ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ ในการแถลง "ถอดบทเรียนเอเปค ประชาชนได้อะไร" โดยคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และเครือข่ายภาคประชาชน นำโดย เมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.), จำนงค์ หนูพันธ์ ประธานขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move), ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล กลุ่มราษฎรหยุดเอเปค 2022 และศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ในช่วงต้น เมธา กล่าวว่า เป็นที่น่าเสียดายที่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช้โอกาสจากเวทีเปเปค 2022 เพื่อให้ผู้ร่วมประชุมกู้สันติภาพจากสงครามยูเครน เมียนมาร์ หรือไต้หวันที่มีข้อพิพาธเรื่องทะเลจีนใต้ หรือปัญหาคาบสมุทรเกาหลี ประเทศไทยพลาดโอกาสสำคัญในการแสดงบทบาทที่จำเป็นเพื่อนับถือในความเป็นกลางในการใช้โอกาสของการเป็นเจ้าภาพร่วมผลักดันการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำภายใต้ทุนนิยมโลกที่ประเทศโลกที่ 1 เอาเปรียบประเทศโลกที่ 3 มาตลอด ผิดกับบทบาทของผู้นำอินโดนีเซียที่ใช้ประชุม G20 ในการคลี่คลายความขัดแย้ง ซึ่งเป็นความแตกต่างของวิสัยทัศน์ผู้นำประเทศ แม้กระทั่งนโยบายเรื่องที่ดิน ที่ล่าสุดชูวิทย์มาแฉ เรื่องจีนเทา และใช้กลไกของรัฐเข้ามาอุ้มชู
เมธา กล่าวอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ ดำเนินนโยบายต่างประเทศผิดพลาดอย่างมาก ทำให้ไม่มีบทบาทในเวทีโลก ซึ่งวาระต่างๆ ในเอเปค มันเป็นแนวทางทั่วไปที่ต้องดำเนินการเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม แทนที่กลุ่มทุนที่เข้ามามีบทบาท ประเทศไทยจึงสูญเสียโอกาสอย่างใหญ่หลวง และยังดำเนินนโยบายการทูตแบบอนุรักษนิยม แก้ปัญหาศูนย์กลางความขัดแย้ง บนพื้นฐานหลักการสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เราไม่ได้แสดงท่าทีตามหลักสากล ดังนั้นการฑูตแบบ พล.อ.ประยุทธ์ คือการทูตแบบอยู่ฉากหลัง หลักลอย ดูเหมือนเป็นกลางแต่ไม่ใช่ เนื่องจากละเลยแก่นกลางสำคัญ
นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ นำความขัดแย้งไปผสมปนเปเพื่อกำหนดปัจจัยความเห็นต่างในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ ทำให้ผลประโยชน์ของประชาชนเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง ไม่เห็นการจับเข่าคุยประเทศมหาอำนาจที่เกี่ยวข้องกับสันติภาพในเมียนมาร์ และการเจรจาการค้าที่ไมาเอาเปรียบ นำมาสู่เศรษฐกิจที่อยู่ดีกินดีในประเทศ
ดังนั้นถ้า พล.อ.ประยุทธ์ จะไปต่อกับพรรครวมไทยสร้างชาติ อาจจะเป็นความฝันที่เลื่อนลอย ความจริงใจของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เห็นเรื่องทุนจีน หรือกฎกติกาให้ต่างชาติถือครองที่ดินได้ รวมถึงเรื่องที่ไม่เปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ลงจากหลังเสือตอนนี้ก็จะไม่สามารถลงได้อย่างสวยงาม
'ภัสราวลี' สาวไส้นโยบาย 'BCG' เอื้อทุนใหญ่ โยงนโยบาย 'ทวงคืนผืนป่า' - ประณามการปราบปรามชุมนุมเป็นเรื่องน่าอับอาย
ภัสราวลี อธิบายว่า สิ่งที่ประชาชนได้จากการประชุมเอเปคนั้น นอกจากเนื้อในของนโยบาย BCG ทำร้านพี่น้องประชาชนเป็นอย่างมาก รวมถึง BCG โมเดลที่พยายามผลักดันนั้น เป็นฉากบังหน้า ผลงานที่เบื้องหลังเต็มไปด้วยน้ำตาของพี่น้องชาวบ้าน และคราบเลือดของพี่น้องชาวบ้าน ในเวทีเอเปคที่ผ่านมานี้ นโยบายตัวนี้ได้รับการตอบรับจากเวทีโลกได้ไปต่อ พวกเราพยายามขยายผลให้สังคมได้รับรู้ ให้ต่างชาติได้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ต้องการให้ยกเลิกนโยบายนี้เสียก่อน
ในทางหลักการแล้ว ผู้ออกแบบนโยบาย BCG มี 3 นโยบายหลัก คือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว แต่ไม่มีชาวบ้านอยู่ในรายชื่อกรรมการผู้ออกแบบนโยบาย มีเพียงแต่ตัวแทนจากภาครัฐ และกลุ่มทุนรายใหญ่ที่ผูกขาดทรัพยากร
ภัสราวลี กล่าวอีกว่า สิ่งที่ต่อสู้ในเอเปคนั้น เราพยายามเรียกร้องให้ยกเลิกนโยบาย และให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วม แน่นอนว่า รัฐบาลนี้มีอำนาจรัฐจึงพยายามปิดเสียงประชาชน ข้อสำคัญที่ต้องให้ความสนใจเป็นอย่างมากคือ นโยบายเศรษฐกิจชีวภาพนั้น มันจะต่อเนื่องไปถึงเรื่องการผูกขาดพืชจีเอ็มโอ ทำให้เมล็ดพันธุ์ผูกขาดแค่กลุ่มทุนในทางที่พี่น้องประชาชนไม่สามารถพัฒนาของตัวเองได้
ต่อมานโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน หนึ่งในนั้นคือ การผลักดันโรงไฟฟ้าหมุนเวียนจากอ้อย ทำให้อ้อยไม่สามารถใช้รับประทานได้แบบเหมือนเดิม เพราะอ้อยถูกดัดแปลงไปเรื่อยๆ เพื่อให้เป็นพืชพลังงาน แทนจะเป็นอาหาร การดัดแปลงเอื้อกลุ่มทุนเป็นหลัก สิ่งที่ต้องรับมือคือ พืชอาหารอย่างอ้อยจะแปรเปลี่ยนเป็นพลังงานมากขึ้น และที่เดียวจะรับซื้อคือ โรงงานไฟฟ้าจากนายทุนใหญ่ มันจะถูกควบคุมการทำงานจากรัฐบาล บริษัทใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน และอ้อยก็มีชื่ออยู่ในคณะกรรมการ และทำให้ชาวบ้านผลิตพืชพลังงาน แทนจะเป็นพืชอาหารเพื่อเรื่องปากท้อง
ภัสราวลี ตั้งข้อสังเกตอีกว่า เราจะอยากได้โรงไฟฟ้าชีวมวลไปทำไมที่เรามีกำลังในการผลิตไฟฟ้ามากเกินพอแล้ว ทำให้ประชาชนแบกรับค่า FT ทำให้ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพง ต่อมาคือเรื่องขยะที่ชูว่าจะเป็นที่รีไซเคิลขยะ แต่ผลกระทบที่เกิดจากการรับขยะหลายทิศทาง ผลกระทบมันคือ ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นถังขยะของโลก อีกทั้งรูปแบบในการจัดการขยะที่ไม่ชัดเจน ปัญหาการจัดการฝังกลบยังเป็นปัญหา การเอาขยะเข้ามาเพิ่มจะเอาไปไว้ที่ไหน
ส่วนต่อมา นโยบายเศรษฐกิจสีเขียว แน่นอนว่า ทั้งโลกให้ความสำคัญกับภาวะโลกร้อน หลายๆ คนรับหลักการนี้ เราไม่ได้ปฏิเสธนโยบายเรื่องนี้ แต่ในเนื้อในของนโยบายมันเขียวจริงๆ หรือเป็นการฟอกสี ข้อเท็จจริงที่ต้องรับทราบคือ มันพ่วงมาจากนโยบายทวงคืนผืนป่า เก็บผืนป่าไว้เป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ เมื่อมีนโยบายเศรษฐกิจสีเขียว จะนำพื้นที่เหล่านั้นไปเอื้อให้นายทุนที่ผลิตคาร์บอนเยอะ ซึ่งต้องเร่งทำเพราะ ในปีหน้าจะต้องมีการรายงานการผลิตคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเร่งรัด และสุดท้ายประชาชนจะไม่ได้อะไร
แทนที่รัฐบาลจะให้ความรู้ประชาชนเรื่องคาร์บอนเครดิต แต่รัฐบาลชุดนี้ไม่ทำ สิ่งที่ได้เจอคือการขูดรีดทรัพยากรทุกอย่างเพื่อให้นายทุนที่มีการแบ่งผลประโยชน์กันเองของชนชั้นนำ นี่คือความน่าเจ็บปวดของประชาชน และน่าเสียใจที่การเรียกร้องของพี่น้องชาวบ้านกลับกลายเป็นว่า สิ่งตอบรับจากรัฐบาล คือการป้ายสีให้เป็นตัวป่วน ซึ่งประเด็นเหล่านี้ถ้าเปิดโอกาสให้ได้ขยายความ จะทำให้ประชาชนเข้าใจในการปกป้องทรัพยากรของชาติ
ภัสราวลี กล่าวอีกว่า ในอีกส่วนที่ได้จากการประชุมเอเปค คือความรุนแรง มันไม่ใช่แค่การไล่ประยุทธ์ แต่ ณ วันนั้นตั้งใจให้ชาวบ้านได้พูดถึงปัญหาเชิงทรัพยากร ใครสักคนที่เป็นมนุษย์คงรับไม่ได้กับการสั่งการให้ คฝ. ใช้ความรุนแรง เช่น พายุ ที่ถูกยิงด้วยกระสุนยางจนต้องเสียตาข้างขวา และมีความเสี่ยงที่จะเสียตาอีกข้างหากแผลติดเชื้อ และพี่น้องคนอื่นที่ถูกยิง ถูกกระทืบ จนได้รับบาดเจ็บ การสลายการชุมนุมในวันนั้นมันผิดหลักการเป็นอย่างมาก ครั้งนั้นผู้ชุมนุมอยู่กันในถนนแคบๆ แต่กลับไม่ใช้รถฉีดน้ำ แต่ใช้กระบองฟาด และใช้ปืนมายิงในระยะประชิด ผู้ชุมนุมทุกคนอยู่ห่างไปไม่เกิน 2 เมตร และไม่ได้ยิงลงต่ำข้างล่าง พวกเขายิงในระดับที่หมายให้บุคคลที่ออกมาเรียกร้องให้รับบาดเจ็บ
การแถลงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ บอกว่า ผู้ชุมนุมยั่วยุด้วยการวางเพลิง ซึ่งมีแค่เตาอั้งโล่ กระทะที่ใส่พริกเกลือ แล้วเป่าเพื่อให้ไฟมันติด ให้พริกเกลือมีกลิ่นขึ้นมา ไม่ถึง 2 นาที เอาโฟมดับเพลิงมาดับ ทุกอย่างมันแค่ดับ ถ้าบอกว่า แค่นั้นคือการวางเพลิงขอให้ทบทวนให้ดี นอกจากนี้ สิ่งที่เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนควรทำ คือหากเห็นว่าใครเข้าข่ายละเมิดสิทธิของคนอื่น ให้นำตัวออกไปแค่นั้น ไม่ใช่การเอากระบอง รองเท้าบูทมากระทืบพวกเรา และยังมีการใช้อารมณ์ร่วมในการปฏิบัติหน้าที่ คำพูดที่ปรากฎในคลิปข่าวที่บอกว่า "พวกกูน่ะของจริง" มันน่าอับอาย เราในฐานะประชาชนที่ต้องมีอำนาจมากที่สุดในประเทศ
'จำนงค์' อัด 'ประยุทธ์' สลายการชุมนุมรักษาหน้าตาตัวเองมากกว่าประเทศ
จำนงค์ กล่าวว่า เอเปค 2022 ประชาชนได้อะไร จะเห็นว่าก่อนการประชุมเอเปค ประชาชนต้องมีส่วนรู้ และเข้าใจมากที่สุด เพราะเป็นงานระดับโลก ภายใต้การบริหาร 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ นั้นเดือดร้อน แล้วพอพี่น้องราษฎรพยายามจะอธิบายให้คนส่วนใหญ่ได้ทราบ ความตั้งใจของ P-Move คือ ต้องการให้แก่ปัญหาความเหลื่อมล้ำในเรื่องที่ดิน จากการบริหารงานของรัฐบาล
จำนงค์ กล่าวอีกว่า ถามว่าใครทำให้ประเทศเสียหาย สรุปแล้วคนส่วนใหญ่ไม่ได้ประโยชน์ มีแค่นายทุนที่ได้รับประโยชน์ และก็โดนสลายการชุมนุม ถามว่า การสลายพี่น้องวันนั้น รักษาหน้าตาประเทศ หรือหน้าตาประยุทธ์กันแน่ และเราไม่เคยนึกว่า เราจะโดนสลายด้วย เป็นเจ้าภาพ และกล้าทำ ภาพแบบนี้ออกไปทั่วโลก จนทำให้ผู้บริสุทธิ์สูญเสียดวงตา จึงอยากให้ประยุทธ์รับผิดชอบโดยการยุบสภา และสิ่งที่ประชาชนได้รับจากการประชุมเอเปคคือ ความเจ็บช้ำ ได้รับหลายข้อหา และยืนยันว่า พล.อ.ประยุทธ์ หมดความชอบธรรมแล้วกับการเป็นนายกรัฐมนตรี
'ศยามล' ชี้ รัฐมีหน้าที่คุ้มครองเสรีภาพ ติงจนท.รัฐ ไม่เข้าใจหลักการสากล
ศยามล ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์มาจากการชุมนุมของประชาชนที่ออกมาเรียกร้องให้เห็นถึงปัญหา ในสังคมประชาธิปไตยเราต้องเห็นว่าการออกมาชุมนุมเป็นสิ่งที่ผู้บริหารต้องรับฟัง และคุ้มครองเสรีภาพของประชาชน ทุกคนมีความมุ่งหมายที่จะพัฒนาประเทศให้ไปในทางที่ดีขึ้น การชุมนุมไม่ใช่แค่ในพื้นที่สาธารณะ แต่ยังมีการชุมนุมในโลกออนไลน์ รัฐต้องเปิดกว้างให้แสดงออก
ศยามล กล่าวอีกว่า หลายเรื่องที่เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการยังไม่เข้าใจ ซึ่งสิทธิการชุมนุมโดยสงบต้องได้รับการรับรอง การจำกัดสิทธิต้องไม่เลือกปฏิบัติ ไม่มีการคุกคามที่จะไม่ให้มาชุมนุม ไม่สร้างความกลัวหรืออุปสรรคให้ผู้ที่จะมาเข้าร่วมชุมนุม รวมถึงการข่มขู่คุกคามด้วย ในรายงานพิเศษของสหประชาชาติกำหนดไว้ชัดเจนว่ารัฐต้องคุ้มครองสิทธิของผู้เข้าร่วม เลี่ยงการใช้กำลัง ยกเว้นมิอาจเลี่ยงได้ แต่ต้องให้เข้ากับสัดส่วน
ต้องรับรองว่าให้อำนาจหรือไม่ ในคู่มือของตำรวจต้องมีการรายงานสิ่งที่เกิดขึ้น เราจะเสนอให้มีรายงาน และแผนอย่างไรในการปฏิบัติงาน ตั้งแต่มี พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ จะมีกำหนดไว้ชัดเจนว่าต้องทำอะไรก่อนหลัง คือดูสัดส่วนให้เหมาะสมกับเหตุการณ์ และใช้เพื่อป้องกันตัว เตือนให้ผู้ชุมนุมทราบว่าจะใช้อาวุธ โดยต้องใช้โล่ป้องกันก่อน ถ้าหากมีผู้ชุมนุมใช้อาวุธ ต้องดูอาวุธจริง หรืออาวุธเทียม
ส่วนการแจ้งขอชุมนุม เพื่อให้เจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกให้กับผู้ชุมนุม หากการชุมนุมนั้นมีความเสี่ยง ต้องไปขอหมายศาลในการสลายการชุมนุม เพื่อลดการใช้อำนาจเกินความจำเป็นของเจ้าหน้าที่