สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศ วันอาทิตย์ที่ 11 เม.ย. 2564 ศบค.รายงานว่ามีผู้ป่วยรายใหม่ 967 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 32,625 ราย หายป่วยแล้ว 28,214 ราย เสียชีวิตสะสม 97 ราย
สถานการณ์ทั่วโลก ยอดผู้ติดเชื้อรวม 136,002,033 ราย เพิ่มขึ้น 703,555 ราย เสียชีวิต 2,939,054 ราย เพิ่มขึ้น 11,274 ราย
อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด 1. สหรัฐอเมริกา 31,869,980 ราย บราซิล 13,445,006 ราย อินเดีย 13,355,465 ราย ฝรั่งเศส 5,023,785 ราย รัสเซีย 4,632,688 ราย
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ตอนนี้อย่างน้อย 70 จังหวัด พบผู้ติดเชื้อที่มาจาก กทม.และ ปริมลฑล จากกรณีสถานบันเทิง โดยที่ จ.เชียงใหม่ พบว่ามีตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงมาก จึงถือเป็นพื้นที่เสี่ยง หากประชาชนเห็นว่ามีความเสี่ยงขอให้ไปตรวจอย่างเร่งด่วน
นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยืนยันว่า วัคซีนที่ใช้อยู่ในประเทศไทยขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็น ของซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้า มีประสิทธิภาพป้องกันโรคโควิด-19 ได้ ทั้งสายพันธุ์ดั้งเดิมในประเทศและสายพันธุ์ใหม่จากอังกฤษ ขอให้มั่นใจในประสิทธิภาพวัคซีนที่นำมาใช้ในประเทศไทย
นพ.ยง กล่าวว่า ปัจจุบันเรานำวัคซีนมาใช้ในสภาวะฉุกเฉิน ซึ่งประโยชน์ที่ได้รับนั้น มีมากกว่าความเสี่ยงอันตรายที่เกิดขึ้นจากวัคซีน หากเราต้องการควบคุมโรคนี้ให้ได้ ลดอัตราการเสียชีวิต การนอนโรงพยาบาล ก็จะต้องเดินหน้าฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด
“ทั่วโลกฉีดวัคซีนแล้วกว่า 700 ล้านโดส ประชากรโลกมีประมาณ 7,000 ล้านคน หากต้องการให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ต้องฉีดวัคซีนให้ได้ 70% ของประชากรหรือประมาณ 5,000 ล้านคน ใช้วัคซีน 10,000 ล้านโดส ซึ่งจะใช้เวลาถึง 2 ปี หากทำได้เร็วขึ้นจะใช้เวลา 1 ปี”
นพ.ยง กล่าวว่า ปัจจุบันโรคกำลังระบาดในคนวัยหนุ่มสาว ซึ่งมีอาการของโรคน้อยมาก โอกาสการเสียชีวิตน้อย แต่สิ่งที่เป็นห่วงในช่วงเทศกาลสงกรานต์คือ คือการเฉลิมฉลองเฮฮาต่างๆ เช่น การตั้งวงเหล้า ควรงดทั้งหมด เพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรคไปสู่ผู้อาวุโส ซึ่งอาจสร้างความสูญเสียขึ้นมาได้