ไม่พบผลการค้นหา
'ชานันท์' ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ชี้หากพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลในสมัยหน้าพร้อมดัน 'สมรสเท่าเทียม' เข้าสภาฯ ภายใน 60 วัน หลังถูกดองสมัย รบ.ประยุทธ์ แนะควรหนุนงบหลักประกันสุขภาพเพื่อเพศหลากหลายเข้าถึงบริการทางแพทย์ที่ปลอดภัย

เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2566 ที่สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน ชานันท์ ยอดหงษ์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้รับผิดชอบนโยบายด้านอัตลักษณ์และความหลากหลายทางเพศ ร่วมเวทีสิทธิประชาชนเพศหลากหลายกับนโยบายพรรคการเมือง 2566 โดยมีพรรคการเมืองต่างๆ เข้าร่วม อาทิ พรรคก้าวไกล พรรคไทยสร้างไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคเพื่อชาติ พรรคภูมิใจไทย พรรคสามัญชน พรรคเสมอภาค พรรคชาติพัฒนากล้า ฯลฯ

ชานันท์ กล่าวว่า กรุงเทพฯ ถูกเรียกว่าเป็นเมืองหลวงของ LGBTQ แต่เป็นเพียงแค่การท่องเที่ยวเท่านั้น โดยเฉพาะในส่วนของสิทธิทางกฎหมาย เช่น 'สมรสเท่าเทียม' ซึ่งพรรคเพื่อไทยประกาศจุดยืนชัดเจนว่าจะผลักดันร่างนี้เท่านั้น แต่กฎหมายดังกล่าวก็ถูกถ่วงเวลาจนไม่สามารถนำมาพิจารณาได้ในรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยคาดหวังว่า หากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลชุดต่อไปจะนำร่างสมรสเท่าเทียมมาพิจารณาในสภาเท่านั้น ภายใน 60 วันตามกฎหมาย

ชานันท์ กล่าวอีกว่า ในสมัยรัฐบาลไทยรักไทย ซึ่งนำโดย ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ปี 2544-2549 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเสนอแนวคิดเสนอให้คนรักเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสได้ตามกฎหมาย แต่ต้องยุติลงอย่างรวดเร็วเนื่องจากเกิดกระแสต่อต้านรุนแรง หลายกลุ่ม ซึ่งนายกสภาสตรีแห่งชาติในขณะนั้นได้ให้ความเห็นว่า จะนำไปสู่ปัญหา ทำให้เกิดความสับสนของคนในครอบครัว ขณะที่ LGBTQ ที่มีชื่อเสียงหลายคนก็แสดงความไม่เห็นด้วย โดยอ้างว่า เป็นการเกาไม่ถูกที่คัน ไม่ถึงเวลาที่จะต้องมีกฎหมายนั้น หรือควรสร้างความตระหนักรู้ให้กับคนในสังคมเสียก่อน

ขณะที่ีรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในปี 2554-2557 ได้มีความพยายามให้มีกฎหมายรับรองคู่รักเพศเดียวกันอีกครั้ง อันเป็นภาพสะท้อนของระบอบประชาธิปไตย อันเนื่องมาจากขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนและ NGO พยายามผลักดันในพ.ศ. 2555 นำไปสู่ในรูปแบบของ ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต (Civil Partnership Bill) ใน พ.ศ.2556 ยกร่างโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เพื่อใช้เฉพาะกับกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน (same-sex marriage) โดยไม่แก้ไขกฎหมายสมรสเดิมที่มีอยู่ อันเนื่องมาจากว่าในบริบทสากลขณะนั้น ประเทศต่างๆ ได้ออก Civil Partnership Bill สำหรับการจดทะเบียนคู่รักเพศเดียวกัน

อย่างไรก็ตามร่างนี้ไม่เป็นที่ยอมรับจากประชาชนเพราะสิทธิ์ที่ได้รับจาก พ.ร.บ.คู่ชีวิต น้อยมาก ภาคประชาสังคมจึงได้ร่าง และเสนอ พ.ร.บ. คู่ชีวิตฉบับประชาชน ขึ้นมาเพราะเป็นผู้ได้รับผลกระทบ และมีประสบการณ์โดยตรงจากการเลือกปฏิบัติ ต่อมามีการยุบสภา และเกิดการรัฐประหารในปี2557 กระบวนการผลักดันเพื่อการคุ้มครองคู่รักเพศเดียวกันจึงชะงักงัน ขณะเดียวกันหลายองค์กร LGBTQ ก็ไม่ต้องการผลักดันประเด็นนี้กับรัฐบาลที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน

ชานันท์ ยังกล่าอีกว่า สำหรับสิทธิทางกฎหมายของเพศหลากหลายในต่างประเทศ อย่างประเทศฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 2013 (พ.ศ. 2556) รัฐสภาผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในสมัยประธานาธิบดี François Hollande ซึ่งเคยมีนโยบายสมรสเท่าเทียมในการหาเสียงเลือกตั้ง แต่เดิมใช้กฎหมายบันทึกทะเบียนคู่ชีวิตตั้งแต่ ค.ศ. 1999 (พ.ศ.2542) เนื่องจากแรงต่อต้านของพวกคลั้งศาสนา ทั้งกับคนรักต่างเพศและคนเพศเดียวกันที่มีสิทธิใกล้เคียงกับคู่สมรสสามีภรรยา หากแต่คู่ชีวิตไม่มีสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมเหมือนคู่สมรสสามีภรรยา ไม่มีสิทธิรับลูกบุญธรรมร่วมกัน และไม่สามารถใช้วิธีผสมเทียมได้ อย่างไรก็ตามก็มีพัฒนาการแก้ไขกฎหมายเพื่อเพิ่มสิทธิให้กับคู่ชีวิต

ต่อมา ประเทศอังกฤษ ในปี ค.ศ. 2014 (พ.ศ.2557) รัฐบาลอังกฤษได้ผ่านกฎหมายให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสได้อย่างสมบูรณ์ จากเดิมมีกฎหมายจดทะเบียนคู่ชีวิต (Civil partnerships) ตั้งแต่ ค.ศ. 2005 (พ.ศ. 2548) ซึ่งเปิดให้บุคคลเพศเดียวกันจดทะเบียนใช้ชีวิตร่วมกัน ก่อนที่จะแก้กฎหมายให้คู่รักต่างเพศ สามารถจดทะเบียนคู่ชีวิตได้ ด้วยข้อคำนึงพื้นฐานที่ว่า คู่รักสามารถผูกมัดกันทางกฎหมายได้ โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้สถาบันการแต่งงานหรือการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา

ด้าน ประเทศสหรัฐอเมริกา ศาลสูงสุดมีคำพิพากษาในเดือนไพรด์ของ ค.ศ. 2015 (พ.ศ. 2558) ว่ารับรองสิทธิในการสมรสระหว่างคู่รักเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายในทั้ง 50 รัฐทั่วประเทศ จากเดิมตั้งแต่ปี ค.ศ.2003 (2546) การสมรสเพศเดียวกันนั้นชอบด้วยกฎหมายตามคำพิพากษาของศาลล่างที่ออกกฎหมายในแต่ละรัฐ ล่าสุดในสหรัฐอเมริกามีสมรสเท่าเทียมและได้รับการคุ้มครองอย่างแท้จริง หลังจากที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ลงนามรับรองกฎหมาย The Respect for Marriage Act หรือรัฐบัญญัติความเคารพต่อการสมรส ณ ทำเนียบขาว ในวันที่ 13 ธ.ค. 2565

โดยร่างกฎหมายนี้ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาเมื่อเดือนพฤศจิกายน เพื่อให้ทุกการสมรสในแต่ละมลรัฐของสหรัฐฯ ได้รับการยอมรับตามกฎหมาย โดยไม่เลือกปฏิบัติว่าเป็นเพศสภาพ เพศวิถี ชาติพันธุ์ใด หรือต่างเชื้อชาติกำเนิด ห้ามมิให้รัฐบาลของแต่ละมลรัฐปฏิเสธการสมรสนั้น ซึ่งกฎหมายนี้เป็นการยกเลิกกฎหมาย Defense of Marriage Act หรือที่รู้จักกันในชื่อ Doma บังคับใช้ตั้งแต่ปี 1996 ที่นิยามความหมายของคำว่า ‘สมรส’ เฉพาะเพศชายกับหญิงเท่านั้น ปฏิเสธสถานะการสมรสที่ชอบด้วยกฎหมายของคู่สมรสของเพศเดียวกันนำไปสู่การเสียสิทธิประโยชน์ที่พึงได้ของคู่สมรสเพศเดียวกันในบางมลรัฐ

ประเทศออสเตรีย ในปี 2017 (พ.ศ. 2560) ศาลรัฐธรรมนูญเพิกถอนวลี “ต่างเพศ” และแก้ไขโดยใช้คำว่า “บุคคล” แทนในประมวลกฎหมายว่าด้วยการสมรสและกฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนคู่ชีวิต (The Registered Partnership Act) โดยให้วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2019 (พ.ศ. 2562) คู่รักและคู่ชีวิตเพศเดียวกันสามารถเข้าถึงการสมรสได้ตามกฎหมายเพื่อไม่ให้มีการละเมิดหลักการความเสมอภาค ไม่ให้เลือกปฏิบัติต่อปัจเจกด้วยเหตุแห่งรสนิยมทางเพศ จากเดิมตั้งแต่ ค.ศ. 2010 (พ.ศ. 2553) มีการบังคับใช้การจดทะเบียนคู่ชีวิต ที่สิทธิคู่ชีวิตยังคงได้รับไม่เท่าเทียมกับคู่สมรส ซึ่งในคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญยังระบุอีกว่า คู่ชีวิตเพศเดียวกันที่เคยจดทะเบียนคู่ชีวิตสามารถจดทะเบียนสมรสได้ หรือหากพอใจในสิทธิที่ได้ตามการจดทะเบียนคู่ชีวิตแล้วจะคงสถานะไว้เช่นเดิมก็ได้

S__178839565.jpg

สุดท้าย ประเทศไต้หวัน ในปี ค.ศ. 2019 (พ.ศ. 2562) รัฐสภาไต้หวันผ่านกฎหมายสมรสเพศเดียวกันในวันสากลยุติความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ และคน รักสองเพศ (IDAHOT, 17 พฤษภาคม) โดยรัฐบาลของประธานาธิบดี Tsai Ing-wen พรรค Democrat Progressive Party เนื่องจากในค.ศ. 2017 (พ.ศ. 2560) ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การสงวนให้คู่รักต่างเพศเท่านั้นสมรสกันได้ตามกฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญและละเมิดสิทธิความเสมอภาค จึงกำหนดให้รัฐสภาแก้ไขกฎหมายภายใน 2 ปี นำไปสู่ การทำประชามติ แม้ว่าผลจะออกมาว่า ชาวไต้หวันไม่เห็นด้วยที่จะแก้กฎหมายอนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันจดทะเบียนสมรสเหมือนคนรักต่างเพศ

แต่ทางพรรคได้เลือกที่จะแก้กฎหมายสมรส แทนออกกฎหมายใหม่ แม้ว่าจะถูกคัดค้านจากประชาชนอนุรักษ์นิยมและทำให้กลายเป็นเหตุผลหนึ่งที่เสียที่นั่งในสภาไปมากในการเลือกตั้งที่จัดขึ้นพร้อมกับการลงประชามติ แต่พรรคก็เลือกที่จะยืนหยัดหลักการความเสมอภาคและสิทธิมนุษยชน ไต้หวันจึงกลายเป็นประเทศแรกในเอเชียที่มีสมรสเท่าเทียมแต่ยังมีข้อจำกัด เพราะคนรักเพศเดียวกันไต้หวันจะสมรสกับชาวต่างชาติได้ ถ้ากฎหมายของชาติฝั่งคู่ครองอนุญาตให้สมรสเท่าเทียมด้วยเท่านั้น กระทั่งนักเคลื่อนไหวฟ้องร้องกรมทะเบียนบ้านเป็นจำนวนหลายคดี กระทรวงมหาดไทยของไต้หวันมีมติให้ขยายสิทธิสมรสเท่าเทียมแก่ชาวต่างชาติเป็นทางการใน พ.ศ. 2566 

"หลายประเทศที่ออกกฎหมายจดทะเบียนคู่ชีวิตนั้นเกิดขึ้นในช่วงเดียวกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และได้มีการพัฒนาจนนำไปสู่สมรสเท่าเทียมแล้ว อย่างเช่น ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และออสเตรีย ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดี โดยรัฐไทยไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นด้วย พ.ร.บ.คู่ชีวิต แต่สามารถทำให้เกิดสมรสเท่าเทียมได้เลยดังที่ประชาชนเรียกร้อง" ชานันท์ ระบุ

ชานันท์ ยังกล่าวถึงสวัสดิการถ้วนหน้าข้ามเพศของพรรคเพื่อไทยที่จะสอดคล้องกับกฎหมายสมรสเท่าเทียมอีกว่า จากสถิติกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2563 เฉพาะหญิงข้ามเพศมีจำนวนประมาณ 313,747 คน สำหรับจำนวนของชายข้ามเพศ ในประเทศไทยยังไม่มีข้อมูลและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องที่แน่ชัด โดยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะครอบคลุมเฉพาะ บริการการข้ามเพศในการรับฮอร์โมนและยาด้วยการ รับประทาน ฉีด ทาเจลที่ผิวหนัง แผ่นแปะที่ผิวหนัง แต่การผ่าตัดศัลยกรรมข้ามเพศ ประชาชนต้องออกค่าใช้จ่ายเอง สิทธิในการข้ามเพศ ประชาชนจะสามารถใช้ได้ 1 ครั้งตลอดชีวิต (เพศกำเนิดชายข้ามเพศเป็นหญิง (MTF) / เพศกำเนิดหญิงข้ามเพศเป็นชาย (FTM) หลังข้ามเพศแล้วสิทธิจะไม่ครอบคลุมการกลับไปข้ามเพศตามเพศกำเนิดตนเอง)

S__178839570.jpg

ดังนั้น เพื่อให้ผู้ที่ต้องการข้ามเพศมีสุขภาพที่ดีขึ้น ปลอดภัย เข้าถึงได้ง่าย เข้าถึงกระบวนการที่ถูกตามองค์ความรู้วิทยาการและการควบคุมดูแลทางการแพทย์อย่างใกล้ชิด ซึ่งที่ผ่านมา เงื่อนไขทางสังคม และเศรษฐกิจ ทำให้คนข้ามเพศต้องเรียนรู้และทดลองกระบวนการในการข้ามเพศกันเอง ภายในชุมชน จากเพื่อนฝูง ปากต่อปาก นำไปสู่การวิถีปฏิบัติในการใช้ยาหรือฮอร์โมนที่ไม่เหมาะสม ไม่ปลอดภัย ไม่ถูกต้องตามหลักการแพทย์ เสียสุขภาวะที่ดีในระยะยาว เช่น เสี่ยงต่อโรคตับ ไต หัวใจ หลอดเลือด นิ่ว

การมีเพศสรีระให้ตรงกับความต้องการทางจิตใจ เป็นสิทธิและเสรีภาพอย่างหนึ่งของมนุษย์ มนุษย์ต้องไม่เจ็บป่วยหรือล้มละลายจากเสรีภาพที่พึงมี โรงพยาบาล สถานพยาบาล ที่สามารถให้บริการข้ามเพศได้ในแต่ละจังหวัด ให้อยูในกองทุนประกันสุขภาพถ้วนหน้า รับงบประมาณและฮอร์โมน ทำหน้าที่รับแจ้งผู้ใช้บริการข้ามเพศในพื้นที่ และฝึกอบรมปฎิบัติการทางการแพทย์เพื่อคนข้ามเพศ หรือโอนผู้บริการข้ามเพศไปยังสถานพยาบาลในหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในกรณีที่สถานพยาบาลได้

นอกจากนี้ยังต้องมีการคำนวณปริมาณฮอร์โมนตามสัดส่วนตามน้ำหนัก อายุ ความดันโลหิต พัฒนาการทางเพศโดยใช้การตรวจลักษณะทางเพศ Tanner staging วิตามินดี กระดูก และสุขภาพโดยแพทย์ที่ผู้ข้ามเพศรับการบริการ แต่ไม่รวมถึงการผ่าตัดเพื่อการข้ามเพศเนื่องจากมีราคาสูง ซึ่งแต่ละบุคคลสามารถใช้สิทธิข้ามเพศได้ 1 ครั้งในชีวิต (เพศกำเนิดหญิงข้ามเพศเป็นชาย เพศกำเนิดหญิงชายข้ามเพศเป็นหญิง) ดังนั้นจึงต้องมีการเพิ่มงบประมาณในหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