วสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยสถิติเรื่องร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เดือนมกราคม – ธันวาคม 2565 โดยระบุว่า มีเรื่องร้องเรียนในปีที่ผ่านมาจำนวน 1,152 เรื่อง ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยประเด็นที่มีการร้องเรียนมายัง กสม. มากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่
อันดับที่ 1 สิทธิและสถานะของบุคคล คิดเป็นร้อยละ 36.72 เช่น กรณีขอความช่วยเหลือผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนหรือสัญชาติ กรณีผู้ถือบัตรประจำตัวบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียนมีความประสงค์ขอให้เร่งรัดการดำเนินการให้ได้รับบัตรประชาชนสัญชาติไทย กรณีขอความช่วยเหลือในการยื่นคำขอจัดทำทะเบียนประวัติบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน หน่วยงานที่ถูกร้องว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ได้แก่ สำนักทะเบียนกลาง และสำนักทะเบียนจังหวัด สังกัดกระทรวงมหาดไทยโดยพื้นที่ที่มีการร้องเรียนมากที่สุดคือภาคตะวันออก
อันดับที่ 2 สิทธิในกระบวนการยุติธรรม คิดเป็นร้อยละ 13.72 กรณีที่ถูกร้องเรียนมากที่สุดคือ กรณีขอให้เร่งรัดการดำเนินคดีของพนักงานสอบสวน หน่วยงานที่ถูกร้องเรียนว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน คือสถานีตำรวจภูธรและสถานีตำรวจนครบาลรวม 67 แห่งในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยพื้นที่ที่มีการร้องเรียนมากที่สุดคือพื้นที่ภาคใต้
อันดับที่ 3 สิทธิชุมชน คิดเป็นร้อยละ 5.03 กรณีที่มีการร้องเรียนมากที่สุดคือการจัดทำโครงการขนาดใหญ่ของรัฐและเอกชนที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของคนในชุมชน หรือขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน หน่วยงานถูกร้องว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน ได้แก่ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยพื้นที่ที่มีการร้องเรียนมากที่สุดคือพื้นที่ภาคใต้
ส่วนประเด็นสิทธิอื่น ๆ ที่มีการร้องเรียนมายัง กสม. เช่น สิทธิของบุคคลในทรัพย์สิน สิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย สิทธิและความเสมอภาคทางเพศ การเลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรม สิทธิแรงงาน สิทธิเด็ก สิทธิคนพิการ สิทธิของผู้สูงอายุ และสิทธิทางการศึกษา เป็นต้น
สำหรับการประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนกับหน่วยงานของรัฐหรือองค์กรเอกชน รวมทั้งการประสานกับบุคคลอื่นใดในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน นั้น มีเรื่องร้องเรียนที่ กสม. รับไว้เป็นคำร้องเพื่อดำเนินการประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ในปี 2565 จำนวน 124 คำร้อง ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว จำนวน 96 คำร้อง อยู่ระหว่างรอการพิจารณาของ กสม. จำนวน 6 คำร้อง และอยู่ระหว่างการติดตามผลการประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน จำนวน 22 คำร้อง โดย กสม. มีนโยบายคุ้มครองสิทธิมนุษยชนโดยเร็ว ซึ่งการประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนช่วยร่นระยะเวลาให้สั้นลง หลายคำร้องใช้ระยะเวลาไม่นานในการดำเนินการจนแล้วเสร็จ เช่น คำร้องเรื่อง สิทธิและสถานะของบุคคล กรณีการอำนวยความสะดวกติดตาม ประสาน เร่งรัดกระบวนการพิจารณาสัญชาติที่สามารถดำเนินการเเล้วเสร็จภายในระยะเวลา 1 เดือน
ส่วนการจัดทำรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนในปี 2565 มีจำนวน 181 เรื่อง โดยประเด็นสิทธิที่ กสม. มีมติว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน 3 อันดับแรก ได้แก่
(1) สิทธิในกระบวนการยุติธรรม เช่น กรณีการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจและสื่อมวลชน โดยละเมิดสิทธิของผู้ต้องหา ผู้เสียหาย และผู้เกี่ยวข้องในการเสนอข่าวต่อสาธารณะ กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่คืนทรัพย์สินที่ยึดไว้เป็นของกลางในคดีอาญา และกรณีพนักงานสอบสวนดำเนินคดีล่าช้า
(2) สิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย เช่น กรณีผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บสาหัสในการสลายการชุมนุม กรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐทำร้ายร่างกายขณะจับกุมและควบคุมตัว และกรณีการตรวจสารพันธุกรรม (DNA) หรือการตรวจปัสสาวะหาสารเสพติดแบบเหมารวมโดยไม่ได้รับความยินยอม
และ (3) สิทธิของบุคคลในทรัพย์สิน เช่น กรณีแนวเขตของอุทยานแห่งชาติทับซ้อนที่ดินทำกินของราษฎร และกรณีปัญหาการจัดสรรที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยและการจัดระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตให้แก่คนจนเมืองในชุมชนแออัด