ไม่พบผลการค้นหา
มติ กสทช. เอาผิด รายการ “VOICE GO” นำเสนอข่าวกิจกรรมการชุมนุม ชี้กระทบความมั่นคงของรัฐและความสงบเรียบร้อย สั่งปรับ 5 หมื่น ด้านเสียงข้างน้อยมองนำเสนอข้อเท็จจริง-สุจริต แนะอย่าเลือกปฏิบัติ

การประชุมของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 64 มีการพิจารณาหลายประเด็น 

หนึ่งในนั้นคือระเบียบการประชุมที่ 5.1.16 ข้อร้องเรียนกรณีตรวจสอบพบการออกอากาศรายการ “VOICE GO” เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 64 ทางกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ แบบบอกรับสมาชิก ระบบดาวเทียม ช่องรายการ Video To Home 9 อาจมีเนื้อหาไม่เหมาะสม


ปรับ 5 หมื่น เนื้อหากระทบมั่นคงรัฐ

มติที่ประชุมเสียงข้างมาก ประกอบไปด้วย พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร ทำหน้าที่ประธาน กสทช., พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์, พล.ท.ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ, รศ.ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ และ ผศ.ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ เห็นชอบให้กำหนดโทษปรับทางปกครองแก่บริษัท เอ็มวีทีวี บรอดคาสติ้ง จำกัด ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์เพื่อให้บริการโทรทัศน์สำหรับกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ แบบบอกรับสมาชิก ระบบดาวเทียม ช่องรายการ Video To Home 9 เป็นเงินจำนวน 50,000 บาท

โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 59 (3) ประกอบมาตรา 57 (2) แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 เนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงว่าการออกอากาศรายการ “VOICE GO” เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2564 ทางกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ แบบบอกรับสมาชิก ระบบดาวเทียม ช่องรายการ Video To Home 9 (V2H9) เข้าข่ายเป็นเนื้อหาสาระที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐและความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน อันเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน

1.jpg


เสียงข้างน้อยไม่เห็นด้วย
มองนำเสนอข้อเท็จจริง-สุจริต

ในขณะเดียวกัน ที่ประชุมเสียงข้างน้อย ได้แก่ ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ได้ขอสงวนความเห็นในวาระนี้ โดยมีข้อคิดเห็นที่แตกต่างจากมติที่ประชุมในเรื่องของการกำหนดค่าปรับ แต่อาจเป็นการขอความร่วมมือให้ระมัดระวังเนื้อหารายการก็เพียงพอแล้ว ทั้งนี้ด้วยเหตุผลดังนี้

1. การพิจารณาว่า การที่ช่องรายการ Video To Home นำเนื้อหารายการ Voice Go มาออกอากาศ หัวข้อ “อยู่หยุดขัง จนกว่าจะ #ปล่อยเพื่อนเรา” “หวัง ตุลาการ ไม่รับใบสั่ง เคารพสิทธิมนุษยชน” และ “ผูกโบว์ขาว เรียกสำนัก–คืนความยุติธรรม” เป็นความผิดตามมาตรา 37 พ.ร.บ. การประกอบกิจการฯ เนื่องจากเข้าข่ายเนื้อหาที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐและความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน อาจต้องชั่งน้ำหนักให้ดีกับประเด็นเรื่องเสรีภาพสื่อ

เนื่องจากในกรณีนี้พบว่านักข่าวเพียงไปสัมภาษณ์ผู้ชุมนุมถึงความเห็น วัตถุประสงค์ และเหตุผลที่ออกมาชุมนุม ซึ่งเป็นการนำเสนอข้อเท็จจริงตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ในแง่มุมของสื่อสารมวลชนจึงถือได้ว่าเป็นการทำหน้าสื่อโดยสุจริต ไม่ใช่การที่นักข่าวหรือผู้ดำเนินรายการเป็นผู้ให้ความเห็นต่างๆ เหล่านี้เอง อีกทั้งเมื่อพิจารณาข้อความที่คณะอนุกรรมการด้านผังรายการฯ เห็นว่าเข้าข่ายความผิด เช่น “…กิจกรรมนี้มีจุดประสงค์ที่จะปลุกต่อมมโนสำนึกของศาลให้คำนึงถึงหลักกฎหมายบ้าง คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนบ้าง…” “…ให้ศาลเห็นหัวประชาชนบ้าง…” “ให้ตุลาการยึดหลักสิทธิมนุษยชน ยึดหลักความยุติธรรม ยึดหลักการทางกฎหมาย อย่าดำเนินตามใบสั่ง…” โดยส่วนตัวเห็นว่า เนื้อหาเหล่านั้นเป็นเพียงข้อเรียกร้อง มิใช่ข้อกล่าวหาแต่อย่างใด

อีกทั้งสำนักงาน กสทช. ยังไม่ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าจากการนำเสนอเนื้อหาดังกล่าวได้ก่อให้เกิดการฟ้องร้องหรือดำเนินคดีว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาลหรือหมิ่นศาลหรือไม่ ซึ่งถ้ามีก็อาจจะเข้าองค์ประกอบความผิดดังกล่าว แต่ถ้าไม่มีก็คงไม่เหมาะสมที่ กสทช. จะด่วนตัดสินเอง

2. กรณีนี้ไม่พบว่ามีการระบุว่ามีผู้ร้องเรียน โดยในส่วนเนื้อหาวาระระบุว่าเป็นการตรวจสอบพบโดยสำนักงาน กสทช. จึงมีประเด็นว่าสำนักงาน กสทช. ได้ตรวจสอบช่องรายการอื่นๆ ที่มีการนำเสนอข่าวเหตุการณ์นี้ด้วยหรือไม่ ว่ามีการนำเสนอคำพูดของผู้ชุมนุมในลักษณะเดียวกันนี้หรือไม่ ทั้งนี้เพื่อไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ

นอกจากนี้มีความเห็นเพิ่มเติมว่า การกำกับดูแลด้านเนื้อหารายการท่ามกลางสถานการณ์ที่สังคมมีความขัดแย้งฝังรากลึก กสทช. ควรมีความระมัดระวัง ไม่นำพาองค์กรไปเล่นงานหรือจัดการผู้ที่มีความเห็นต่างหรือผู้ที่นำเสนอความเห็นต่าง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใด แต่ควรจะต้องกำกับดูแลอย่างมีมาตรฐาน โดยคำนึงถึงหลักวิชาชีพด้านสื่อสารมวลชนเป็นสำคัญ อีกทั้งควรมุ่งจัดการกับกรณีรายการหรือช่องรายการที่มีเจตนานำเสนอเนื้อหาอันเป็นเท็จหรือแต่งข่าวเพื่อสร้างความเกลียดชังมากกว่า


โฆษณาเกินเวลา ขู่ปรับ V2H9 อีก 1 ล้าน

การพิจารณาระเบียบการประชุมที่ 5.1.17 กรณีบริษัท เอ็มวีทีวี บรอดคาสติ้ง จำกัด ช่องรายการ Video To Home 9 (V2H9) มีการออกอากาศรายการโดยมีการโฆษณาบริการหรือสินค้าที่อาจเข้าข่ายเป็นการโฆษณาเกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด 

โดยเห็นชอบตามผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของ กสทช. ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ตามเอกสารที่สำนักงาน กสทช. เสนอ ดังนี้

1. มอบหมายให้สำนักงาน กสทช. มีคำสั่งเตือนทางปกครองให้บริษัท เอ็มวีทีวี บรอดคาสติ้ง จำกัด ช่องรายการ Video To Home 9 ระงับการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ โดยยุติการโฆษณาบริการหรือสินค้าเกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือบ่อยครั้งที่เป็นผลให้ผู้บริโภครับชมรายการอย่างไม่ต่อเนื่อง เนื่องจากบริษัท เอ็มวีทีวี บรอดคาสติ้ง จำกัด ช่องรายการ Video To Home 9 เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2564 ช่วงระหว่างเวลา 11.00 – 12.00 น. มีระยะเวลาโฆษณารวมทั้งสิ้น 06.44 นาที และช่วงเวลา 12.00-13.00 น. มีระยะเวลาโฆษณารวมทั้งสิ้น 07.37 นาที

ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการโฆษณาบริการหรือสินค้าเกินชั่วโมงละ 6 นาที อันเป็นการกระทำความผิดตามข้อ 5 (8) ของประกาศ กสทช. เรื่อง การกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2555 โดยทันทีที่ได้รับหนังสือแจ้ง หากบริษัท เอ็มวีทีวี บรอดคาสติ้ง จำกัด ช่องรายการ Video To Home 9 ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว กสทช. จะกำหนดโทษปรับทางปกครองเป็นเงิน 1,000,000 บาท และปรับอีกวันละ 50,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ยังไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง

2.jpg

2. มอบหมายให้สำนักงาน กสทช. มีหนังสือแจ้งบริษัท พีเอสไอ บรอดคาสติ้ง จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์เพื่อให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ ดำเนินการติดตามและกำกับดูแลมิให้บริษัท เอ็มวีทีวี บรอดคาสติ้ง จำกัด ช่องรายการ Video To Home 9 กระทำการอันเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคด้วยการออกอากาศรายการโดยมีการโฆษณาบริการหรือสินค้าเกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือบ่อยครั้งที่เป็นผลให้ผู้บริโภครับชมรายการอย่างไม่ต่อเนื่อง

ซึ่งหากช่องรายการ Video To Home 9 มีการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคอีก กสทช. จะมีคำสั่งให้บริษัท พีเอสไอ บรอดคาสติ้ง จำกัด ระงับการนำเอาบริการโทรทัศน์ของช่องรายการ Video To Home 9 นั้นไปเผยแพร่ผ่านโครงข่ายดังกล่าวต่อไป


V2H9 เจอคดีเก่า อีก 5 แสน

นอกจากนี้ยังมี ระเบียบการประชุมที่ 5.1.20 กรณีบริษัท เอ็มวีทีวี บรอดคาสติ้ง จำกัด ช่องรายการ Video To Home 9 โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เข้าข่ายการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และอาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งให้ระงับการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์

โดยมติที่ประชุม เห็นชอบตามผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของ กสทช. ดังนี้

1. มอบหมายให้สำนักงาน กสทช. มีคำสั่งปรับทางปกครองต่อ เอ็มวีทีวี บรอดคาสติ้ง ช่องรายการ Video To Home 9 เป็นจำนวนเงิน 500,000 บาท กรณีเอ็มวีทีวี บรอดคาสติ้ง ได้มีการออกอากาศโฆษณาที่เป็นการฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งระงับการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ตามมติที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 5/2564 เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2564 

โดยบริษัทฯ ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2564 และภายหลังจากได้รับคำสั่งเอ็มวีทีวี บรอดคาสติ้งได้ออกอากาศโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร น้ำมันรำข้าวและจมูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2564 เวลา 08.13 – 08.16 น. และผลิตภัณฑ์กาแฟปรุงสำเร็จชนิดผง ตราแฮปปี้ คอฟฟี่ เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2564 เวลา 17.27 – 17.50 น. เป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง กสทช. 

กสทช. จึงสั่งให้บริษัท เอ็มวีทีวี บรอดคาสติ้ง ช่องรายการ Video To Home 9 ชำระค่าปรับภายใน 30 วันนับจากวันที่ได้รับ หากไม่ชำระตามเวลาที่กำหนด จะพิจารณาใช้มาตรการบังคับทางปกครองที่สูงขึ้นต่อไป 

2. มอบหมาย กสทช. มีคำสั่งเตือนทางปกครองต่อบริษัท พีเอสไอ บรอดคาสติ้ง จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตเพื่อให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์บริษัท เอ็มวีทีวี บรอดคาสติ้ง นั้นไปเผยแพร่ผ่านโครงข่ายให้สำนักงาน กสทช. มีคำสั่งเตือนทางปกครองต่อบริษัท พีเอสไอ บรอดคาสติ้ง จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์เพื่อให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ ให้ระงับการนำเอาบริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ของบริษัท เอ็มวีทีวี บรอดคาสติ้ง จำกัด นั้นไปเผยแพร่ผ่านโครงข่ายโดยทันทีที่ได้รับหนังสือแจ้ง จนกว่า พีเอสไอ จะตรวจสอบว่า เอ็มวีทีวี ไม่ได้มีการโฆษณาที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคอีก

หากฝ่าฝืนไม่กระทำการตรวจสอบ จะกำหนดโทษปรับเป็นเงินไม่เกิน 50,000 ต่อวัน ตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืน 

3.jpg


ที่มา : รายงานการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ครั้งที่ 12/2564