ไม่พบผลการค้นหา
'วอยซ์' คุยกับสองนักรัฐศาสตร์ ถึงนิยามความหมายของคำว่าชาติที่ถูกใช้โดยรัฐบาล เพื่อตอบคำถามถึงการ "รวมไทยสร้างชาติ" ว่าจะแก้ปัญหาการระบาดของโควิด และการระบาดของความเหลื่อมล้ำได้อย่างไร

หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี 5 ม.ค. 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนถึงกรณีการบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด–19

ใจความสำคัญที่ พล.อ.ประยุทธ์ สื่อออกมาคือการฝ่าฟันวิกฤตโรคระบาดของรัฐบาล โดยการหลอมรวมความเป็นชาติให้เป็นหนึ่งเดียว และเรียกร้องต่อประชาชนให้เรียนรู้ที่จะอยู่กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น อย่างมีความรับผิดชอบ และมีความซื่อสัตย์ต่อตัวเอง โดยขอให้ประชาชนเดินตามแนวทาง "รวมไทยสร้างชาติ รวมต้านโควิด–19"

ดูเหมือนในยามวิกฤต คำว่า 'ชาติ' มักถูกนำมาใช้ควบคู่ไปกับการเรียกร้องต่อประชาชนเสมอ ก่อนหน้านี้อาจจะคุ้นหูที่คำว่า "อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ"

'วอยซ์' คุยกับสองนักรัฐศาสตร์ ถึงนิยามความหมายของคำว่าชาติที่ถูกใช้โดยรัฐบาล เพื่อตอบคำถามถึงการ "รวมไทยสร้างชาติ" ว่าจะแก้ปัญหาการระบาดของโควิด และการระบาดของความเหลื่อมล้ำได้อย่างไร


'ชนชั้น' คือสิ่งที่ยึดโยงผู้คน ไม่ใช่ ‘ชาติ’

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงแนวทางรวมไทยสร้างชาติ ร่วมต้านโควิด-19 ของรัฐบาลประยุทธ์ โดยชี้ให้เห็นถึงความหมายของคำว่า ‘ชาติ’ ว่า เป็นคำที่ถูกสร้างขึ้นโดยชนชั้นนำมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เป็นคำที่มีความมุ่งหมายที่จะสลายการต่อสู้ ทำให้คนรู้สึกเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน ทำให้ไพร่สามารถออกไปรบและตายแทนเจ้าได้

ส่วนในยุคสมัยใหม่ ‘ชาติ’ ถูกใช้เพื่อแบ่งคนที่อยู่ในชนชั้นเดียวกันออกจากกัน เช่น ผู้ใช้แรงงานก็ถูกออกจากการด้วยคำว่าชาติหรือชาติพันธุ์

ษัษฐรัมย์ กล่าวต่อว่า ในปัจจุบันชาติถูกใช้ในความหมายที่ว่า ทำให้คนรู้สึกว่ามีชะตากรรมเดียวกัน ทำให้เราอุ่นใจ มีความหวังแบบเดียวกัน เวลาที่เราเห็นโฆษณาเพลงชาติก็ดี หรือการโฆษณาจากรัฐบาลที่เน้นย้ำความเป็นคนชาติเดียวกัน ซึ่งชนชั้นปกครองจะใช้ชาติในความหมายแบบนี้เสมอ

แต่ถามว่าจะสามารถใช้ได้สำเร็จได้มากน้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะสำคัญของความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในประเทศนั้น รวมทั้งความโกรธแค้น ความไม่พอใจของคนในสังคม หากความไม่พอใจของผู้คนมีมาก ชาติก็ไม่สามารถใช้ในความหมายนี้ได้

“คุณบอกเราเป็นชาติเดียวกัน แต่ในความเป็นจริง ลูกของเจ้าสัวธุรกิจหมื่นล้านกับลูกของผู้ใช้แรงงาน ไม่ได้อยู่ภายใต้ชะตากรรมเดียวกัน” ษัษฐรัมย์ กล่าวและว่า ในสภาพปัจจุบัน ชาติไม่ได้อยู่ในสถานะของเครื่องมือที่ทำให้คนรู้สึกว่าอยู่ในสภาพเดียวกัน และไม่สามารถเรียกร้องให้ใครต้องยอมเสียสละเพื่อชาติได้อีกแล้ว คำว่าชาติจึงเป็นคำที่เก่าและไม่สามารถยึดโยงผู้คนเอาไว้ได้ แต่สิ่งที่ยึดโยงผู้คนเอาไว้ได้มากกว่าคำว่าชาติ คือคำว่า "ชนชั้น"

"แทนที่จะคิดเรื่องการเสียสละเพื่อชาติ ควรกลับมาคิดว่าชนชั้นอย่างเรา ได้อะไรตอบแทนจากการสร้างความมั่งคั่งให้ประเทศนี้บ้าง" ษัษฐรัมย์ กล่าวและอธิบายต่อว่า แม้คำว่าชนชั้นจะไม่ได้เป็นคำที่มีลักษณะหลอมรวมคนให้เป็นพวกเดียวกัน แต่เป็นคำที่ชี้ให้เห็นถึงผู้คนที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขทางเศรษฐกิจแบบเดียวกัน เช่น ผู้ใช้แรงงาน พนักงานออฟฟิศ ฟรีแลนซ์ แรงงานนอกระบบ หรือ ผู้ประกอบการรายย่อย ก็ถือว่าอยู่ภายใต้ชนชั้นเดียวกันคือ ชนชั้นของผู้ถูกกดขี่ เป็นกลุ่มคนที่ทำงานหนักแต่ไม่ได้รับผลประโยชน์อะไรจากประเทศ และสังคมกลับมาเลย

“ผมอยากให้กลับมาคิดถึงคำว่าชนชั้นมากกว่า และตั้งคำถามกลับไปว่า คนอย่างพวกเรา ชนชั้นอย่างพวกเราได้อะไรบ้างจากประเทศนี้ และเราควรจะต่อสู้อย่างไรเพื่อชนชั้นเรา ในอดีตที่ผ่านในหลายประเทศ เคยมีชนชั้นผู้ใช้แรงงานออกมารวมตัวกันต่อสู้ให้เกิดรัฐสวัสดิการขึ้นมา และรัฐสวัสดิการนี้เองก็กลายเป็นสิ่งที่ผสานผู้คนในสังคมให้รู้สึกว่าตัวเองได้รับการดูแล” ษัษฐรัมย์ กล่าว

ษัษฐรัมย์ กล่าวถึงการบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ของรัฐบาลในเวลานี้ด้วยว่า กำลังสร้างความไม่พอใจให้คนจำนวนมาก และความเชื่อมั่นในตัวรัฐบาลก็ลดลงไปเรื่อยๆ และเมื่อความเหลื่อมล้ำในสังคมขยายเพิ่มมากขึ้น ก็อาจจะไปสู่จุดที่ไม่อาจคาดเดาได้


ชาติของชนชั้นนำ ไม่ใช่ชาติของประชาชน

ขณะที่ อาทิตย์ ทองอินทร์ อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ให้ความเห็นว่า การพูดเรื่อง รวมไทยสร้างชาติ ของพล.อ.ประยุทธ์ เป็นอุดมการณ์ชาตินิยมของชนชั้นปกครอง ไม่ใช่ชาตินิยมที่ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ

เขาชี้ให้เห็นว่า การใช้แนวทางทางรวมไทยสร้างชาติ เพื่อต้านการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยการเรียกร้องให้ประชาชนเสียสละนั้น จะประสบความสำเร็จหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับบทบาทและหน้าที่ของรัฐบาลที่จะแสดงความเชื่อมั่นต่อประชาชนได้มากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะการจัดการกับปัญหาการแพร่ระบาดทั้งสองรอบนั้น สะท้อนให้เห็นปัญหาที่ถูกซุกซ่อนไว้ใต้พรม

เขายกตัวอย่าง เช่น การคอร์รัปชันตามแนวชายแดน รวมถึงผู้มีอิทธิพลเปิดบ่อนการพนัน ซึ่งทั้งสองกรณีมีความเกี่ยวข้องกับการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น ทำให้ผู้คนในสังคมเกิดข้อกังขา เพราะยังไม่มีใครถูกเอาผิดดำเนินคดีจากแพร่ระบาดจนถึงปัจจุบัน

นักรัฐศาสตร์มองอีกปัญหาสำคัญของการรวมชาติคือ โครงสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สืบเนื่องจากการบริหารจัดการของรัฐบาล มักจะนำทรัพยากรเอื้อประโยชน์ให้คนบางกลุ่ม ปฏิบัติหลายมาตรฐาน อาทิ การบริหารจัดการในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ การปิดตลาดนัด แต่ไม่ปิดห้างสรรพสินค้า ทำให้คนในสังคมตั้งคำถามว่า โควิด-19 เลือกติดเฉพาะคนจนหรือไม่ รวมถึงการอนุญาตให้บางสถานที่จัดงานเคาท์ดาวน์ แต่งานคอนเสิร์ตบางงานกลับจัดไม่ได้ นี่คือสิ่งสะท้อนว่ารัฐกำลังสร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคม และเชื่อว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะสั่นคลอนการบริหารมีผลต่อปกครองอย่างแน่นอน

"ภัยคุกคามในรูปแบบโรคระบาด ประชาชนรับรู้ได้ว่าต้องเสียสละ แต่พวกเขาก็สงสัยเช่นกันว่าการเลือกปฏิบัติของรัฐบาลยุติธรรมแค่ไหน ดังนั้นหากต้องการสร้างความเชื่อมั่น รัฐบาลต้องใช้กลไกทางกฎหมายตรวจสอบข้อครหาที่ซุกอยู่ใต้พรมให้โปร่งใสต่อประชาชน" อาทิตย์ กล่าวทิ้งท้าย


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง