ไม่พบผลการค้นหา
'ดูแตร์เต'​ ประกาศเกษียณจากการเมืองหลังดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีครบ 6 ปีตามรัฐธรรมนูญ ศึกชิงตำแหน่งในการเลือกตั้ง พ.ค.2565 เริ่มคึกคัก หลังผู้สมัครมีที่มาอย่างหลากหลายในปีนี้

สถานการณ์การเมืองของประเทศฟิลิปปินส์เริ่มกลับมาเข้มข้นอีกครั้งหลังจากที่ก่อนหน้านี้ 'โรดริโก ดูแตร์เต' ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์วัย 76 ปี ประกาศจะยุติบทบาททางการเมืองและลงจากตำแหน่งผู้นำประเทศเมื่อครบวาระการดำรงตำแหน่ง 1 สมัย หรือ 6 ปี ตามข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญฟิลิปปินส์

แม้การหาเสียงเลือกตั้งสำหรับปี 2565 ยังไม่เริ่มต้นอย่างเป็นทางการ แต่ผู้สมัครเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีรับไม้ต่อจากดูแตร์เตได้สร้างความฮือฮาให้กับสังคมและสื่อจากนานาชาติไม่น้อย เนื่องจากว่าแต่ละคนต่างมีที่มาอันหลากหลาย ทั้งลูกชายของอดีตผู้นำเผด็จการ อดีตนักแสดงดัง แชมป์มวยระดับโลก รองประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ไปจนถึงบุตรสาวของดูแตร์เตเอง โดยสำนักข่าว CNN รายงานว่า พวกเขาได้ยื่นเจตจำนงในการลงสมัครเพื่อชิงตำแหน่งผู้นำฟิลิปปินส์คนต่อไปเกือบครบทุกคนแล้ว

ริชาร์ด เฮดาเรียน ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์และรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโพลีเทคนิกของฟิลิปปินส์กล่าวกับ CNN ว่า ขณะนี้ยังไม่แน่ชัดว่าใครคือ 'ตัวเต็งอันดับหนึ่ง' กันแน่ และศึกครั้งนี้จะเป็นการชิงชัยเพื่อครองตำแหน่งผู้นำฟิลิปปินส์ที่มีการแข่งขันสูงอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการโหวตเพื่อชี้ชะตามีเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ใครที่ได้คะแนนสูงสุดจะได้นั่งตำแหน่งประธานาธิบดีทันที ไม่เกี่ยวด้วยว่าสัดส่วนจะเป็นเท่าใด


ลูกชายอดีตผู้นำเผด็จการ 

'เฟอร์ดินานด์ บองบอง มาร์กอส จูเนียร์' นักการเมืองวัย 64 ปี ซึ่งเป็นลูกชายของอดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ผู้ล่วงลับ 'เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส' ผู้นำเผด็จการที่เคยปกครองฟิลิปปินส์ยาวนานกว่า 2 ทศวรรษครึ่ง ถูกกล่าวหากรณีกักขังและทำร้ายร่างกายประชาชน สร้างความยากจนและความเสื่อมโทรมให้กับประเทศ ก่อนจะถูกประชาชนโค่นล้มได้สำเร็จในปี 2529 จนเขาต้องถูกเนรเทศไปยังสหรัฐอเมริกา 

AFP - เฟอร์ดินานด์ บองบอง มาร์กอส จูเนียร์ ฟิลิปปินส์

จึงเป็นธรรมดาที่การกลับมาของคนในตระกูลมาร์กอสจะได้รับกระแสวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อยโดยเฉพาะจากกลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนที่มองว่าเป็นการไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง ที่ลูกชายของอดีตผู้นำเผด็จการจะลงสมัครชิงตำแหน่งผู้นำประเทศ โดยที่ครอบครัวมีประวัติอันเลวร้ายกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนและการยักยอกเงินร่วม 10,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 3.3 แสนล้านบาทในช่วงเรืองอำนาจ 

อย่างไรก็ตาม AsiaPlus เผยผลโพลชี้ว่า เขาได้รับคะแนนนิยมมาในอันดับที่สอง รองจากบุตรสาวของ 'ดูแตร์เต' ซึ่งมาร์กอสจูเนียร์ยังประกาศด้วยว่า เขาต้องการสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในประเทศ พร้อมขอโอกาสเข้ามารับใช้ประชาชนในการแก้ปัญหาจากวิกฤตโควิด-19 


นักมวยระดับตำนาน

แมนนี ปาเกียว นักมวยสากลอาชีพเจ้าของแชมป์โลก 8 รุ่นคนแรกของโลกวัย 46 ปี ผู้ที่มีฝีมือด้านการชกมวยอันเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลกและประสบการณ์มากกว่า 26 ปีในวงการมวย แต่ในทางการเมืองแล้วดูเหมือนว่าผู้คนยังคงไม่มีความมั่นใจอย่างชัดเจนที่จะมอบความไว้วางใจให้กับเขาในฐานะ 'ผู้นำประเทศ' คนต่อไป แม้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเขาได้ผันตัวเข้ามาสู่วงการการเมือง หลังได้รับเลือกตั้งให้เป็นวุฒิสมาชิกในปี 2559 

จุดแข็งของปาเกียวคือการเป็นตัวแทนของประชาชนกลุ่มรายได้น้อย เขาย้ำมาเสมอว่าเขาเกิดและเติบโตมาอย่าง 'ยากจนสุดๆ' ใช้ชีวิตอย่างปากกัดตีนถีบในสมัยวัยเยาว์ หาเงินเลี้ยงชีพด้วยการขายลูกอมและบุหรี่ในการประทังชีวิต ต่อด้วยการเลี้ยงชีพด้วยการใช้แรงงานช่วงวัยรุ่น ก่อนจะสร้างชื่อและประสบความสำเร็จในฐานะนักมวยอาชีพจนกลายมาเป็นมหาเศรษฐีในที่สุด

AFP - แมนนี ปาเกียว ฟิลิปปินส์

ริชาร์ด เฮดาเรียน ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์และรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโพลีเทคนิกของฟิลิปปินส์มองว่า บทบาทของปาเกียวในฐานะวุฒิสมาชิกไม่มีอะไรโดดเด่นมากนัก และยังคงเป็นคำถามที่ประชาชนต้องการคำตอบว่าเขาเหมาะสมหรือไม่กับตำแหน่งผู้นำ ขณะที่หลายคนก็มองว่านี่คือก้าวที่เร็วเกินไป เพราะแทนที่ปาเกียวจะเลือกชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีก่อน เขาเลือกที่จะกระโจนใส่ตำแหน่งสูงสุดทันที

ปาเกียวเคยได้รับการสนับสนุนจาก 'ดูแตร์เต' โดยเขากล่าวว่ามีความเป็นไปได้ว่าปาเกียวอาจเป็นผู้สืบทอดหลังจากเขาหมดวาระลง แต่ความสัมพันธ์ของทั้งคู่เปลี่ยนไปทันทีหลังจากที่ปาเกียวออกมาวิจารณ์การทำงานของประธานาธิบดีในประเด็นที่ดูแตร์เตนั้นเข้าข้างรัฐบาลจีน พร้อมทั้งกล่าวหารัฐบาลดูแตร์เตว่าใช้งบประมาณราว 200 ล้านดอลลาร์ หรือราว 6,770 ล้านบาทอย่างไม่เหมาะสมต่อประชาชนกลุ่มยากจนของประเทศ 

ขณะเดียวกันปาเกียวก็ได้รับการวิจารณ์อย่างหนักในหลายประเด็น หนึ่งในนั้นคือการที่เขาออกมากล่าวต่อต้านสิทธิการทำแท้งและสิทธิของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ อยู่บ่อยครั้ง และเคยกล่าวต่อสาธารณะในปี 2559 ว่า "คนที่เป็นเกย์เลวร้ายยิ่งกว่าสัตว์"


อดีตดารา-นักแสดง สู่เส้นทางการเมือง

ฟรานซิสโก โดมาโกโซ นายกเทศมนตรีกรุงมะนิลา อดีตนักแสดงที่ใช้ชื่อในวงการขณะนั้นว่า 'อิสโก โมเรโน' เขาเป็นอีกนักการเมืองที่เกิดและเติบโตมาอย่างยากจนในเขตสลัม ก่อนจะได้รับโอกาสในการแสดงภาพยนตร์ และเดินทางเข้าสู่เส้นทางการเมืองซึ่งสามารถดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาของกรุงมะนิลาได้ในวัยเพียง 23 ปีเท่านั้น จนในที่สุดสามารถชนะเลือกตั้งนั่งตำแหน่งรองนายกเทศมนตรีกรุงมะนิลาเมื่อปี 2560 และสามารถคว้าตำแหน่งนายกเทศมนตรีกรุงมะนิลาได้ในปี 2562

AFP -  ฟรานซิสโก โดมาโกโซ นายกเทศมนตรีกรุงมะนิลา ฟิลิปปินส์

หลังการดำรงตำแหน่งสำคัญของกรุงมะนิลาได้เพียงแค่สองปี โดมาโกโซตัดสินใจลงชิงชัยในตำแหน่งสูงสุดของประเทศ ซึ่งเขามีความคล้ายคลึงกับประธานาธิบดีดูแตร์เตอย่างมากในฐานะ 'บุคคลที่เป็นที่นิยมอย่างมาก' แต่สิ่งที่แตกต่างอย่างชัดเจนก็คือแนวทางการทำงานและพฤติกรรมส่วนตัว ศาสตราจารย์ริชาร์ด เฮดาเรียน กล่าวว่า โดมาโกโซ เป็นตัวแทนของ "ความเป็นที่นิยมแบบสุภาพชน" ไม่มีอะไรต้องเสีย รักครอบครัว มีศีลธรรมและวาทศิลป์

The Manila Times รายงานว่า โดมาโกโซมีความตั้งใจที่จะดำเนินนโยบายปราบปรามยาเสพติดที่ยึดตามหลักกฎหมาย เขาต้องการใช้วิธีการที่มีความเป็นมนุษย์ และเขามีความเชื่อมั่นว่าหลักสิทธิมนุษยชนคือพื้นฐานของชีวิต และมนุษย์ทุกคนมีสิธิ์ที่จะปกป้องตัวเองในชั้นศาลก่อนได้รับบทลงโทษ


รองประธานาธิบดีหญิง คู่ปรับเบอร์ 1 ดูแตร์เต

การเลือกตั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์จะเป็นการเลือกตั้งแบบแยกขาดจากกัน และในบางครั้งรองประธานาธิบดีอาจจะมาจากคนละพรรคการเมืองซึ่งมีความเชื่อแบบตรงกันข้ามเลยก็ได้เช่นกัน 

เลนี โรเบรโด รองประธานาธิบดีหญิงของฟิลิปปินส์ ประกาศลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี 2565 เช่นกัน เธอมีแบ็คกราวน์ของการเป็นนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งตลอดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งที่ผ่านมาเธอแสดงการต่อต้านอย่างชัดเจนต่อนโยบาย "สงครามยาเสพติด" ของดูแตร์เตซึ่งเธอวิจารณ์ว่าเป็นวิธีการที่ "บ้าระห่ำและไร้ความรู้สึก" ขณะที่ปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตจากกระบวนการดังกล่าวไปมากกว่า 6,600 ราย ซึ่งมีเด็กรวมอยู่ด้วย

AFP - เลนี โรเบรโด รองประธานาธิบดี ฟิลิปปินส์

โรเบรโดได้รับการชื่นชมมาโดยตลอดในฐานะของผู้ที่อุทิศตนทำงานต่อสู้เพื่อสิทธิของสตรีและกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ อย่างไรก็ตามในปี 2562 ประธานาธิบดีดูแตร์เตได้แต่งตั้งเธอให้ทำหน้าที่ประธานร่วมในหน่วยงานที่ดำเนินนโยบายการปราบปรามยาเสพติดของดูแตร์เต แต่หลังจากนั้นเพียง 3 สัปดาห์ก็ประกาศปลดเธอลงจากตำแหน่งทันที โดยชี้ว่าเธอ แอบจัดประชุมร่วมกับองค์กรต่างประเทศ

