ไม่พบผลการค้นหา
สศค.เผย 8 เดือนแรกปีงบประมาณ 2563 จัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการ 11.2% พลาดเป้าทั้ง 3 กรมภาษี เหตุออกมาตรการการคลัง 'ยืดเวลาเสียภาษี-ลดภาษี' ช่วย ปชช.รับมือโควิด-19 ฟาก สคร.จี้รัฐวิสาหกิจเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ

ลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2563 (ต.ค. 2562 – พ.ค. 2563) พบว่า รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ จำนวน 1,500,261 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 189,695 ล้านบาท หรือต่ำกว่าประมาณการ 11.2% เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 และการผ่อนปรนมาตรการทางภาษีเพื่อบรรเทาภาระให้แก่ประชาชนและเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการด้วยการขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีต่าง ๆ ออกไปเป็นภายในเดือนก.ค. – ก.ย. 2563 รวมทั้งการลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย 

ลวรณ แสงสนิท-ผู้อำนวยการ-สศค.
  • ลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)

ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงส่งผลให้การจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2563 ซึ่งเป็นปีที่ไม่ปกติ จึงไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกับผลการจัดเก็บรายได้ในช่วงสถานการณ์ปกติได้ พร้อมกับย้ำว่า ขอให้ระมัดระวังในการนำข้อมูลไปใช้ในการวิเคราะห์ด้วย โดยผลการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานจัดเก็บมีดังนี้

กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 1,086,974 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 139,113 ล้านบาท หรือ 11.3% โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่

  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ เป็นผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและการค้าที่หดตัวเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบกับมีการขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีผ่านระบบอินเทอร์เน็ตในเดือน เม.ย. และพ.ค. 2563 ออกไปเป็นภายในวันที่ 1 มิ.ย. 2563
  • ภาษีเงินได้นิติบุคคล จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ เนื่องจากมีการขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีสำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิของปี 2562 (ภ.ง.ด. 50) ออกไปเป็นภายในเดือน ส.ค. 2563 และสำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคลจากประมาณการกำไรสุทธิในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 (ภ.ง.ด. 51) ออกไปจนถึงเดือน ก.ย. 2563 และการลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ภ.ง.ด. 53) จาก 3% เหลือ 1.5% ตั้งแต่เดือนเม.ย. – ก.ย. 2563
  • ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ เนื่องจากมีการขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีสำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปีภาษี พ.ศ. 2562 (ภ.ง.ด. 90 และ ภ.ง.ด. 91) ออกไปเป็นภายในเดือนส.ค. 2563

กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 362,122 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 70,960 ล้านบาท หรือ 16.4% โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่

  • ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ เนื่องจากปริมาณรถยนต์ที่ชำระภาษีขยายตัวต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ ซึ่งเป็นผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและโควิด-19 ประกอบกับมีการขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีสำหรับภาษีที่ต้องชำระในเดือน พ.ค. และมิ.ย. 2563 ออกไปเป็นภายในวันที่ 15 ก.ค. 2563
  • ภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ เนื่องจากมีการขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีให้แก่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมสินค้าน้ำมันฯ ที่ผลิตในราชอาณาจักรในเดือนเม.ย. – มิ.ย. 2563

กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 64,384 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 8,516 ล้านบาท หรือ 11.7% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการหดตัวของมูลค่าการนำเข้า

อย่างไรก็ดี การจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่นและการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ สูงกว่าประมาณการ 11,929 และ 4,747 ล้านบาท หรือคิดเป็น 10.1% และ 3.3% ตามลำดับ

สคร.จี้รัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายลงทุนปลุกเศรษฐกิจ-ล่าสุดคืบหน้า 85%

ประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยผลการติดตามการเบิกจ่ายงบลงทุนในปี 2563 ของรัฐวิสาหกิจ 44 แห่ง ที่ สคร. กำกับดูแล พบว่า ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 2563 มีการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมจำนวน 125,458 ล้านบาท หรือคิดเป็น 85% ของแผนการเบิกจ่ายสะสม 

โดยรัฐวิสาหกิจที่มีงบลงทุนขนาดใหญ่และสามารถเบิกจ่ายได้ตามเป้าหมายที่กำหนด ได้แก่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง (กฟน., กฟภ. และ กฟผ.)

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบกับการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจในโครงการที่จำเป็นต้องใช้บุคลากรและการนำเข้าอุปกรณ์จากต่างประเทศ ดังนั้น สคร. จึงมีการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจอย่างใกล้ชิดมากขึ้นและเร่งให้มีการเบิกจ่ายที่เร็วขึ้น (Front – loaded) เพื่อลดผลกระทบข้างต้น เช่น การเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินล่วงหน้าให้กับผู้รับจ้าง การจ่ายค่าชดเชยของโครงการลงทุนต่างๆ ให้กับประชาชน ซึ่งการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจก็จะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง

รถไฟฟ้าสายสีเขียว
  • โครงการลงทุนขนาดใหญ่ด้านคมนาคมขนส่งที่มีการเบิกจ่ายเกินเป้าหมาย เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่ขยาย, โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม – มีนบุรี

ปิยวรรณ ล่ามกิจจา รองผู้อำนวยการ สคร. รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนารัฐวิสาหกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมของรัฐวิสาหกิจ 44 แห่ง แบ่งเป็น

  • การเบิกจ่ายของรัฐวิสาหกิจปีงบประมาณ (ก.ย.2562-มิ.ย.2563) 34 แห่ง จำนวน 71,325 ล้านบาท หรือ 72% ของแผนการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสม 9 เดือน
  • การเบิกจ่ายของรัฐวิสาหกิจปีปฏิทิน (ม.ค.-มิ.ย.2563) 10 แห่ง จำนวน 54,133 ล้านบาท หรือ 112% ของแผนการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสม 6 เดือน

ทั้งนี้ มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่สามารถเบิกจ่ายได้เกินกว่าเป้าหมาย เช่น โครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าภาคใต้ตอนล่างและภาคตะวันตกของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม – มีนบุรี และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต ของ รฟม. และแผนปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง สำหรับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่เบิกจ่ายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน ระยะที่ 1 (ช่วงกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกตะวันตกของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นโครงการเดิมที่ดำเนินการล่าช้าต่อเนื่องมาโดยตลอด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :