ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกา ลงมติเมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2562 เห็นชอบให้เดินหน้ากระบวนการไต่สวนอย่างเป็นทางการว่าจะพิจารณาถอดถอนหรือ impeachment ประธานาธิบดี 'โดนัลด์ ทรัมป์' พ้นจากตำแหน่งหรือไม่
ที่ประชุมฯ มีมติเสียงข้างมาก 232 เสียง เห็นชอบให้เริ่มการไต่สวน ส่วนอีก 196 เสียง ซึ่งเป็นสมาชิกพรรครัฐบาลรีพับลิกันทั้งหมด โหวต 'คัดค้าน' โดยมี ส.ส.ของพรรคฝ่ายค้านเดโมแครต 2 ราย โหวตคัดค้านการไต่สวนทรัมป์ด้วยเช่นกัน ได้แก่ 'เจฟ แวน ดรูว์' ส.ส.สมัยแรกของนิวเจอร์ซีย์ และ 'คอลลิน ปีเตอร์สัน' ส.ส. มินนิโซตา ซึ่งอยู่ในตำแหน่งมานานถึง 15 ปี
การลงมติครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากที่ 'แนนซี เพโลซี' ประธานสภาผู้แทนฯ ประกาศเมื่อวันที่ 24 ก.ย.ที่ผ่านมาว่าคณะกรรมาธิการฝ่ายความมั่นคงและข่าวกรองของสภาฯ จะสอบปากคำผู้เกี่ยวข้องในรัฐบาลทรัมป์ หลังอดีตเจ้าหน้าที่รายหนึ่งเผยข้อมูลว่าทรัมป์อาจเข้าข่ายใช้อำนาจในทางมิชอบ เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของตัวเอง
การเรียกตัวผู้เกี่ยวข้องกับทรัมป์มาให้ปากคำ ดำเนินไปแบบปิดลับ แต่บทสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างทรัมป์และผู้นำยูเครนถูกนำมาเผยแพร่สู่สาธารณะ ในเวลาต่อมา โดยทรัมป์กล่าวหาว่า 'โจ ไบเดน' อดีตรองประธานาธิบดี สังกัดพรรคเดโมแครต มีผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะ 'ฮันเตอร์' ลูกชายของเขา เป็นผู้บริหารบริษัทด้านพลังงานในยูเครน
คำให้การระบุว่า ทรัมป์เสนอให้รัฐบาลยูเครนเจรจากับกระทรวงยุติธรรมเพื่อสอบสวนไบเดน โดยย้ำหลายครั้งว่า นี่เป็นการ 'ยื่นหมูยื่นแมว' ซึ่งหมายถึงว่าต่างฝ่ายต่างก็จะได้ประโยชน์
ทั้งนี้ ไบเดนเป็นหนึ่งในผู้สมัครชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคเดโมแครตเพื่อสู้ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปีหน้า และถูกประเมินว่าอาจจะเป็นคู่แข่งคนสำคัญของทรัมป์
ทรัมป์ทวีตฉะ มติสภาฯ 'ล่าแม่มด'
คณะกรรมาธิการฝ่ายข่าวกรองของสภาผู้แทนฯ บันทึกการสอบปากคำอดีตเจ้าหน้าที่ซึ่งเคยทำงานให้กับทรัมป์ บ่งชี้ว่ารัฐบาลทรัมป์สั่งระงับความช่วยเหลือทางทหารแก่รัฐบาลยูเครนชุดปัจจุบัน และเลื่อนกำหนดการต้อนรับผู้นำยูเครนที่ทำเนียบขาวสหรัฐฯ เพื่อกดดันยูเครนให้สอบสวนไบเดน
ภายหลังจากที่ประชุมสภาผู้แทนฯ ลงมติได้ไม่นาน ทรัมป์ก็ได้ทวีตข้อความตอบโต้มติดังกล่าว โดยระบุว่า "นี่คือการล่าแม่มดครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกัน"
ขณะที่ 'สเตฟานี กริชแชม' หนึ่งในคณะทำงานในทำเนียบขาว ออกแถลงการณ์ประณามว่า มติให้พิจารณาถอดถอนทร้มป์ เกิดจากความหมกมุ่นของพรรคฝ่ายค้านเดโมแครตที่ต้องการใช้วิธีไม่ชอบธรรมในการกำจัดทรัมป์
ด้าน 'เควิน แม็คคาร์ทธี' ส.ส.รีพับลิกัน รัฐแคลิฟอร์เนีย โจมตีว่าแม้พรรคเดโมแครตจะมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ แต่ก็กลัวว่าคงจะไม่อาจเอาชนะทรัมป์ได้ในการเลือกตั้งปีหน้า จึงต้องใช้กระบวนการถอดถอนเป็นเครื่องมือ ทั้งที่จริงๆ แล้ว ควรปล่อยให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจผ่านการเลือกตั้งเองว่า จะให้ทรัมป์อยู่ในตำแหน่งต่อหรือไม่
ส่วน 'แนนซี เพโลซี' ประธานสภาผู้แทนฯ สังกัดพรรคเดโมแครต ใช้สิทธิโหวตเห็นชอบการไต่สวนชี้มูลพิจารณาถอดถอนทรัมป์เช่นกัน ทำให้สื่อตั้งข้อสังเกตว่านี่เป็นการฉีกธรรมเนียมปฏิบัติของประธานสภาฯ ในอดีต ซึ่งส่วนใหญ่จะงดออกเสียงเพื่อวางตัวเป็นกลาง
เพโลซีแถลงข่าวโต้คำวิจารณ์ของรีพับลิกัน โดยระบุว่า น่าแปลกใจที่สมาชิกรีพับลิกันหลายรายหวาดกลัวกระบวนการไต่สวนครั้งนี้ เพราะที่จริงแล้วเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องได้ชี้แจงข้อเท็จจริงต่างๆ ต่อสาธารณะ ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงถ้าพูดความจริง และต้องตระหนักอยู่เสมอว่า ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย แม้แต่ประธานาธิบดี
นอกจากนี้ ส.ส.เดโมแครตที่โหวตสวนมติพรรค ออกแถลงการณ์ชี้แจงว่า ไม่อยากให้สังคมอเมริกันแตกแยก แต่ก็เปิดทางว่า ถ้าการพิจารณาหลักฐานและปากคำผู้เกี่ยวข้องบ่งชี้ว่าทรัมป์กระทำผิดจริงก็จะโหวตให้ถอดถอนเช่นกัน
ลงมติไต่สวนแล้วเมื่อไหร่จะถอดถอน?
ขั้นตอนหลังจากที่ประชุมสภาผู้แทนฯ ลงมติให้ไต่สวนทรัมป์อย่างเป็นทางการ คือการกำหนดกรอบการทำงานร่วมกันของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ต่างๆ ในสภา โดย กมธ.ฝ่ายข่าวกรองจะเรียกตัวพยานและผู้เกี่ยวข้องมาให้การแบบเปิด เพื่อรวบรวมหลักฐานและสรุปสำนวน
ในกรณีที่พบหลักฐานชี้มูลความผิด จะต้องส่งรายงานสรุปให้ กมธ.กฎหมาย เพื่อเปรียบเทียบว่าความผิดที่ปรากฏในรายงานเข้าข่ายละเมิดกฎหมายหรือข้อบังคับด้านวินัยหรือจริยธรรมข้อไหน แล้วจึงส่งเรื่องต่อไปยังวุฒิสภา เพื่อลงมติว่าจะเห็นชอบการพิจารณาถอดถอนทรัมป์หรือไม่
ในระหว่างขั้นตอนนี้ วุฒิสภามีสิทธิเรียกทรัมป์และผู้เกี่ยวข้องไปให้ปากคำได้ เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้ชี้แจง และผู้ถูกเรียกตัวไม่มีสิทธิปฏิเสธ
สื่อสหรัฐฯ ประเมินว่าการพิจารณาหลักฐานและสอบปากคำต่างๆ น่าจะแล้วเสร็จช่วงปลายเดือน พ.ย.หรือต้นเดือน ธ.ค. และวุฒิสภาต้องลงมติว่าเห็นชอบการถอดถอนทรัมป์หรือไม่ โดย 2 ใน 3 ของวุฒิสมาชิกต้องลงมติเห็นชอบ การถอดถอนจึงจะมีผล และตอนนี้พรรครีพับลิกันมีเสียงข้างมากในวุฒิสภา
หากทรัมป์ถูกลงมติถอดถอนจริง จะส่งผลให้รองประธานาธิบดีขึ้นมารักษาการแทนจนกว่าจะเลือกตั้ง
ในอดีตเคยมีประธานาธิบดีสหรัฐฯ ถูกวุฒิสภาลงมติถอดถอนให้พ้นตำแหน่งมาแล้ว 2 ราย ได้แก่ 'แอนดรูว์ จอห์นสัน' เมื่อปี 1868 และ 'บิล คลินตัน' อดีต ปธน.สังกัดเดโมแครต เมื่อปี 1998 แต่เสียงของ ส.ว.ที่เห็นด้วยกับการถอดถอนไม่ถึง 2 ใน 3 ทั้งคู่จึงยังอยู่ในตำแหน่งต่อ ไป ส่วน 'ริชาร์ด นิกสัน' ลาออกเมื่อปี 1974 ก่อนกระบวนการไต่สวน
ที่มา: AP/ The Guardian/ VOA