โรเบรโดประกาศลงชิงตำแหน่งผู้นำในวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยมีลูกสาวทั้งสองคนยืนข้างกาย เธอกล่าวว่าเธอต้องการสร้างอนาคตที่ผู้คนเข้าถึงโอกาสอย่างเท่าเทียม แม้ขณะนี้คะแนนนิยมของเธออยู่ในลำดับที่ 5 แต่ก็ยังไม่สามารถการันตีอะไรได้ว่าเธอจะไม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง เพราะในการชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีเมื่อ 6 ปีที่ผ่านมา เธอก็สามารถพลิกสถานการณ์เอาชนะคู่แข่งที่น่ากลัวมาได้สำเร็จ


บุตรสาวของดูแตร์เต จะสืบทอดตำแหน่งผู้นำประเทศ?

ซารา ดูแตร์เต-คาร์ปิโอ ลูกสาวคนโตของประธานาธิบดีดูแตร์เต จะลงสมัครชิงตำแหน่งผู้นำประเทศต่อจากพ่อ โดยปัจจุบันเธอดำรงตำแหน่งทางการเมืองในฐานะนายกเทศมนตรีของเมืองดาเบา เมืองใหญ่อันดับ 3 ของประเทศซึ่งเป็นบ้านเกิดของดูแตร์เต 

Reuters ชรายงานว่า ก่อนหน้านี้เธอยืนยันว่าได้ยื่นเอกสารลงสมัครในตำแหน่งนายกเทศมนตรีต่อเรียบร้อยแล้ว และไม่ลงสมัครท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่หมดเขตยื่นเอกสารไปเมื่อวันที่ 8 ต.ค.ที่ผ่านมา แต่ผู้เป็นพ่อได้ออกมากล่าวภายหลังว่าลูกสาวของเขาจะลงสมัครอย่างแน่นอน ซึ่งการที่เธอยื่นสมัครในตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองดาเบาไปแล้ว หมายความว่าซารามีเวลาต่ออีกถึงวันที่ 15 พ.ย.ที่จะเปลี่ยนใจเพื่อลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีตามกฎหมาย ซึ่งนั่นคือวิธีการเดียวกับที่พ่อของเธอได้ทำในปี 2558

AFP - โรดริโก ดูแตร์เต และลูกสาว ซารา ดูแตร์เต-คาร์ปิโอ

แม้จะมีความลังเลเกิดขึ้น และสื่อกำลังให้ความสนใจกับผู้สมัครรายอื่นที่น่าตื่นเต้นไม่น้อย แต่โพลมากมายกลับออกมาว่า ซารา ดูแตร์เต-คาร์ปิโอ ยืนหนึ่งในใจประชาชน

นักวิเคราะห์มองว่าหากซาราลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจริง นี่อาจจจะเป็นอีกหนึ่งหนทางที่ดูแตร์เตจะยังคงมีอิทธิพลต่อประเทศได้ต่อไปเมื่อลูกสาวของตัวเองดำรงตำแหน่งสูงสุดในฐานะผู้นำแม้ว่าเขาจะประกาศเกษียณตัวเองตามรัฐธรรมนูญแล้วก็ตาม 

ขณะที่หลายฝ่ายก็มองว่าหากซาราลงชิงตำแหน่งนี้จริง ยังคงมีความเป็นไปได้ว่าดูแตร์เตจะยังไม่ล้มเลิกความคิดที่จะลงสมัครในฐานะ 'รองประธานาธิบดี' ซึ่งเป็นความตั้งใจแรกของเขาที่ต้องถูกยกเลิกไปก่อนหน้านี้เพราะโดนกระแสตีกลับจากประชาชนที่วิจารณ์ว่านั่นคือหนทางที่ดูแตร์เตจะอยู่ในอำนาจต่อโดยที่ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแค่ 6 ปีเท่านั้น

ไม่ว่าใครจะคว้าชัยในศึกเลือกตั้งครั้งนี้ที่จะมีขึ้นในเดือน พ.ค. 2565 สิ่งที่แน่นอนที่สุดก็คือผู้นำคนใหม่จะต้องเผชิญกับความท้าทายที่ใหญ่หลวงและเลวร้ายยิ่งกว่าในสมัยของ 'โรดริโก ดูแตร์เต' อย่างแน่นอน