ปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก ระบุถึงปฏิบัติการทวงคืนผืนป่า ภายใต้นโยบาลรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วยคำสั่ง คสช. ที่ 64 และ 66/2557 มีชาวบ้านถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 46,000 คดี
แกนนำคณะก้าวหน้า ระบุว่า ต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ศาลฎีกาอ่านคำพิพากษา กรณี สมพิตร แท่นนอก และ นริสรา ม่วงกลาง 2 ใน 14 ชาวบ้านพื้นที่บ้านซับหวาย จ.ชัยภูมิ ซึ่งถูกตั้งข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนอุทยานแห่งชาติไทรทอง โดยศาลฎีกามีคำพิพากษาให้ สมพิตร แท่นนอก ต้องถูกจำคุกเป็นเวลา 20 เดือน 20 วัน และปรับเป็นเงิน 200,000 บาท ส่วน นริสรา ม่วงกลาง ถูกพิพากษาจำคุก 9 เดือน 10 วัน โดยให้รอลงอาญา 3 ปี ยืนตามคำพิพากษาของศาลอุธรณ์
"พ่อสมพิตร เคยต้องติดคุกมาแล้วในปี 2562 ก่อนจะได้รับประกันตัวออกมาสู้คดีในชั้นศาลฎีกา เพื่อทวงคืนสิทธิในที่ดินทำกินเช่นเดียวกับประชาชนคนอื่นๆ ในชุมชน สุดท้ายต้องถูกตัดสินจำคุกอีกครั้ง ในขณะที่ภรรยาของพ่อสมพิตรล้มป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย อาการหนักจนไม่สามารถเดินทางมาฟังคำพิพากษาพร้อมกับพ่อสมพิตรได้ และในวันนั้นพ่อสมพิตรก็ต้องเข้าเรือนจำทั้งที่ยังไม่ได้บอกลาภรรยา"
วันนี้ผมรู้สึกเศร้าใจเป็นอย่างมากที่ทราบข่าวว่า แม่สุเนตร์ แท่นนอก ภรรยาของพ่อสมพิตรเสียชีวิต เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ที่ผ่านมา ทั้งสองไม่ได้มีโอกาสได้พบหน้ากันในวาระสุดท้ายของชีวิต แทนที่พ่อสมพิตรจะได้อยู่ดูแลแม่สุเนตร์ กลับต้องถูกจองจำตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาตัดสินว่ามีความผิดฐาน “ข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนอุทยานแห่งชาติไทรทอง”
กรณีนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดิน กระบวนการยุติธรรมที่บิดเบี้ยว และสิทธิชุมชนที่รัฐไม่เหลียวแล ปัญหาป่ากับที่ดินทำกิน ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ใน จ.ชัยภูมิ หากแต่เป็นปัญหาที่ยื้ดเยื้อยาวนานหลายทศวรรษและเกิดขึ้นในหลายจังหวัดทั่วประเทศไทย ไม่ต่างจากกรณีของ พ่อเด่น-แม่สุภาพ คำแหล้ พี่น้องชาวคอนสาน จ.ชัยภูมิ, คำป่าหลาย จ.มุกดาหาร, ชุมชนสันติพัฒนา จ.สุราษฎร์ธานี, ชุมชนคลองไทร จ.สุราษฎร์ธานี ฯลฯ
สำหรับกรณีไทรทอง ชาวบ้านตั้งถิ่นฐานอาศัยในพื้นที่บ้านซับหวายมาก่อน อยู่ๆ วันหนึ่งรัฐส่วนกลางก็มีการประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตอุทยานแห่งชาติไทรทองในปี 2535 จนเกิดเป็นข้อพิพาท #ป่าทับที่คน คนอาศัยทำกินอยู่ดีๆ แต่เมื่อถูกประกาศเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ก็กลายเป็นผู้บุกรุก เป็นอาชญากรไปในพริบตา
หลังการรัฐประหาร 2557 คณะรัฐประหารมีนโยบายทวงคืนผืนป่า โดยออกคำสั่ง คสช. ที่ 64 และ 66/2557 ถือเป็นฝันร้ายของชาวบ้าน เมื่ออำนาจเผด็จการเปิดไฟเขียวให้ทหารและเจ้าหน้าที่รัฐใช้มาตรการต่างๆ ยึดพื้นที่คืนจากชาวบ้านประชาชนหลายแห่งทั่วประเทศ ประชาชนถูกข่มขู่ คุกคาม และถูกหลอกให้เซ็นเอกสารเพื่อส่งมอบที่ดินทำกินให้กับหน่วยงานรัฐ
ชาวบ้านที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมไม่ยอมย้ายออกจากที่ดินทำกินของตนเองถูกดำเนินคดี ขึ้นโรงขึ้นศาล ถูกตัดสินทั้งโทษจำคุกและปรับหลายล้านบาท แท้จริงแล้ว ที่ดินคือปัจจัยพื้นฐานในการผลิต เป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตที่ดินคือชีวิตของเกษตรกร
เมื่อที่ดินเป็นทั้งปัจจัยการผลิตและปัจจัยพื้นฐานของชีวิต ดังนั้นที่ดินจึงไม่ควรถูกออกแบบให้กลายเป็นสินค้าหรือวัตถุที่เอาไว้สำหรับเก็งกำไร เพื่อให้คนมั่งมีเก็บเอาไว้เป็นจำนวนมหาศาล ไม่ควรมีกองทัพ ส่วนราชการรัฐวิสาหกิจ จำนวนมากถือที่ดินจำนวนมหาศาลเก็บเอาไว้ไม่ได้ทำอะไร ประชาชนเข้าไปยุ่งเกี่ยวไม่ได้
ขณะที่มีเศรษฐีจำนวนมากที่มีที่ดินมากสุดลูกหูลูกตา แค่มีเงินก็ไปกว้านซื้อได้ แต่พี่น้องประชาชนที่ต้องอาศัยที่ดินเป็นปัจจัยการผลิต ลำบากยากเย็นแสนเข็ญเหลือเกิน ต้องต่อสู้ดิ้นรน อยู่มาก่อน วันหนึ่งพอมีกฎหมายออกมา ก็ต้องกลายเป็นอาชญากรในสายตาของรัฐ ถูกดำเนินดคีจับเข้าคุก คุกคามสารพัด
การแก้ปัญหาด้วยการใช้กฎหมาย จับประชาชนติดคุก และใช้กำลังเจ้าหน้าที่เข้าไล่รื้อ ไม่ใช่ทางออกของการแก้ปัญหาที่ดิน หากจะหาทางแก้ไขกันอย่างจริงจัง ต้องเริ่มจากการยุติการดำเนินคดีกับชาวบ้านทั้งหมดก่อน จากนั้นต้องมีการหาวิธีการจัดการที่ดินแบบใหม่ คือ นำแนวคิดเรื่องการจัดการทรัพย์สินร่วมกัน (Common Property) จัดการที่ดินแบบสมบัติร่วม จัดการโดยชุมชนไม่มีใครคนใดคนหนึ่งเป็นเจ้าของ ไม่ว่ารัฐหรือเอกชน ให้ทุกคนใช้ประโยชน์ร่วมกัน อีกทั้งจะต้องทำการปฏิรูปที่ดินโดยเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า และตั้งธนาคารที่ดินเพื่อไม่ให้มีนายทุนถือครองที่ดินจำนวนมาก ในขณะที่พี่น้องประชาชนไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตขั้นพื้นฐานต้องไม่มีประชาชนคนไหน ต้องติดคุกเพราะบุกรุกที่ป่าอีก อย่าให้คดีป่าทับที่คนเป็นโศกนาฏกรรมของคนจน