ไม่พบผลการค้นหา
2 ผู้บริหาร บริษัท MHPS เผยติดสินบน 11 ล้านบาท 'ข้าราชการไทย' เป็นค่าอำนวยความสะดวกนำสินค้าออกจากท่าเรือ เพราะหากไม่จ่ายใต้โต๊ะ จะทำให้โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าล่าช้า

เว็บไซต์ไมนิชิของญี่ปุ่นรายงานว่า นายฟุยุฮิโกะ นิชิคิดะ วัย 63 ปี และนายโยชิกิ สึจิ วัย 57 ปี อดีตผู้บริหารของบริษัท มิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ จำกัด หรือ MHPS ยอมรับสารภาพในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าติดสินบนข้าราชการในสังกัดกระทรวงคมนาคมของไทยเมื่อเดือน ก.พ. 2558 เพื่อแลกเปลี่ยนกับการอำนวยความสะดวกนำสินค้าออกจากท่าเรือแห่งหนึ่ง ซึ่งข่าวไม่ระบุชื่อ และทั้งคู่ยอมรับข้อกล่าวหาในระหว่างการพิจารณาคดีที่ศาลในกรุงโตเกียวของญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2561 

สื่อญี่ปุ่นรายงานว่านายนิคิชิดะเป็นผู้รับผิดชอบด้านการจัดซื้อจัดหาวัสดุอุปกรณ์ที่บริษัท MHPS ต้องใช้ในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าท้องถิ่นของประเทศไทยในขณะนั้น และได้รับแจ้งจากข้าราชการระดับสูงในหน่วยงานที่สังกัดกระทรวงคมนาคมของไทยว่า การขนส่งสินค้าของ MHPS มายังไทย "ไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข" ทำให้ไม่สามารถนำสินค้าออกจากท่าเรือได้ทัน และเสนอให้นายนิคิชิดะจ่ายเงินพิเศษเพื่อแลกเปลี่ยนกับการช่วยเหลือให้สินค้าออกจากท่าเรือตามเวลาที่กำหนด

นายนิคิชิดะนำเรื่องไปปรึกษานายสึจิและนายซาโทชิ อุชิดะ วัย 64 ปี อดีตผู้บริหาร MHPS อีกรายหนึ่งที่รับผิดชอบดูแลโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในไทยในขณะนั้น และทั้งหมดเห็นชอบให้จ่ายเงินสินบนตามที่ข้าราชการไทยรายดังกล่าวเรียกร้อง รวมเป็นเงิน 11 ล้านบาท เพราะเกรงว่าถ้านำสินค้าออกมาไม่ได้ตามกำหนดเวลา จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานก่อสร้างโรงไฟฟ้า 

อย่างไรก็ตาม ผู้ทราบเรื่องดังกล่าวได้แจ้งเหตุไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้นกับสำนักงานใหญ่ของ MHPS ที่ญี่ปุ่น รวมถึงนำข้อมูลเข้าแจ้งต่อพนักงานอัยการในกรุงโตเกียวเมื่อเดือน มี.ค. 2558 ทำให้มีการเปิดสำนวนไต่สวนข้อเท็จจริง และมีการเรียกตัวผู้บริหาร MHPS เข้าเจรจา จนกระทั่งบรรลุข้อตกลงในการไกล่เกลี่ยเมื่อเดือน มิ.ย. 2561 โดยมีเงื่อนไขว่า จะไม่มีการเอาผิดบริษัท MHPS เพื่อแลกเปลี่ยนกับการเปิดเผยข้อมูลและให้ความร่วมมือในการไต่สวนคดีติดสินบนดังกล่าว และศาลในกรุงโตเกียวมีคำสั่งเบิกตัวนายซาโทชิ อุชิดะ จำเลยรายที่ 3 เข้าให้ปากคำในคดีติดสินบนข้าราชการไทยอีกครั้งในวันที่ 11 ม.ค. 2562

สื่อญี่ปุ่นอย่าง นิกเกอิเอเชี่ยนรีวิว รายงานด้วยว่า การสอบสวนคดีของเจ้าหน้าที่รัฐบาลญี่ปุ่นครั้งนี้จะพุ่งเป้าที่อดีตผู้บริหารทั้ง 3 รายเท่านั้น แต่คาดว่าจะไม่กระทบต่อบริษัท MHPS โดยรวม เป็นผลจากการเจรจาไกล่เกลี่ยก่อนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

ปัจจุบัน บริษัท MHPS เป็นผู้รับผิดชอบโครงการก่อสร้างหลายแห่งในประเทศไทย แต่สื่อญี่ปุ่นไม่ได้เปิดเผยว่าโรงไฟฟ้าที่เกี่ยวข้องในคดีติดสินบนครั้งนี้คือโครงการใด

ขณะที่ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า บริษัท มิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 17 พ.ย.2549 ตั้งอยู่เลขที่ 87/2 อาคารซีอาร์ซี ทาวเวอร์ ออลซีซั่น เพลส ชั้น 45 ห้อง ยูนิต 1 และ 7 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร และแจ้งว่าประกอบธุรกิจขายชิ้นส่วนประกอบของโรงไฟฟ้าและเครื่องจักร