ไม่พบผลการค้นหา
‘ส.ศิวรักษ์ - ใบตองแห้ง’ ยื่นค้านฝากขัง ‘ตะวัน-แฟรงค์’ ชี้ไม่มีเหตุผลใดทั้งทางมนุษยธรรม และทางหลักกฎหมายที่จะคุมขังเด็กไว้ตามคำร้องของรัฐ ใบตองแห้ง ระบุสื่อมวลชนมีส่วนต้องรับผิดชอบ เหตุรายงานข่าวกระแสความเกลียดชังเกินเลยข้อเท็จจริง

วันที่ 8 มี.ค. 2567 เวลา 10.10 น. ที่ศาลอาญารัชดา อธึกกิต แสวงสุข หรือใบตองแห้ง สื่อมวลชนอาวุโส พร้อมด้วยกลุ่มนักกิจกรรมทางการเมือง เดินทางยื่นหนังสื่อคำแถลงต่อศาล เพื่อขอให้พิจารณาไม่รับฝากขังและคัดค้านการไม่ให้ปล่อยชั่วคราวตะวันและแฟรงค์ รวมถึงประชาชนผู้ต่อสู้ทางความคิดรายอื่นอันจะเกิดขึ้นในอนาคต

โดยในวันนี้ถือเป็นวันครบรอบกำหนดเวลาการฝากขังผัดที่ 2 ของ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ (ตะวัน) และ ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร (แฟรงค์) ซึ่งทั้งคู่ถูกจับกุม และถูกขออำนาจศาลฝากขังในระหว่างการสอบสวน ตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ. 2567 จากการถูกตั้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ข้อหายุยงปลุกปั่น หลังจากเหตุการณ์บีบแตรใส่รถเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปิดท้ายขบวนเสด็จฯ ของสมเด็จพระเทพฯ เมื่อวันที่ 4 ก.พ.2567 

ทั้งนี้ทางพนักงานสอบสวนได้ยื่นขอให้ศาลพิจารณาฝากขังทั้งคู่ต่อในผัดที่ 3 ไปเป็นเวลาอีก 12 วัน วันนี้อธึกกิต และกลุ่มนักกิจกรรมทางการเมืองได้เดินทางมายื่นคำแถลงต่อศาล โดยมีทั้งคำแถลงจาก สุลักษณ์ ศิวรักษ์ (มอบอำนาจให้ผู้อื่นมายื่นแทน เนื่องจากปัญหาด้านสุขภาพ) และอธึกกิต แสวงสุข

ส่วนของหนังสือคำแถลงจากสุลักษณ์ ระบุว่า การคุมขังที่ชอบด้วยกฎหมายจะต้องทำเพื่อป้องกันภยันอันตรายอืนใด หรือป้องกันการหลบหนีเท่านั้น จะต้องมีการประกันอิสรภาพของบุคคลอย่างเคร่งครัด และจะตีความกฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพไม่ได้ ผู้ตั้งหาทั้งสองคนนี้ เป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหาที่อัยการยังไม่ได้ฟ้องเป็นคดีต่อศาล และการต่อสู้ของเยาวนทั้งสองคนนี้เห็นชัดว่า เป็นการต่อสู้ทางความคิด ไม่มีเหตุผลใดทั้งทางมนุษยธรรม และทางหลักกฎหมายที่จะคุมขังเด็กไว้ตามคำร้องของรัฐ

ในส่วนคำแถลงของอธึกกิต ระบุตอนหนึ่งว่า ไม่มีใครต้องการให้ศาลกลับไปอยู่ภายใต้ระบบเก่า แระเทศไทยต้องตั้งหลักจากประธิปไตย โดยมีหลักใหญ่ใจความสำคัญที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน เชื่อว่าองค์กรตุลาการเป็นเสาหลักซึ่งรับประกันความปลอดภัย และสิทธิเสรีภาพของประชาชนเหล่านี้ 

ขอยืนยันว่า การปล่อยตัวชั่วคราวบุคคลทั้งสองนั้นเป็น สิทธิของบรรดาผู้ต้องหา หรือจำเลยในคดีอาญา การจำคุกกักขังควบคุมตัวบุคคลใดที่เกินกว่าเหตุสมควรจะกระทำไม่ได้ การฝากขัง และไม่ประตัวชั่วคราวบุคคลทั้งสอง ทั้งที่ไม่มีพฤติกรรมหลบหนี ทั้งยังยินยอมให้เจ้าหน้าที่จับกุมหน้าศาลอาญา และทั้งคู่ไม่สามารถเข้าไปยุงเหยิงกับพยานหลักฐานได้ อาจเป็นการด้อยค่าสิทธิมนุษยชนของพวกเขา

นอกจากนี้อธึกกิต กล่าวด้วยว่า กรณีของตะวัน และแฟรงค์ นั้นถือเป็นหนึ่งในความรับผิดชอบของคนทำงานสื่อสารมวลชน เพราะในแง่ของข้อเท็จจริงแล้ว เหตุการณ์เกิดขึ้นในวันที่ 4 ก.พ. 2567 ที่สื่อหลายสำนักต่างพากันขึ้นพาดหัวข่าวว่า ป่วน คุกคาม หรือรบกวน ขบวนเสด็จฯ นั้น หากพิจารณาตามข้อเท็จจริงทั้งคู่ไม่ได้เข้าถึงตัวของบุคคลในสถาบันพระมหากษัตริย์แม้แต่น้อย มีเพียงการฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจในลักษณะของการขับรถเข้าไปบริเวณท้ายขบวนรถเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปิดท้ายขบวนเสด็จเท่านั้น ซึ่งตามข้อเท็จจริง ขบวนเสด็จของบุคคลในสถาบันฯ ได้ผ่านไปจากจุดเกิดเหตุระยะหนึ่งแล้ว 

อธึกกิต เห็นว่า ทั้งการที่ตะวันและเพื่อนถูกทำร้ายร่างกายโดยกลุ่ม ศปปส.และการถูกตั้งข้อหา 116 ซึ่งเป็นการตั้งข้อหาที่เกินกว่าเหตุนั้น เป็นผลส่วนหนึ่งจากการทำงานของสื่อมวลชนที่สร้างกระแสความเกลียดชัง ฉะนั้นจึงต้องการให้สื่อช่วยสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องโดยการกลับมายืนกันบนหลักการข้อเท็จจริง