ไม่พบผลการค้นหา
ชิลีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว หลังการประท้วงการขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดินทวีความรุนแรงถึงขึ้นเผาสถานี

ในช่วงเกือบเที่ยงคืนวันที่ 18 ตุลาคม ตามเวลาประเทศชิลี รัฐบาลชิลีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในกรุงซานติอาโกแล้ว และแต่งตั้งพลตรีฆาเวียร์ อิตูร์เรียกา เดล กัมโป เป็นหัวหน้ากองกำลังป้องกันชาติ หลังการประท้วงการขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดินบานปลายในกรุง

การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งอาจมีผลถึง 15 วันนี้ เปิดทางให้รัฐบาลจำกัดสิทธิในการชุมนุม และได้มีการส่งทหารลงสู่ถนนเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เหตุแผ่นดินไหวในปี 2010 ทว่าพลตรีอิตูร์เรียกา กล่าวว่าจะยังไม่มีการบังคับใช้เคอร์ฟิวในตอนนี้

ประธานาธิบดีเซบาสเตียน ปิเญรา กล่าวว่าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป้าหมายคือการรักษาความสงบเรียบร้อย รวมถึงความปลอดภัยของทรัพย์สินของรัฐและเอกชน

afp - chile protest
  • ภายในสถานีรถไฟใต้ดินมากุล (Macul) เมืองซานติเอโก

ชนวนเหตุของการประท้วงครั้งนี้เริ่มจากการประกาศขึ้นราคาค่ารถไฟใต้ดินในวันที่ 6 ตุลาคม ซึ่งทำให้ซานติเอโกกลายเป็นหนึ่งในเมืองที่ค่ารถไฟฟ้าแพงที่สุดในกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา โดยขึ้นจาก 800 เปโซชิลี (ราว 34.10 บาท) เป็น 830 เปโซชิลี (ราว 35.40 บาท) สำหรับชั่วโมงเร่งด่วน โดยชี้ว่าเป็นเพราะราคาเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น และค่าเงินเปโซชิลีที่อ่อนลง หลังจากก่อนหน้านี้ก็ขึ้นมาแล้ว 20 เปโซชิลี (ราว 85 สตางค์) ในเดือนมกราคม นอกจากนี้ค่ารถโดยสารประจำทางก็มีการขึ้นราคาด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ราคาค่ารถไฟใต้ดินเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2007 ศึ่วมีราคาอยู่ที่ 420 เปโซชิลี (ราว 17.90 บาท)

จากการดื้อเงียบสู่เหตุจลาจล

หลังจากมีการประกาศขึ้นราคาครั้งล่าสุดนี้ ชาวชิลีได้มีการประท้วงเงียบด้วยการลอบเข้ารถไฟใต้ดินโดยไม่ซื้อตั๋ว โดยสำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่าทางการรถไฟใต้ดิน ชี้ว่าในช่วง 11 วันที่ผ่านมามีเหตุนักเรียนนักศึกษาเลี่ยงค่าโดยสารด้วยการกระโดดข้ามและแทรกตัวผ่านรั้วกั้นทางเข้าสถานีกว่า 200 ครั้ง

กระแสต่อต้านการขึ้นค่าโดยสารในชั่วโมงเร่งเด่วนยิ่งรุนแรงยิ่งขึ้น หลังจากฆวน อันเดรส ฟอนตีน รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ บอกให้ผู้โดยสารตื่นเช้าขึ้นมาใช้รถไฟในช่วง 6 ถึง 7 โมงแทน

การชุมนุมประท้วงเริ่มต้นเมื่อช่วงต้นสัปดาห์นี้และชุมนุมติดต่อกันมา ก่อนหน้านี้ในวันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม มีผู้ถูกจับ 133 คนข้อหาทำลายทรัพย์สินสถานีรถไฟใต้ดินซึ่งคาดว่ามีมูลค่าความเสียหายถึง 500 ล้านเปโซชิลี (ราว 21 ล้านบาท)

เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม การประท้วงเพิ่มระดับความรุนแรงขึ้น มีการทำลายที่กั้นเข้าสถานีรถไฟใต้ดิน และดึงเบรกฉุกเฉินรถไฟใต้ดิน

หลังจากมีการโจมตีเกือบทั้ง 164 สถานี ซึ่งส่วนใหญ่รั้วกั้นทางเข้าสถานีถูกทำลายนั้น ทางทวิตเตอร์ของผู้ให้บริการรถไฟ ระบุว่าระบบรถไฟฟ้าใต้ดินปิดตัวลงจากเหตุในครั้งนี้ เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดกับผู้โดยสารและพนักงาน ส่งผลกระทบกับผู้โดยสารกว่า 2.5 ล้านคน ซึ่งโดยสารรถไฟใต้ดิน

000_1LJ7K3.jpg

คาดว่าระบบรถไฟใต้ดินซานติเอโกเมโทร ระยะราง 140 กิโลเมตร ซึ่งนับว่าใหญ่และทันสมัยที่สุดในทวีปอเมริกาใต้ จะปิดในช่วงสุดสัปดาห์นี้ และค่อยทยอยเปิดให้ใช้บริการอีกครั้งในสัปดาห์หน้า

กลุ่มผู้ประท้วงมีการตั้งแนวกั้นในหลายจุดของเมืองและปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งใช้ท่อฉีดน้ำแรงดันสูงและแก๊สน้ำตาในการสลายการชุมนุม

นอกจากนี้ การประท้วงยังรุนแรงขึ้นโดยมีการจุดไฟเผาสถานีรถไฟใต้ดินหลายแห่ง มีรถโดยสารประจำทางถูกเผาอย่างน้อย 16 คัน ทางด้านบริษัทพลังงานเอเนลชิลี ระบุว่า มีผู้ทำทำลายทรัพย์สินวางเพลิงในตึกสำนักงานของบริษัท ทว่าได้มีการอพยพพนักงานและไม่มีใครบาดเจ็บ

afp - chile protest
  • การดับเพลิงไหม้ ณ ตึกเอเนลชิลีในคืนวันที่ 18 ตุลาคม

ก่อนหน้านี้ในวันที่ 18 ตุลาคม กลอเรีย ฮัตต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนามคมและโทรคมนาคม กล่าวว่ารัฐอุดหนุนค่าดำเนินงานเกือบครึ่งหนึ่งของรถไฟใต้ดิน และจะไม่มีการปรับลดค่าโดยสารลง

สำนักข่าวบีบีซีชี้ว่าชิลีเป็นหนึ่งในประเทศที่มั่งคั่งที่สุดในกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา แต่ก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดเช่นกัน มีเสียงสะท้อนถึงปัญหาค่าครองชีพและเรียกร้องให้มีการปฏิรูปเศรษฐกิจโดยเฉพาะในกรุงซานติเอโกซึ่งมีประชากรราว 6 ล้านคน

ที่มา: BBC / Guardian / Aljazeera / TelesureEnglish / AFP / Reuters

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: