นายวิรัตน์ – นางถุงเงิน เกิดผล เจ้าของร้านเล็กนมสด ร้านนมที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดอุบลราชธานี เล่าให้ทีมข่าว 'วอยซ์ออนไลน์' ฟังว่า ก่อนที่จะมาเป็นร้านใหญ่โตขนาดนี้ 'นายวิรัตน์ หรือ ลุงเล็ก' จบช่างยนต์ ปวช. เป็นช่างซ่อมรถเมล์อีซูซุ ส่วนตัว 'นางถุงเงิน หรือ ป้าแหม่ม' จบชั้น ป.6 ทำงานรับจ้างเย็บผ้าและขายของตลาดนัดแถวบางกระปิเป็นอาชีพเสริม
แต่ด้วยการเติบโตทางเศรษฐกิจในขณะนั้น ประมาณปี 2534 ประกอบกับตัวป้าแหม่มชอบการค้าขาย เพราะพ่อแม่ทำอาชีพนี้มาอยู่ก่อนแล้ว จึงตัดสินใจทิ้งชีวิตมนุษย์เงินเดือนและรับจ้าง มาทำธุรกิจส่วนตัว เริ่มจากการขับรถไปดูที่ขายของทั่วภาคเหนือและอีสาน แล้วจึงมาลงหลักปักฐานที่จังหวัดอุบลราชานี เพราะชอบบรรยากาศและอัธยาศัยของคนในพื้นที่
ตอนนั้นเป็นรถเข็นขายนมสดที่ริมถนนชยางกูร อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชานี เพราะเมื่อก่อนขายน้ำแข็งใสในตลาดนัดที่กรุงเทพฯ แต่พอมาขายนมสดที่จังหวัดอุบลฯ คนที่นี่ยังไม่ค่อยตื่นตัวกับการดื่มนม ขายของแทบไม่ได้เลย
ลุงเล็กเล่าว่า วันนึงขายนมแค่หนึ่งกิโลกรัมกับนมปังอีกหนึ่งปอนด์ ยังขายไม่หมดเลย
ป้าแหม่มกล่าวต่อว่า ขายขนมปังปิ้ง 1 แผ่น แถมนมสดอีกแก้วนึงยังไม่มีคนหันมามองเลย แล้วมีคนมาทักว่ามาอยู่ที่นี่ทำไมไม่ขายส้มตำ ตอนนั้นรู้สึกใจเสียมาก แต่ยังสู้ เพราะจะขายข้าวเหนียว ส้มตำ ไก่ย่าง ก็ทำไม่เป็น แรกๆ ก็เทนมทิ้งทุกวัน เพราะเก็บไว้ข้ามวันไม่ได้ บ้านก็เช่าเขาอยู่และไม่มีตู้เย็น มีแค่รถซาเล้งกับรถแข็งคันเดียว
แต่ช่วงหลังก็มีไอเดียว่าถ้าคนยังไม่รู้จักการกินนม เราก็ต้องสอนให้คนที่อุบลฯ กินนม โดยการเอานมไปแจกตามงานแข่งกีฬาที่สนามกีฬาให้นักกีฬา หรือตามโรงเรียนให้กับเด็กนักเรียน เพราะตอนนั้นนมโรงเรียนยังไม่มี
หลังจากนั้นหนึ่งปีก็เริ่มขายได้ จากโต๊ะแดงโต๊ะเดียว เป็น 30 – 40 โต๊ะ ยาวเต็มถนน จนรถติด และสุดท้ายก็ย้ายมาเปิดร้านในห้องแถว ถนนอุปลีสาน ช่วงแรกเมนูมีแค่นมสด, ขนมปังสังขยา, และขนมปังปิ้ง ซึ่งก็มีนักกีฬาและนักเรียนมาอุดหนุนมากมายโดยเฉพาะเวลาหลังเลิกเรียน
ลุงเล็กคิดว่าสิ่งที่ทำให้ลูกค้าติด คือ คุณภาพ, รสชาติ และอัธยาศัยของเจ้าของร้านทั้งสองคน แล้วบอกต่อกันปากต่อปาก เวลาเด็กๆ เลิกเรียนมาก็จะมาที่ร้าน เรียก 'พ่อเล็ก-แม่แหม่ม' ลูกค้าหลายคนก็จะเป็นกันเอง มาช่วยขายช่วยเสิร์ฟ บางคนปิดเทอมหรือวันหยุดก็มาทำงานพิเศษที่ร้าน
ขณะที่การบริหารจัดการร้านก็ดูแลพนักงานทุกคนเหมือนลูกหลาน ดูแลครอบครัวของพนักงานด้วย หากมีปัญหาทุกข์ใจ บางคนก็ส่งเรียนจนจบปริญญาตรี และทุกๆ ปีก็จะจัดทริปไปเที่ยวทะเลกันทั้งร้าน รวมทั้งครอบครัวของพนักงานด้วย
ทุกวันนี้ร้าน 'เล็กนมสด' นอกจากจะเป็นร้านนมและร้านอาหารของนักเรียน นักศึกษา และนักกีฬาแล้ว ยังเป็นพื้นที่ให้ครอบครัวได้พาเด็กๆ มานั่งเล่น พักผ่อน ด้วยการตกแต่งร้านสไตล์คาวบอย มีซุ้มประตู วัว เครื่องบิน รถไฟ และลานหญ้าเทียมให้หลายๆ คนได้มานั่งพักผ่อน บางครอบครัวก็มาป้อนข้าวลูก เป็นเหมือนแลนด์มาร์กหนึ่งของจังหวัด
ลุงเล็กเล่าว่าตนเองเป็นคนจังหวัดสระบุรี จะโตมาในสภาพแวดล้อมแบบนี้ ก็เลยแต่งร้านออกมาให้เป็นสไตล์ที่ตนคุ้นเคย ออกแบบเองทุกจุดทุกมุม พยายามสร้างให้เป็นพื้นที่ของเด็กและครอบครัว เพราะตนเองคิดเสมอว่าที่เราโตมาได้ ก็เพราะเยาวชนที่มาดื่มนม เราจึงต้องทำอะไรคืนให้กับสังคม เราเห็นเด็กๆ มาเล่นที่ร้านก็มีความสุข
"น้าสองคนเกิดที่สระบุรี มีความผูกพันกับรถไฟ การคมนาคมก็ต้องนั่งรถไฟส่วนใหญ่ มีความชอบ พอถึงเวลานั้นจริงๆ ก็เกี่ยวข้องกับการขายนม คันทรี โคบาล เราผ่านฟาร์มโชคชัย ต้องทำแบบนี้ ก็ช่วยกันสร้างขึ้นมา กินนมบนรถไฟ เด็กๆ ชอบมาก หมุนกันพวงมาลัยหักไปสามอันแล้ว แต่ต่อให้มันหักสิบอันเราก็มีความสุข"
ตอนนั้นเดือนนึงขายได้ไม่ถึงหมื่นบาท ขาดทุนตลอด แต่ตอนนี้เดือนนึงก็เป็นหลักแสน ทุกวันนี้มีเมนูของคาวและของหวานกว่าร้อยเมนู ซื้อที่ดินรอบร้านเพิ่มขึ้น เป็นที่ให้ลูกค้าได้พักผ่อน และมาถ่ายรูปเล่น
แต่สิ่งสำคัญที่ยังคงไว้อยู่คือ เจ้าของร้านยังชงนมเอง ทำเองตลอด เพราะต้องการควบคุมคุณภาพและความสะอาด อีกทั้งลูกค้าหลายคนก็ติดเรา ถ้าไม่เจอเราบางทีก็ไม่ซื้อ ส่วนลุงเล็กเองก็แต่งร้านเองทุกวัน ตั้งแต่จัดร้าน จนถึงกรีดลายไม้ที่จะเอามาตกแต่งร้านเอง แต่ความสุขอย่างนึงคือเวลาลูกค้ามาแล้วเห็นเขามีความสุข เขาชื่นชมรสชาติของอาหาร หรือความรื่นรมย์ของสถานที่ ลุงเล็กกับป้าแหม่มจะมีความสุขมาก
"น้าสองคนคิดว่าการดื่มนม คือให้พลังเขาให้ร่างกายเขาสมบูรณ์ เราคิดแบบนั้นนะจะเป็นไปได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แต่เป็นกำลังใจที่อยากจะให้เขาเจริญเติบโตด้วยคุณภาพ"
ร้านนี้มีกฎสำคัญคือห้ามนำเหล้าบุหรี่เข้ามาในร้าน เพราะต้องการให้สุขภาพกับลูกค้าที่มาทานอาหารในร้านจริงๆ จนได้รับรางวัลร้านต้นแบบในภาคอีสาน จากกระทรวงสาธารณสุข
อย่างไรก็ตาม ด้วยราคานมสดแก้วละ 20 บาท แล้วขนมปังปิ้งจานละ 30 บาท ทำให้ลูกค้าไม่ว่าวัยไหนก็สามารถมาซื้อหาได้ และแม้ว่าเศรษฐกิจในช่วงนี้จะถดถอยก็ไม่ส่งผลกระทบกับยอดขายของร้านมากนัก แต่สิ่งที่กระทบมาก คือ ช่วงน้ำท่วม เนื่องจากถนนถูกตัดขาด ไม่สามารถมาซื้อของที่ร้านได้ ตัวเมืองอุบลราชธานีเหมือนติดเกาะทำให้ยอดขายตกลงไปบ้าง แต่ก็เป็นช่วงที่ร้านได้หยุดไปช่วยผู้ประสบภัยเหมือนกัน
ลุงเล็กกับป้าแหม่ม แนะนำว่า ในยุคที่เศรษฐกิจเป็นแบบนี้ ถ้าหากใครคิดจะเริ่มต้นธุรกิจเป็นของตัวเองก็ขอให้เป็นพนักงานประจำไปด้วยอย่าเพิ่งลาออกจากงาน ส่วนเคล็ดลับในการประสบความสำเร็จของร้าน คือ ความอดทน ความขยัน และไม่ท้อ และยิ่งไปกว่านั้นเราต้องดูแลลูกค้าด้วยใจ และซื่อสัตย์กับลูกค้า