให้บริการที่อยู่ใน Sandbox ทั้งหมด 14 ราย ประกอบด้วยสถาบันการเงิน 10 ราย และนอนแบงก์ 4 ราย
อย่างไรก็ตาม การเปิดทดสอบ ให้สามารถใช้เทคโนโลยี จดจำใบหน้า ที่เปิดให้ทดสอบในวงจำกัดในช่วงที่ผ่านมา ปัจจุบันมียอดการเปิดบัญชีเงินฝากผ่านเทคโนโลยีนี้แล้ว ราว 5.4 ล้านบัญชี ซึ่งคาดว่าหลังจากนี้จะเห็นการเปิดบัญชีเงินฝากด้วยเทคโนโลยีดังกล่าว อย่างแพร่หลายขึ้น เพราะเพิ่มความสะดวกให้กับผู้เปิดบัญชี ช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินในวงกว้างมากขึ้น