ไม่พบผลการค้นหา
สำนักงานกฎหมายยื่นฟ้อง 'กูเกิล' ฐานดักฟังและละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน คิดเป็นมูลค่าการเรียกร้องความเสียหาย 1.5 แสนล้านบาท ฟากโฆษกกูเกิลรับระหว่างเปลี่ยนเข้าใช้ 'โหมดไม่ระบุตัวตน' อาจถูกบันทึกข้อมูลได้ พร้อมขอโต้แย้งข้อกล่าวหาทั้งหมด

สำนักงานกฎหมายตัวแทนชาร์สัน บราวน์, มาเรีย เหงียน และวิลเลียม บายัตต์ ยื่นฟ้องต่อศาลแขวงทางตอนเหนือของรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ ฟ้องร้องดำเนินคดีกับบริษัท กูเกิล ทั้งแบบรายบุคคลและฐานะตัวแทนผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิ ฐานละเมิดกฎหมายด้านการดักฟังและความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน เป็นเงินมูลค่าอย่างต่ำ 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 150,000 ล้านบาท

กูเกิล

โดยมีข้อกล่าวหาว่า กูเกิลทั้งติดตามและเก็บข้อมูลประวัติการค้นหาเว็บไซต์ต่างๆ ของผู้ใช้บริการ แม้ผู้ใช้รายนั้นๆ จะเลือกค้นหาข้อมูลต่างๆ ผ่านบราวเซอร์หรือเว็บไซต์เฉพาะที่มีไว้เพื่อรักษาความปลอดภัยและไม่ให้ติดตามได้ หรือที่รู้จักกันในชื่อ 'หน้าต่างส่วนตัว' หรือ 'โหมดไม่ระบุตัวตน' (Incognito) ดังนั้นการกระทำดังกล่าวจึงเข้าข่ายเป็นการละเมิดกฎหมายของรัฐแคลิฟอร์เนียที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าบริษัทจำเป็นต้องได้รับการอนุญาตจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะสามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นได้ 

ท่อนหนึ่งของคำร้องฝ่ายโจทก์ระบุว่า "กูเกิลติดตามและเก็บข้อมูลประวัติการเข้าชมเว็บไซต์และกิจกรรมต่างๆ ของผู้บริโภค ไม่ว่าผู้บริโภครายนั้นจะใช้กระบวนการป้องกันและปกป้องความเป็นส่วนตัวของตนเองมากแค่ไหน"

ที่ผ่านมากูเกิลเคยถูกฟ้องร้องในกรณีเกี่ยวข้องกับการเก็บข้อมูลผู้ใช้งานเช่นเดียวกัน อาทิ กรณีที่อัยการสูงสุดรัฐแอริโซนาเป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัทที่ยังติดตามผู้ใช้งาน แม้ตัวผู้ใช้งานจะปิดระบบติดตามตัวดิจิทัลออกไปแล้ว แต่การยื่นฟ้องครั้งนี้ทนายความเลือกที่จะใช้การต่อสู้ด้วยการไปโยงกับการละเมิดกฎหมายรัฐธรรมนูญว่าด้วยการดักฟัง ที่อนุญาตให้ผู้ใช้งานสามารถฟ้องร้องบริษัทได้หากข้อมูลการสนทนาถูกดักฟัง ซึ่งการฟ้องร้องครั้งนี้อ้างว่าอยู่ในข่ายการดักฟังการสนทนาระหว่างผู้ใช้งานกับเว็บไซต์โดยการเก็บข้อมูลประวิติการเยี่ยมชม การค้าหาที่อยู่เว็บไซต์ และคำค้นหาอื่นๆ 

ด้าน โฮเซ่ แคสตาเนดา โฆษกของกูเกิลออกมาตอบโต้ว่า "เราขอโต้แย้งข้อกล่าวหานี้อย่างที่สุด และเราจะเดินหน้าปกป้องตัวเองอย่างเต็มที่" 

อย่างไรก็ตาม โฆษกกูเกิลชี้แจงเพิ่มเติมว่า "โหมดไม่ระบุตัวตนของโครม (เว็บบราวเซอร์ของกูเกิล) ให้ตัวเลือกกับผู้ใช้งานที่จะใช้อินเทอร์เน็ตโดยที่กิจกรรมต่างๆ ไม่ถูกบันทึกเอาไว้ทั้งบนบราวเซอร์และในอุปกรณ์ของผู้ใช้งาน แต่อย่างที่เรากล่าวอย่างชัดเจนว่า ทุกครั้งที่คุณเปิดหน้าต่างใหม่ในโหมดไม่ระบุตัวตนนั้น เว็บไซต์อาจจะสามารถเก็บข้อมูลการค้นหา บราวเซอร์ของคุณได้"

อ้างอิง; Reuters, CNA, NYT, WP