ไม่พบผลการค้นหา
‘เพื่อไทย’ สร้างพื้นที่ให้คนทุกเพศ เป็นคนไทยด้วยกันอย่างเท่าเทียมเปิดตัวคลิป ‘เพื่อ LGBTQ+ ไทย’ รวมตัวแทน ส.ส.ต่างเจเนอเรชั่น

28 มิ.ย. 2565 เพจเฟซบุ๊กพรรคเพื่อไทยเผยแพร่คลิป ‘เพื่อ LGBTQ+ ไทย’ เนื่องในโอกาสที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม พรรคเพื่อไทยได้สัมภาษณ์ตัวแทน ส.ส.จาก ‘4 จังหวัด 3 Generation’ เกี่ยวกับประเด็นสมรสเท่าเทียม เพื่อให้เห็นมุมมองที่หลากหลายของผู้แทนราษฎรจังหวัด ร้อยเอ็ด-ขอนแก่น-สกลนคร และกรุงเทพมหานคร

จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด ตัวแทนจาก Generation Y สะท้อนปัญหาของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ผ่านประสบการณ์ของเพื่อนซึ่งเป็นกลุ่มคนหลากหลายทางเพศแล้วทำงานอยู่ในระบบราชการทำให้พบอุปสรรคในชีวิตคู่ เช่น ปกติแล้วเวลาไปประจำการในต่างประเทศ จะมีสวัสดิการให้กับคู่สมรส แต่พอเป็นเพศเดียวกันกลับไม่สามารถรับสวัสดิการเหล่านั้นได้ เพราะไม่เข้าเงื่อนไขระเบียบและข้อกำหนดต่างๆ ของราชการ ฉะนั้นหากสามารถแก้กฎหมายที่ทำให้เขาทั้งสองคนสามารถจะใช้ชีวิตได้ปกติก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี

จิราพร อธิบาย การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่.. ) พ.ศ..... หรือสมรสเท่าเทียม ซึ่งแก้ไขจากคำว่า ‘ชายสมรสหญิง’ ให้เป็น ‘บุคคล’ เพื่อครอบคลุมไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม ก็มีสิทธิที่จะสมรสกันและได้รับสิทธิสวัสดิการอื่นๆ เท่ากันกับที่เพศอื่นๆ ได้รับตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ นับเป็นการสร้างพื้นที่ให้คนทุกเพศทุกวัย เป็นคนไทยด้วยกันอย่างเท่าเทียม

มุกดา พงษ์สมบัติ ส.ส.ขอนแก่น ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร และ หนึ่งใน กมธ. พิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม-คู่ชีวิต แสดงความเห็นจากมุมมองของ Generation Baby Boomer ว่า คนในรุ่นเธอนั้นเข้าใจว่าความหลากหลายทางเพศนั้นมีมานานและเป็นเรื่องปกติ แต่ในอดีตนั้นการระบุความหลากหลายทางเพศยังมีไม่มาก ส่วนใหญ่รู้จักเพศที่หลากหลายในนาม ‘กะเทย’ อย่างไรก็ตาม มุกดาให้ความสำคัญกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่แต่ละคนเป็นคนเลือกเอง

นิยม เวชกามา ส.ส.สกลนคร แสดงความเห็นจากมุมมอง Generation Baby Boomer ด้วยว่า ความหลากหลายทางเพศนั้นมีมานานและถูกระบุในศาสนาพุทธตั้งแต่ 2,000 ปีก่อน แปลว่านี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่สังคมอาจจะไม่ยอมรับความหลากหลายนั้น สิ่งที่พบในพื้นที่ของตัวเอง เช่น ข้อกฎหมายเกี่ยวกับ ‘ทรัพย์สิน’ ของคู่รัก ที่เป็นผู้หญิงกับผู้หญิง ซึ่งอยู่กินและทำมาหากินด้วยกันมานาน 10-20 ปี แต่เมื่อคนหนึ่งเสียชีวิต ญาติก็จะมาเอาที่ดินคืน จนถึงขั้นฟ้องร้องกัน สะท้อนว่าถึงแม้พวกเขาจะอยู่ด้วยกันมาหลายสิบปี แต่ก็ ‘ไม่ได้รับสิทธิ’ เพราะไม่ได้จัดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย

นิยม มองว่า หากกฎหมายสมรสเท่าเทียมนี้ออกมา ก็จะเป็นประโยชน์ต่อคู่สมรสทุกกลุ่มและทุกคน ซึ่งสกลนครเองมีผู้มีความหลากหลายทางเพศมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมีและปัจจุบันถึงเวลาต้องให้สิทธิที่พวกเขาพึงจะมี

สุรชาติ เทียนทอง ส.ส. กทม.หนึ่งใน กมธ.พิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม-คู่ชีวิต ตัวแทนจาก Generation X มองว่าจริง ๆ แล้วไม่เกี่ยวว่าเป็นมติของฝ่ายค้าน หรือใครเป็นผู้เสนอร่าง แต่เป็นเรื่องของสามัญสำนึก ถ้าเราอธิบายความเป็นมนุษย์เท่ากับมนุษย์ มนุษย์ทุกคนควรจะมีสิทธิเลือกอย่างเท่าเทียม จึงง่ายมากเลยที่จะตัดสินใจโหวตรับร่างกฎหมายฉบับนี้

ทั้งหมดนี้เป็นมุมมองของผู้แทนฯ จากพรรคเพื่อไทย ต่อประเด็นความหลากหลายทางเพศและร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งพรรคเพื่อไทยมุ่งหมายที่จะสร้างความเสมอภาคทางเพศ ให้สิทธิ เสรีภาพแก่ทุกคนในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ที่ควรจะได้รับสิทธินั้นตามรัฐธรรมนูญ และพร้อมผลักดันร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในวาระต่อไป เพื่อให้พื้นที่กับคนทุกเพศให้เป็นคนไทยด้วยกันอย่างเท่าเทียม

ติดตามชมคลิปได้ที่นี่ : https://youtu.be/hAo130bCgGw

เพื่อไทย พาเหรด เพศสภาพ lgbt -DE2E-4A8F-9D00-1838FA2DC2CA.jpeg