ไม่พบผลการค้นหา
'ธีรรัตน์' รมช.มหาดไทย สั่งการ 6 จังหวัดทะเลอันดามัน ทบทวนแผนอพยพ พร้อมพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยแบบเรียลไทม์ ย้ำ ต้องนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องให้ถึงประชาชนอย่างทั่วถึงที่สุด

'ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์' รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมและแถลงข่าวซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิระหว่างหน่วยงานและการสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2568 โดยมี นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายนัฐวุฒิ แดนดี รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาฝ่ายวิชาการ และโฆษกกรมอุตุนิยมวิทยา นายสุเมธ สายทอง รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการจัดการสาธารณภัยศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้ว่าราชการจังหวัด 6 จังหวัดในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุม 1 ปภ. อาคาร 3 ชั้น 5 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

516517665_1106956334868517_2338108649130961298_n.jpg

น.ส.ธีรรัตน์ กล่าวว่า รัฐบาลมีความห่วงใยในความปลอดภัยของประชาชน และนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ตระหนักถึงความกังวลของประชาชนซึ่งเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่นำไปสู่เหตุการณ์ไม่คาดฝัน จึงจำเป็นต้องมีการซักซ้อมและเตรียมความพร้อมในการรับมืออย่างดีที่สุด ซึ่งกระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและมีความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติในสถานการณ์ต่าง ๆ เริ่มตั้งแต่ก่อนเกิดภัยพิบัติ ด้วยการวางมาตรการป้องกัน รวมถึงเตรียมความพร้อมเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ทั้งในด้านเครื่องมือ บุคลากร และงบประมาณ เพื่อช่วยลดความวิตกกังวลของประชาชน โดยคำนึงถึงชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นสำคัญ โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงานเป็นอย่างดี การฝึกซ้อมดำเนินการอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งมีคำสั่งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งดำเนินการเตรียมความพร้อมให้ประชาชนสามารถรับมือกับสถานการณ์ภัยพิบัติได้อย่างสม่ำเสมอ และที่สำคัญคือการสื่อสารข้อมูลให้ประชาชนในแต่ละพื้นที่ได้รับทราบสถานการณ์อย่างชัดเจน ตระหนักรู้ และเข้าใจอย่างถูกต้อง รวมถึงต้องให้ความสำคัญกับประชาชนที่มีการเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง ไม่เพียงเฉพาะใน 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน แต่รวมถึงประเทศอื่น ๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกับการเกิดแผ่นดินไหว เพื่อให้ประชาชนลดความวิตกกังวล และทราบแนวทางในการเตรียมความพร้อมของตนเอง ยกตัวอย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่นที่ประสบเหตุแผ่นดินไหวหลายครั้งในวันที่ผ่านมา ดังนั้น การรับรู้ข้อมูลที่ถูกต้องจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการให้ประชาชนได้รับทราบข้อเท็จจริง และสิ่งที่ต้องย้ำคือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรนำเสนอข้อมูลเหล่านี้ให้ถึงมือประชาชนอย่างทั่วถึงที่สุด

515908438_1106956404868510_2551636825351392010_n.jpg

ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันทั้ง 6 จังหวัด กำกับดูแลการปฏิบัติงานของส่วนราชการภายในจังหวัดให้มีความพร้อมในการรับมือกรณีเกิดเหตุสึนามิ ทั้งในด้านบุคลากร ทรัพยากร เครื่องจักร เครื่องมือ เส้นทางอพยพ ศูนย์พักพิง รวมถึงงบประมาณที่จำเป็น รวมทั้งสั่งการให้ทุกหน่วยงานในจังหวัด และขอความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยสึนามิ จัดให้มีการซักซ้อมการปฏิบัติกรณีเกิดเหตุสึนามิอย่างสม่ำเสมอ และให้ดำเนินการปรับปรุงป้ายบอกเส้นทางอพยพให้เป็นปัจจุบันและชัดเจนที่สุด และขอให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ดำเนินการติดตาม เฝ้าระวัง และแจ้งเตือนภัยแผ่นดินไหวและสึนามิตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งตรวจสอบความพร้อมของอุปกรณ์เตือนภัยให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และหากอุปกรณ์ใดชำรุดเสียหาย ให้ดำเนินการบำรุงรักษาและซ่อมแซมให้สามารถใช้งานได้ตามปกติโดยเร่งด่วน” น.ส.ธีรรัตน์ กล่าว

น.ส.ธีรรัตน์ ยังได้สั่งการให้กรมโยธาธิการและผังเมือง บูรณาการความร่วมมือกับกรมประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างการรับรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการสำรวจและประเมินความมั่นคงแข็งแรงของอาคารต่าง ๆ ให้มีความพร้อมในการรองรับการอยู่อาศัยของประชาชนอย่างปลอดภัย นอกจากนี้ ขอให้กรมประชาสัมพันธ์และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับแผ่นดินไหวและสึนามิอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นใจในความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยสึนามิ

“ภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหยุดยั้งได้ แต่ภารกิจที่สามารถดำเนินการได้คือการลดความสูญเสียให้น้อยที่สุด สิ่งสำคัญคือความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการสร้างการรับรู้ร่วมกันอย่างถูกต้อง ปัจจุบันสิ่งที่ประชาชนสามารถมั่นใจได้คือ เครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จัดเตรียมไว้มีความพร้อมใช้งาน 100% ทั้งนี้ เรามีความพร้อมในการร่วมสนับสนุนให้ภารกิจครั้งนี้สำเร็จลุล่วงและสมบูรณ์ ตามที่รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นหน่วยงานหลักในการรับผิดชอบ และขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ได้ร่วมมือกันอย่างเต็มที่ ทำให้ภารกิจสามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป้าหมายสำคัญ คือการลดความสูญเสีย และเพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัยในการดำรงชีวิตอย่างสูงสุด” น.ส.ธีรรัตน์ กล่าวในช่วงท้าย

516052322_1106956364868514_2572157686713181085_n.jpg

นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ มีมาตรฐานในระดับสากลในการแจ้งเตือนภัย โดยมีภาคีเครือข่ายจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรธรณี และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง โดยรับข้อมูลจากหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น USGS และ Tsunami Service Provider ของประเทศอินเดีย ออสเตรเลีย และอินโดนีเซีย นอกจากนี้ ยังมีเครื่องตรวจวัดสึนามิ และระบบบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงการฝึกซ้อมการบริหารวิกฤตการณ์ระดับชาติด้านสาธารณภัย ประจำปี 2568 (C-MEX 25) ร่วมกับ 6 จังหวัดชายฝั่งอันดามัน เพื่อทบทวนแผนเผชิญเหตุของแต่ละจังหวัดในกรณีเกิดภัยสึนามิ และเพื่อให้สามารถอพยพประชาชนไปยังพื้นที่ปลอดภัยได้ภายในระยะเวลาที่จำกัด จึงขอให้ประชาชนมั่นใจในความพร้อมของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งดำเนินการเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยพิบัติในทุกขนาดและทุกประเภท รวมถึงภัยจากแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิอย่างต่อเนื่อง

นายนัฐวุฒิ แดนดี รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาฝ่ายวิชาการ และโฆษกกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวได้กล่าวถึงข้อมูลข้อเท็จจริงการเกิดแผ่นดินไหวบริเวณหมู่เกาะนิโคบาร์ สาธารณรัฐอินเดีย และแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นบริเวณประเทศญี่ปุ่นและผลกระทบต่อประเทศไทยว่า สำหรับเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น กรมอุตุนิยมวิทยาสามารถตรวจวัดข้อมูลแผ่นดินไหวทั่วโลกได้ โดยปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมงตามมาตรฐานสากล พร้อมด้วยซอฟต์แวร์และฟังก์ชันต่าง ๆ ที่ใช้ในการวิเคราะห์เหตุการณ์แผ่นดินไหวตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อตรวจสอบว่าเหตุการณ์นั้นมีโอกาสก่อให้เกิดสึนามิหรือไม่ ทั้งนี้ มีการบูรณาการข้อมูลร่วมกับหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ เช่น กรมทรัพยากรธรณี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และกรมชลประทาน เพื่อให้สามารถรายงานข้อมูลแบบเรียลไทม์ สำหรับเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นบริเวณหมู่เกาะอันดามัน เป็นแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในลักษณะแนวระนาบ จึงไม่มีคลื่นสึนามิเกิดขึ้น เช่นเดียวกับกรณีแผ่นดินไหวที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเนื่องจากระยะทางห่างไกล จึงไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย

517232587_1106956774868473_8706439845770393555_n.jpg

ด้าน นายสุเมธ สายทอง รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ได้กล่าวข้อมูลรอยเลื่อนแผ่นดินไหวทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทยที่อาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทย ว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 24 มิถุนายน ถึง 14 กรกฎาคม จัดอยู่ในลักษณะกลุ่มแผ่นดินไหว (Earthquake swarm) ซึ่งมีขนาดประมาณ 3.2–4.9 ตามมาตราริกเตอร์ และเกิดขึ้นรวมทั้งสิ้น 114 ครั้ง โดยเหตุการณ์ในทะเลอันดามัน บริเวณด้านตะวันออกของหมู่เกาะนิโคบาร์ เกิดขึ้นในตำแหน่งที่สัมพันธ์กับรอยเลื่อนแบบระนาบ อยู่ทางด้านตะวันออกของเกาะนิโคบาร์ ซึ่งเป็นรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกที่มีลักษณะการเคลื่อนที่เฉือนกันในแนวระนาบภายในเปลือกโลก เนื่องจากแผ่นดินไหวมีขนาดไม่เกิน 7.5 ริกเตอร์ จึงไม่ส่งผลให้เกิดคลื่นสึนามิ อีกทั้งจุดที่เกิดเหตุยังอยู่ห่างจากจังหวัดพังงาประมาณ 450 กิโลเมตร และห่างจากภูเขาไฟใต้ทะเลประมาณ 100 กิโลเมตร ซึ่งจากการยืนยันของผู้เชี่ยวชาญศูนย์ธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี พบว่า เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย และไม่ส่งผลให้เกิดคลื่นสึนามิ เนื่องจากเป็นแผ่นดินไหวขนาดค่อนข้างเล็ก และมีต้นเหตุจากการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนในแนวระนาบ ซึ่งไม่มีการยุบตัวของมวลน้ำ รวมถึงไม่มีรอยยุบในพื้นที่อ่าวไทยที่อาจก่อให้เกิดสึนามิได้

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการจัดการสาธารณภัยศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวถึงแนวทางการเตรียมพร้อมและการรีบมือแผ่นดินไหวว่า ประเทศไทยมีความพร้อมในด้านระบบเตือนภัยที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยมีทุ่นเตือนภัยในน้ำลึกจำนวน 2 ทุ่น และระบบการประเมินคลื่นสึนามิโดยอ้างอิงจากฐานข้อมูล ซึ่งเป็นระบบล่าสุด และถือเป็นระบบแรกของประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีการนำระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Broadcast) มาใช้เป็นครั้งแรกในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชีย ในประเด็นข้อกังวลเกี่ยวกับแผ่นดินไหว ได้มีการประเมินความรุนแรงของแผ่นดินไหวที่อาจเกิดขึ้นในอ่าวไทย โดยในกรณีสถานการณ์เลวร้ายที่สุด คาดว่าคลื่นจะสูงขึ้นประมาณ 40% ซึ่งหมายถึงผลกระทบต่อประชาชนมีเพียงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม แม้เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นจะเป็นเหตุการณ์ที่มีรอบความถี่ประมาณ 400–600 ปี แต่ประชาชนไม่ควรตระหนก ควรมีความตระหนัก เนื่องจากแผ่นดินไหวสามารถก่อให้เกิดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ความตระหนักจึงเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด